ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่ากระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานแถลงข่าว การสัมมนา เรื่อง “โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์” หนึ่งในกลไกของแผนพัฒนาพลังงานไทย โดยผู้สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มาแล้ว 7 แห่ง ในประเทศไทย เมื่อวันพุธที่ 2 กันยายน 2552 ณ ห้องโถงชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมว.วท. กล่าวว่า ปัจจุบันพลังงานแสงอาทิตย์กำลังเป็นที่จับตามองเพื่อเป็นทางออกของการแก้ปัญหาวิกฤติการณ์ทางด้านพลังงาน เนื่องจากไฟฟ้าที่เราใช้ส่วนใหญ่มาจากพลังงานสิ้นเปลืองแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นถ่านหิน น้ำมัน ลิกไนต์ ไปจนถึงการใช้พลังงานนิวเคลียร์ ทั้งที่หาได้เองจากทรัพยากรในประเทศ หรือการนำเข้าพลังงานเชื้อเพลิงจากประเทศเพื่อนบ้าน พลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ที่เป็นพลังงานทางเลือกที่มีบทบาทสำคัญต่อแผนพัฒนาพลังงานของประเทศไทย
กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในฐานะที่เป็นผู้ให้การสนับสนุนและส่งเสริมทางด้านการพัฒนานวัตกรรมไทย ประเทศไทยได้มีบริษัทที่มีความสามารถและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศของเราได้ในระดับภูมิภาคเอเชีย ด้วยบริษัทคนไทยที่มีการวิจัยและพัฒนาการผลิตแผงโซลาร์เซลล์และอุปกรณ์กระแสไฟฟ้าจนประสบความสำเร็จในการผลิตภัณฑ์เหล่านี้มาสร้างเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดอะมอร์ฟัสซิลิคอนที่เหมาะแก่การผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในภูมิอากาศร้อนชื้นของไทยและมีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชีย ณ ในวันนี้ประเทศไทยได้ขยายขีดความสามารถในการเป็นผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้เองและยังลดการพึ่งพาพลังงาน โดยมีศักยภาพในการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ตั้งแต่ “กระบวนการต้นน้ำ” คือ การสร้างโรงไฟฟ้าและต่อเชื่อมระบบเข้ากับสายส่งของการไฟฟ้าเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าจำหน่ายได้แล้ว
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้เข้ามามีบทบาทในการให้สนับสนุนทางด้านเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ชนิดอะมอร์ฟัสซิลิคอน ให้กับ บริษัท บางกอกโซลาร์ พาวเวอร์ จำกัด ในขณะที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กำลังพิจารณาให้การสนับสนุนแก่ บริษัทลีโอนิคส์ จำกัด ทางด้านการพัฒนาอุปกรณ์แปลงกระแสไฟฟ้าที่ออกแบบและผลิตโดยคนไทย ในการทดสอบเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าให้มีมาตรฐานเทียบเท่ากับมาตรฐานของระดับนานาชาติ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา
นายทิศพล นครศรี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บางกอกโซลาร์ พาวเวอร์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีประสบการณ์ในการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มาแล้ว 7 แห่งในประเทศไทย โดยมีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในจังหวัด อาทิ 1.จังหวัดฉะเชิงเทรา กำลังการผลิต 1.644 MWp 2.จังหวัดอุดรธานี 1 กำลังการผลิต 1.644 MWp 3.จังหวัดอุดรธานี 2 กำลังการผลิต 2 0.284 MWp 4.จังหวัดอ่างทอง กำลังการผลิต 1.136 MWp 5.จังหวัดเพชรบุรี กำลังการผลิต 2.144 MWp 6.จังหวัดนครสวรรค์ กำลังการผลิต 0.547 MWp และ7.จังหวัดลพบุรี กำลังติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์อยู่ในขณะนี้ ซึ่งกำลังการผลิตอยู่ที่ 2.208 MWp ในวันที่ 8 ตุลาคม 2552 ที่โนโวเทล บางนา และในวันที่ 9 ตุลาคม 2552 โดยจะนำผู้เข้าร่วมงานไปเยี่ยมชมโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 1.644 MWp ที่บริษัท บางกอกโซลาร์เซลล์ พาวเวอร์ จำกัด จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งการจัดสัมมนาในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการแบ่งปันประสบการณ์นี้ให้กับนักลงทุนที่สนใจ ซึ่งจะแบ่งกิจกรรมออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่ ส่วนที่หนึ่ง เป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์ โดยวิทยากรในส่วนนี้ คือ ผศ.ดร.นิพนธ์ เกตุจ้อย รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย วิทยาลัยพลังงานทดแทนมหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้เชี่ยวชาญระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ส่วนที่สอง เป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับระบบพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่และขั้นตอน - ระเบียบในการยื่นขอต่อเชื่อมระบบและงบประมาณการลงทุน และส่วนที่สาม เป็นการแนะนำโครงการสินเชื่อพลังงานที่เกี่ยวข้อง
ดร.วุฒิพงศ์ สุพนธนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีโอนิคส์ จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันได้มีผู้สนใจลงทะเบียนเพื่อขอเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยใช้เซลล์แสงอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงานกว่า 800 MWp ซึ่งหากเราเลือกใช้สินค้าไทยได้มากในระบบที่จะมีการติดตั้ง ก็จะช่วยให้เศรษฐกิจแข็งแรงขึ้น เนื่องจากอุปกรณ์สำหรับการสร้างโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ทั้งหมดนั้นสามารถผลิตได้ในประทศไทย
บริษัท ลีโอนิคส์ จำกัด เป็นบริษัทของคนไทยที่ดำเนินธุรกิจ วิจัย พัฒนา และผลิตเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าชนิดต่อเชื่อมสายส่งเพียงรายเดียวในภูมิภาคอาเซียน และในปัจจุบันกำลังผลิตเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าขนาดกำลัง 1000kw และช่วยในการออกแบบและปรับการทำงานของเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าให้ทำงานในจุดที่สามารถผลิตพลังงานได้สูงที่สุดจากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ของบางกอกโซล่าร์ และบำรุงรักษาระบบให้สามารถผลิตพลังงานได้สูงสุดตลอดเวลาอีกด้วย
เขียนข่าวโดย : จิตติมา เหมือนเสน พนักงานประชาสัมพันธ์
ตรวจข่าวโดย : หัวหน้ากลุ่มงานประชาสัมพันธ์