วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559 ณ วิเทศสโมสร ถนนศรีอยุธยา กระทรวงการต่างประเทศ จับมือ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดการประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อประกอบการจัดทำยุทธศาสตร์การทูตวิทยาศาสตร์ (Science Diplomacy for National Competitiveness Workshop) เพื่อบูรณาการและขับเคลื่อนการดำเนินการทั้งด้านการทูตและวิทยาศาสตร์ไปพร้อมกัน รวมทั้งกำหนดกรอบ/ทิศทางการดำเนินงานให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับคำแถลงนโยบายรัฐบาลในส่วนที่เกี่ยวกับการพัฒนาและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรม และนโยบายและแผน วทน. แห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2555 – 2564) ในด้านการส่งเสริมความร่วมมือ วทน. กับต่างประเทศ ทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคี โดยมี นายปัญญรักษ์ พูลทรัพย์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานเปิดการประชุมฯ ร่วมกับ รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
การประชุมร่วมกันครั้งนี้ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ “วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ” โดยสาระสำคัญในการบรรยายความว่า ความร่วมมือกับต่างประเทศมีความสำคัญในทุกระดับและทุกภาคส่วน เนื่องจากเศรษฐกิจโลกปัจจุบันมีพลวัตรและความเปลี่ยนแปลงสูง การพัฒนานวัตกรรมจึงต้องอาศัยการแบ่งปันความรู้และการทำงานร่วมกันในลักษณะที่ข้ามองค์กรไปจนถึงข้ามพรมแดน ตัวอย่างเช่น การทำงานร่วมกับเพื่อนบ้านอาเซียน ผลักดันให้เกิดข้อริเริ่มกระบี่ในการประชุมระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของอาเซียนที่กระบี่เมื่อปี 2553 เพื่อเป็นกรอบในการจัดทำแผนปฏิบัติการอาเซียนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหลังปี 2015 ที่เพิ่มมิตินวัตกรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืนและทั่วถึงโดยมุ่งเน้นให้เกิดความเชื่อมโยงกับประชาชนตามวิสัยทัศน์ของประชาคมอาเซียน จนในที่สุดแผนปฏิบัติการดังกล่าวที่มีชื่อว่า ASEAN Plan of Action on Science, Technology and Innovation หรือ APASTI สำหรับปี 2016-2025 ก็ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการในการประชุมระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโสที่เวียงจันทน์ เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
นอกจากความร่วมมือเพื่อการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคเศรษฐกิจไทย วท. และหน่วยงานเครือข่ายยังสามารถสนับสนุนการนำ วทน. ไปใช้เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมความสัมพันธ์กับต่างประเทศเพื่อประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ของไทย เรามีทั้งองค์ความรู้ บุคลากรและโครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการและความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาแก่ประเทศเพื่อนบ้านและประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคอื่นๆ ในสาขาที่สอดคล้องกับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามระเบียบวาระการพัฒนาหลังปี ค.ศ.2015 ของสหประชาชาติ เช่น การจัดการน้ำระดับชุมชน โดย สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร หรือ สสนก. ซึ่งประสบความสำเร็จในการถ่ายทอดเทคโนโลยีสารสนเทศสู่ชุมชน มุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาชุมชนโดยคนในชุมชนเพื่อให้เกิดความรักและหวงแหนทรัพยากรของชุมชนตนเอง เพื่อให้เกิดการนำไปใช้ในงานบริหารจัดการท้องถิ่นให้ตรงกับวิถีชีวิตหรือ ความต้องการของชุมชน โดยชุมชนสามารถประสานการจัดการเข้ากับหน่วยงานรัฐ ชุมชนข้างเคียง เป็นเครือข่ายการจัดการ การเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม อีกเรื่องหนึ่งคือ การจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งก็มีหน่วยงานที่ทำเรื่องนี้อยู่หลายหน่วยงาน อาทิ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย หรือ วว. ซึ่งมีสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช อยู่ในจังหวัดนครราชสีมา และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ หรือ BIOTEC ของ สวทช. เป็นต้น
สำหรับการประชุมระดมความคิดเห็นในวันนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่เราจะได้นำเสนอร่างยุทธศาสตร์การทูตวิทยาศาสตร์ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากหลายหน่วยงานหลายภาคส่วน เพื่อที่จะได้นำเอาความคิดเห็นที่ได้รับไปปรับปรุงยุทธศาสตร์ฯ ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น หวังว่ายุทธศาสตร์การทูตวิทยาศาสตร์จะช่วยกระชับการทำงานแบบบูรณาการ ไม่เพียงเฉพาะระหว่าง กต. กับ วท. แต่รวมถึงกระทรวงและหน่วยงานภาครัฐอื่นที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน และภาคประชาชน ตามแนวทาง “ประชารัฐ”
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
นอกจากนี้ ในที่ประชุมมีการนำเสนอร่างยุทธศาสตร์การทูตวิทยาศาสตร์ โดย นายทรงศัก สายเชื้อ อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ และ ดร.ญาดา มุกดาพิทักษ์ รักษาการเลขาธิการ สานักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) พร้อมแบ่งกลุ่มระดมความคิดเห็นประเด็นยุทธศาสตร์และการขับเคลื่อนความร่วมมือด้าน วทน. กับต่างประเทศ ใน 5 หัวข้อ ได้แก่ กลุ่มที่ 1 นวัตกรรมเพื่อคลัสเตอร์อุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มที่ 2 อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร กลุ่มที่ 3 พลังงานและสิ่งแวดล้อม กลุ่มที่ 4 การพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม (Innovative Startup & SMEs) และ กลุ่มที่ 5 Cross Cutting Issues ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ ถนนศรีอยุธยา
เขียนข่าว : นางสาวศิริลักษณ์ สิกขะบูรณะ
ถ่ายภาพ : นายภูษิต โพธิ์แสง และ นายรัฐพล หงสไกร
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน
Facebook : sciencethailand
Call Center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร.1313