สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดการประกาศ “๑๐ สุดยอดธุรกิจนวัตกรรม ประจำปี ๒๕๕๑ (TOP TEN INNOVATIVE BUSINESS 2008)” เพื่อเป็นตัวอย่างในการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมของภาคเอกชน และแนวโน้มทิศทางของธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพในประเทศไทย ณ โรงแรมสยามซิตี กรุงเทพฯ โดยมี ดร. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในงานดังกล่าว
ดร. สุจินดา โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และประธานกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า “ในนามของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ขอชื่นชมการดำเนินงานของ สนช. ในการสนับสนุนการยกระดับทักษะความสามารถด้านเทคโนโลยีและการบริหารจัดการ และส่งเสริมความสำเร็จด้านนวัตกรรม เพื่อให้เกิด “วัฒนธรรมนวัตกรรม” ทั้งในระดับอุตสาหกรรม ระดับองค์กร และระดับประชาชนทั่วไป โดยผ่านกิจกรรมต่างๆ ซึ่งการจัดอันดับ ๑๐ สุดยอดธุรกิจนวัตกรรม นับเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ สนช. จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 แล้ว เพื่อประกาศยกย่องและเชิดชูผู้ประกอบการไทยที่มีการสร้างนวัตกรรมให้กับธุรกิจของตนเอง ทั้งนี้ ต้องขอแสดงความชื่นชมกับเจ้าของผลงานนวัตกรรมทุกๆ โครงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าของผลงาน ๑๐ สุดยอดธุรกิจนวัตกรรม ๒๕๕๑ ท่านเป็น “นักนวัตกร” บุคคลที่มีคุณค่ายิ่งต่อประเทศชาติ เป็นตัวอย่างความสำเร็จของผู้ทำนวัตกรรม และเป็นแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการในธุรกิจต่างๆ เกิดความสนใจที่จะดำเนินกิจการโดยมีการพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหวังว่าท่านจะไม่หยุดสร้างความแตกต่างและจุดเด่นให้เกิดขึ้นในธุรกิจ และร่วมเป็นแรงผลักดันที่สำคัญให้สังคมเกิดความตื่นตัวและสนใจในเรื่องนวัตกรรมมากยิ่งขึ้น”
ดร. ศุภชัย หล่อโลการ ผู้อำนวยการ สนช. กล่าวว่า “การคัดเลือก ๑๐ สุดยอดธุรกิจนวัตกรรม ๒๕๕๑หรือ TOP TEN INNOVATIVE BUSINESS 2008 ครั้งนี้ เป็นการคัดเลือกผลงานจากโครงการที่ สนช. ได้ให้การสนับสนุนจำนวนทั้งสิ้น 335 โครงการ คิดเป็นวงเงินการสนับสนุนกว่า 350 ล้านบาท ซึ่งสามารถสร้างให้เกิดมูลค่าการลงทุนกว่า 7,000 ล้านบาท โดยการพิจารณาคัดเลือกนั้นอาศัยหลักเณฑ์ต่างๆ ได้แก่ 1) รูปแบบธุรกิจใหม่ 2) สนับสนุนด้วยเทคโนโลยีที่โดดเด่น 3) มีศักยภาพสูงในตลาดโลก 4) การบริหารจัดการองค์กรที่ดี 5) การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และ 6) ก่อให้เกิดกระแสตื่นตัวด้านนวัตกรรม โดยกิจกรรมในครั้งนี้ สนช. ได้ตั้งเป้าหมายเพื่อเป็นตัวอย่างในการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมของภาคเอกชน แสดงถึงแนวโน้มทิศทางของธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพในประเทศไทย และหวังสร้างให้เกิดบรรยากาศการลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง”
“สำหรับผลการคัดเลือก ได้แก่ อันดับ 1 “บรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ PLA”…อุตสาหกรรมเพื่ออนาคต ของบริษัท โพลีแมททีเรียลเทคโนโลยี จำกัด ได้ 93.8 คะแนน อันดับ 2 “Good Grace”...สบู่อินทรีย์มาตรฐานโลก ของบริษัท เชียงใหม่ ออร์แกนนิค แอนด์ สปา จำกัด ได้ 91.8 คะแนน อันดับ 3 “ZoNoP”...อนุภาคซิงค์ออกไซด์นาโนสำหรับสิ่งทอและเครื่องสำอาง ของบริษัท นาโน แมททีเรียลส์ เทคโนโลยี จำกัด ได้ 91.4 คะแนน อันดับ 4 “ไบโอ อีเดน”...สเต็มเซลล์จากฟันน้ำนม ของบริษัท ไบโออีเดน เอเชีย จำกัด (มหาชน) ได้ 89 คะแนน อันดับ 5 “I-MO”…พาหนะส่วนบุคคล 2 ล้อฝีมือคนไทย ของบริษัท ไอ-โมบิลิตี้ จำกัด ได้ 88 คะแนน อันดับ 6 “อาหารเสริม DHA”…สาหร่ายขาวสกัดบำรุงสมอง ของบริษัท เมษา คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท ควอลิค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัท สิทธิพรสมุนไพร จำกัด ได้ 86.8 คะแนน อันดับ 7 “ไอ-สปา”…อ่างอาบน้ำอัจฉริยะ ของบริษัท บาธรูม ดีไซน์ จำกัด ได้ 85 คะแนน อันดับ 8 “Osiris”...เครื่องสำอางจากผงไหม ของบริษัท เนเจอร์แม๊กส์ จำกัด ได้ 83.6 คะแนน อันดับ 9 “เค.ยู. แวกซ์”...สารชีวภาพเคลือบผิวผลไม้ ของห้างหุ้นส่วนจำกัด เค.ยู. แว๊กซ์ ได้ 82 คะแนน และอันดับ 10 "ภูตะวัน"...ปุ๋ยชีวภาพมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของบริษัท ภูธนเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด ได้ 81.4 คะแนน
“เฉพาะในปี 2551 ที่ผ่านมานี้ สนช. ให้การสนับสนุนโครงการนวัตกรรมทั้งสิ้น 83 โครงการ วงเงินสนับสนุน 49.6 ล้านบาท ซึ่งสามารถสร้างให้เกิดมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 800 ล้านบาท การที่ สนช. ได้ริเริ่มระบบการบริหารจัดการนวัตกรรมรูปแบบใหม่ โดยจะสร้างให้เกิดการตื่นตัวในการจัดการนวัตกรรมบนฐานความรู้และเทคโนโลยี รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์โดยฝีมือความรู้ ความสามารถของคนไทย ทั้งนี้ สนช. นอกจากจะให้การสนับสนุนส่งเสริมในการใช้กลไกทางด้านการเงินแล้ว ผลสำเร็จของการผลักดันนวัตกรรมยังเกิดขึ้นจากการร่วมรังสรรค์ (co-creation) ระหว่าง สนช. และผู้ประกอบการ และการให้บริการปรึกษาทางธุรกิจ (service business solution) เพื่อผลักดันเอกชนให้เกิดการพัฒนา และสร้างกลยุทธ์ใหม่ในการทำธุรกิจ เพื่อสร้างให้ธุรกิจไทยมีความแตกต่างที่โดดเด่นเกินจากธุรกิจอื่น และพร้อมรับมือกับภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่กำลังประสบปัญหาตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้ยอดการสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลงเป็นจำนวนมาก จึงอยากให้ภาคเอกชนไทยพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ด้วยการเร่งสร้างนวัตกรรมเพื่อผันตัวจากการที่เป็น “ผู้รับจ้างผลิต” มาเป็น “ผู้สร้างตราสินค้า” โดยในปีหน้านี้ สนช. มีเม็ดเงินพร้อมที่จะสนับสนุนธุรกิจนวัตกรรมกว่า 200 ล้านบาท” ดร. ศุภชัยฯ กล่าวทิ้งท้าย