กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวสารหน่วยงาน “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว : พระอัจฉริยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี”

“พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว : พระอัจฉริยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี”

พิมพ์ PDF

            (18 สิงหาคม 2552) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดเสวนาในโอกาสวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำปี 2552 เรื่อง “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว : พระอัจฉริยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” โดยมี รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) นางกอบแก้ว อัครคุปต์ อดีตหัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นวิทยากร ร่วมกับ อาจารย์อารี สวัสดี กรรมการบริหารสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และ อาจารย์ภูธร ภูมะธน นักประวัติศาสตร์ผู้สนใจวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และดาราศาสตร์ในประวัติศาสตร์ไทย ณ ห้องโถงชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี


            รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวถึง พระอัจฉริยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ว่า พระองค์ท่านทรงศึกษาวิชาดาราศาสตร์สมัยใหม่จากตำราดาราศาสตร์ประเทศตะวันตก ทรงอธิบายปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ด้วยหลักเกณฑ์และเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ ทรงคำนวณล่วงหน้าการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงที่หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 โดยทรงเสด็จไปทอดพระเนตรด้วยพระองค์เอง และทรงโปรดเกล้าให้พระราชโอรส พระราชธิดา และพระบรมวงศานุวงศ์ ตามเสด็จไปทอดพระเนตรปรากฏการณ์สุริยุปราคาในครั้งนั้นด้วย


            อีก 7 ปี ต่อมา ได้เกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง ที่แหลมเจ้าลายจังหวัดเพชรบุรีในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2418 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงเชิญนักดาราศาสตร์จากประเทศสหราชอาณาจักรและประเทศฝรั่งเศสเดินทางมาสังเกตสุริยุปราคาเต็มดวงในครั้งนั้น และในรัชสมัยสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้เกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง ในวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2472 นักดาราศาสตร์จากประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อังกฤษ และเยอรมัน ได้นำเครื่องมือทางดาราศาสตร์มาศึกษาวิจัยดวงอาทิตย์  โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระราชินี ได้เสด็จทอดพระเนตรค่ายนักดาราศาสตร์เยอรมัน ที่ตำบลโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2472 ด้วย
           ความสนพระทัยทางด้านดาราศาสตร์ของพระมหากษัตริย์ไทยในอดีต สืบทอดมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง เห็นได้ในประเทศไทยถึง 2 ครั้ง ได้แก่วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2498 และวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2538 การจัดการศึกษาทางดาราศาสตร์ทั้งในระดับโรงเรียนและมหาวิทยาลัยได้มีการพัฒนาไปเป็นอย่างมาก มีการผลิตและพัฒนาบุคลากรทางด้านดาราศาสตร์อย่างเป็นระบบและมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีหอดูดาวเกิดขึ้นหลายแห่งที่มีบทบาทเป็นอย่างมากต่อการจัดกิจกรรม และสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้เป็นอย่างดีแก่สังคมไทย 


            อาจารย์อารี สวัสดี กรรมการบริหารสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า พระมหากษัตริย์ไทย ได้ทรงสนพระทัยวิชาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เริ่มตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ทรงทอดพระเนตรปรากฏการณ์จันทรุปราคาโดยในครั้งนั้น เป็นการสังเกตและการใช้กล้อง หลังจากกาลิเลโอเป็นระยะเวลา 76 ปี 8 วัน แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมิได้ด้อยไปกว่าประเทศใดในโลก 
            อาจารย์อารี กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า จากการศึกษา สามารถยืนยันได้ว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาด้วยพระองค์เอง โดยได้มีการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีจากต่างประเทศแทบทั้งสิ้น นอกจากนี้ พระองค์ยังศึกษาทั้งภาษาบาลี สันสกฤต ลาติน และทรงศึกษาเรื่องการคำนวณด้วยพระองค์เองอีกด้วย
            อาจารย์ภูธร ภูมะธน นักประวัติศาสตร์ผู้สนใจวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และดาราศาสตร์ในประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กล่าวถึงความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ว่า ปัจจัยที่ทำให้สมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงสนพระทัยวิทยาศาสตร์ คือ เป็นการเข้ามาของชาวต่างชาติในวาระพิเศษ คือต้องการเผยแพร่คริสตศาสนา โดยได้อธิบายให้เห็นว่าวิทยาศาสตร์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความจริงของจักรวาล เพื่อให้คริสต์ศาสนามีความชัดเจนและขลังขึ้น รวมทั้งความเจริญก้าวหน้าของมหาอำนาจชาติตะวันตก และความต้องการมีอิทธิพลเหนือประเทศตะวันออก จึงได้เริ่มเข้ามาในราชอาณาจักรประเทศไทย โดยในขณะนั้นได้มีผลงานจากการพัฒนาวิทยาศาสตร์ในด้านต่างๆ เช่น วิทยาศาสตร์เพื่อการเดินเรือระหว่างตะวันตกและตะวันออก ดาราศาสตร์เพื่อการเดินเรือ ส่งผลให้วิทยาศาสตร์มีความเฟื่องฟูในยุคนั้น
            “รัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีปัจจัยเป็นแรงเกิด เนื่องจากพระองค์ทรงผนวชหลายพรรษา ท่านจึงใช้หลักดังกล่าวในการคิดและดำเนินชีวิต โดยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ได้เริ่มมีมิชชันนารีพิมพ์หนังสือเผยแพร่ศาสนาคริสต์ ซึ่งได้มีการเผยแพร่เนื้อหาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เช่น อธิบายปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ วิชาเคมี เป็นต้น ในช่วงปลายรัชกาลที่ 3 ได้มีความรู้ด้านสาธารณสุขเข้ามาเผยแพร่แล้ว เรียกได้ว่า มีปัจจัยจากภายนอกเข้ามาในระดับหนึ่ง ทำให้สังคมไทย ต้องเปลี่ยนแปลงจากการดำเนินชีวิตแบบเดิมๆ สู่ความเป็นสากล นอกจากนี้ ยังมีการต่อเรือกลไฟ และในสมัยรัชกาลที่ 4 พระองค์ได้ทรงศึกษาภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ และเริ่มติดต่อกับเพื่อนมิชชันนารีชาวต่างชาติด้วย” อาจารย์ภูธร กล่าว
          นางกอบแก้ว อัครคุปต์ อดีตหัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า จากที่ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับพระราชประวัติของรัชกาลที่ 4 จากหอสมุดแห่งชาติ จนกระทั่งได้ค้นพบพระราชหัตเลขา ซึ่งเป็นจดหมายที่มีทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทยนับร้อยฉบับ โดยพระราชหัตเลขาที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และมีความน่าสนใจ คือ ในครั้งที่ทรงเสด็จยังหว้ากอ เพื่อทอดพระเนตรปรากฏการณ์สุริยุปราคา แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถด้านการคำนวณ โดยทรงทำนายการเกิดสุริยุปราคาตั้งแต่ปีขาล (ตรงกับปี พ.ศ. 2409) ซึ่งสุริยุปราคาเกิดขึ้นในปีมะโรง (ตรงกับปี พ.ศ. 2411) จากข้อมูลได้มีการระบุไว้ว่า “พระเจ้าอยู่หัวทรงคำนวณเอง ไม่ได้ให้โหรทำถวาย เพราะโหรนั้นหยาบมาก” แสดงให้เห็นว่า พระองค์ทรงคำนวณอย่างละเอียดมาก และเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2411 พระองค์ได้เสด็จโดยเรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดชจากท่านิเวศวรดิษฐ์ไปถึงบ้านหว้ากอวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2411 โดยยังมิได้ขึ้นฝั่งที่ท่าหลวง หรือพลับพลาที่ประทับ ซึ่งจากการค้นคว้า ได้มีการกล่าวอ้างถึง พระสยามธุรานุรักษ์ (ชื่อเดิมคือ M.A. de Grehan) ชาวฝรั่งเศสที่รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นกงสุลไทยคนแรกประจำกรุงปารีส ซึ่งทรงมีพระราชหัตเลขาไปถึง ว่ายังไม่ขึ้นฝั่ง เพราะมีไข้ป่า จึงทรงรับสั่งให้รออยู่ก่อน เพื่อไม่ให้คณะเดินทางจับไข้เสียก่อน และทรงล่องเรือไปยังอ่าวมะนาว 2 วัน จึงขึ้นฝั่งที่หว้ากอ ในวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2411 โดยได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อม เซอร์ แอร์รี่ ออร์ด เจ้าเมืองสิงคโปร์  คณะทูตานุทูต นักวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศส และแขกต่างประเทศอื่น ที่ทรงเชิญมา และข้าราชบริพารไทย เพื่อร่วมชมและเป็นสักขีพยาน และได้เกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาตรงตามที่พระองค์ทรงคำนวณไว้ 


            นางกอบแก้ว อัครคุปต์ อดีตหัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวทิ้งท้ายว่า ในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงส่งทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศฝรั่งเศส 2 ท่าน ได้แก่ ขุนมหาสิทธิโวหาร เพื่อศึกษาดูงานเกี่ยวกับการทำหนังสือพิมพ์ ทั้งวัตถุดิบ แรงงาน และวิธีการทำ อีกท่านหนึ่งคือหมื่นจักรวิจิตร เพื่อให้เรียนรู้การแก้นาฬิกา โดยให้ศึกษาหรือจ้างคนมาสอน และยังรับสั่งให้ซื้อเครื่องมือ ได้แก่ หลอดแก้ว เพื่อใช้แทนของเดิมซึ่งแตกและเสียหาย นอกจากนี้ ยังทรงรับสั่งให้นำนาฬิกาแดดใหม่ๆ กลับมายังประเทศไทยอีกด้วย แสดงให้เห็นว่า พระองค์ ทรงมีความสนพระทัยวิทยาการใหม่ๆ เป็นอย่างมาก
            รศ.บุญรักษา กล่าวว่า ความสนพระทัยทางด้านดาราศาสตร์ของพระมหากษัตริย์ไทยในอดีต สืบทอดมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง เห็นได้ในประเทศไทยถึง 2 ครั้ง ได้แก่วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2498 และวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2538 การจัดการศึกษาทางดาราศาสตร์ทั้งในระดับโรงเรียนและมหาวิทยาลัยได้มีการพัฒนาไปเป็นอย่างมาก มีการผลิตและพัฒนาบุคลากรทางด้านดาราศาสตร์อย่างเป็นระบบและมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีหอดูดาวเกิดขึ้นหลายแห่งที่มีบทบาทเป็นอย่างมากต่อการจัดกิจกรรม และสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้เป็นอย่างดีแก่สังคมไทย 
            การจัดการเรียนการสอนดาราศาสตร์ในประเทศไทยระดับโรงเรียน แต่เดิมไม่ได้จัดเป็นวิชาเรียนโดยเฉพาะ ต่อมาเมื่อสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ปรับปรุงหลักสูตรและสาระการสอนวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐานใหม่ โดยจัดสาระเรื่อง “โลก ดาราศาสตร์และอวกาศ” เป็นสาระการเรียนรู้หลักสาระหนึ่ง ทำให้นักเรียนได้มีโอกาสเรียนรู้เนื้อหาวิชาดาราศาสตร์ในโรงเรียนมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งสมาคมดาราศาสตร์ไทย รวมทั้งมีการจัดตั้งท้องฟ้าจำลองอีก 3 แห่ง ทำให้วงการดาราศาสตร์ในประเทศไทยได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก
            ในประเทศไทยยังมีการเรียนการสอนวิชาดาราศาสตร์ในโรงเรียนนายเรือ กรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือ มีแผนกดาราศาสตร์สังกัดกองอุปกรณ์การเดินเรือ ที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบเวลา โดยการสังเกตดวงดาว เพื่อรักษาเวลามาตรฐานของประเทศไทย และแจ้งสัญญาณเทียบเวลาให้แก่ประชาชน มีการซื้ออุปกรณ์ทางดาราศาสตร์ มาใช้ในการตรวจสอบและแจ้งสัญญาณเทียบเวลาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2477
            จากพัฒนาการทางด้านดาราศาสตร์และความสนใจของประชาชนในปรากฏการณ์ต่างๆ ทางดาราศาสตร์ ทำให้รัฐได้ตระหนักและเห็นความสำคัญในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐานของประเทศ ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์เพื่อการสร้างความเข้มแข็งทางวิทยาศาสตร์ และการแข่งขันและยกระดับมาตรฐานทางวิทยาศาสตร์สู่ระดับสากล นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสสำคัญในวาระที่มีการสมโภช 200 ปี แห่งการพระราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย พ.ศ. 2547 และ เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลเดช พระบิดาแห่งเทคโนโลยีไทยในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุ 80 พรรษา ปี พ.ศ. 2550 และทรงโปรดวิชาดาราศาสตร์เป็นอย่างมาก คณะรัฐมนตรีจึงมีมติอนุมัติให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดำเนินโครงการจัดตั้งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 ขึ้น และเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินงานได้อย่างอิสระ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงเห็นสมควรจัดตั้ง สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติเป็นองค์การมหาชน โดยให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2552 ซึ่งถือเป็นวันสถาปนา สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)


************************************************

 

เขียนข่าวโดย : สุจิรัส สังข์ทอง พนักงานประชาสัมพันธ์
ภาพข่าวโดย : ชัชวาลย์ โบสุวรรณ พนักงานประชาสัมพันธ์/สุนิสา ภาคเพียร นายช่างภาพ
ที่มา : กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
 

 
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
» เสาวนาแก้ไขปัญหาการศึกษาไทย Thailand-Japan Human Resources Development Initiative (Timeline Suthichai )
» พิธีวางพุ่มดอกไม้ถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 4 พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย
» รมว.วท. ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ มจพ. เน้นขับเคลื่อน Talent Mobility
» พิธีวางพุ่มดอกไม้ถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 4 “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย”
» สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ
» พิธีวางพานพุ่มถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 4 พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย
» กระทรวงวิทย์ฯ ชวนเยาวชนเล่นกลวิทยาศาสตร์จากของใช้ในบ้าน
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป