กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวสารหน่วยงาน พิธีวางพานพุ่มถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 4

พิธีวางพานพุ่มถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 4

พิมพ์ PDF

                 เช้าวันนี้ (18 สิงหาคม 2552) เวลา 09.15 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นายพลากร  สุวรรณรัฐ  องคมนตรี  เป็นผู้แทนพระองค์ ไปวางพานพุ่มถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย”  เนื่องใน “วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ”  ณ  กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ถนนพระราม 6  กรุงเทพฯ  โดยมี  ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ข้าราชการและแขกผู้มีเกียรติ  รอรับผู้แทนพระองค์

 

 

 

 

 

 


                 เมื่อปี พ.ศ. 2409  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงคำนวณและพยากรณ์ว่า ปีมะโรง พ.ศ. 2411 วันอังคาร ขึ้น  1  ค่ำ เดือน 10  ตรงกับวันที่  18  สิงหาคม พ.ศ. 2411  จะเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคามืดหมดดวง  จะเห็นได้ชัดที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  ซึ่งทรงพยากรณ์ล่วงหน้าถึง 2 ปี  โดยไม่มีหลักฐานการคำนวณจากประเทศตะวันตก  และเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411  อันเป็น  วันสำคัญในประวัติศาสตร์ดาราศาสตร์ไทย  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ตลอดจนบรรดาผู้มาเข้าเฝ้าทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ  ต่างเฝ้ารอคำพยากรณ์จากการคำนวณทางดาราศาสตร์  ในตอนแรกไม่มีผู้ใดแลเห็นสุริยุปราคาตอนเริ่มจับ พระองค์ทรงพยากรณ์ไว้ว่า คลาสเริ่มจับเวลา 10.04 น. รอจนถึง 10.16 น. คลาสเริ่มจับมากขึ้นทุกที ท้องฟ้าที่สว่างเริ่มมืดสลัวลง  จนถึงเวลา 11.20 น. ท้องฟ้ามืดลงจนมองเห็นดวงดาว  คลาสจับเต็มดวงเมื่อเวลา 11.36 น. 20 วินาที  ท้องฟ้ามืดจนเป็นเวลากลางคืน  นับเป็นสุริยุปราคาเต็มดวงตรงตามเวลาที่พระองค์ทรงคำนวณพยากรณ์ไว้ทุกประการ  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนำประเทศไทยเข้าสู่ยุคของวิทยาศาสตร์มาแต่บัดนั้น  ซึ่งเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่าประเทศสยามในขณะนั้น มีศิลปะวิชาการ  การใช้ข้อมูล  การวิเคราะห์ด้วยหลักวิชาการและการพยากรณ์ ซึ่งเป็นพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์  
                 วันที่ 18  สิงหาคม ของทุกปี  เป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ  กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ได้จัดให้มีพิธีวางพานพุ่มถวายราชสักการะพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย”  ณ บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์  ซึ่งประดิษฐานเด่นเป็นศรีสง่า  ถือเป็นศูนย์รวมใจของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ตลอดจนข้าราชการและพสกนิกรทุกหมู่เหล่า  ซึ่งได้พร้อมใจกันมาวางพานพุ่มถวายราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ  สถานที่แห่งนี้อยู่เป็นนิจ  เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อวงการวิทยาศาสตร์ไทยและประเทศชาติ  นับอเนกประการ  คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 14  เมษายน 2525 เทิดพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ 4  เป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย”  และกำหนดให้วันที่ 18  สิงหาคม ของทุกปีเป็น  “วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ”  เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ  และเทิดพระเกียรติแด่พระองค์ท่าน

 

 


                 นอกจากนี้  กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  จัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติ  และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยจัดมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2552 ภายใต้แนวคิด “วิทยาศาสตร์ก้าวไกล  นำไทยก้าวหน้า” ระหว่างวันที่ 8–23 สิงหาคม 2552  ณ Hall 2-8 อิมแพค เมืองทองธานี  ภายในงานประกอบ ด้วยนิทรรศการที่แสดงถึงพระอัจฉริยภาพด้านวิทยาศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย”  นิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย”  และ “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย”  นิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตน ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี  และนิทรรศการฉลอง 30 ปี การจัดตั้งกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แสดงผลงานเด่นของกระทรวง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เนื่องในโอกาสวาระครบ 30 ปี  รวมทั้งเป็นปีดาราศาสตร์สากล และนิทรรศการหลักที่ให้ความรู้ความเข้าใจและสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นในสังคม โดยจัดแสดงและจัดกิจกรรมเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ประกอบด้วยเอกภพวิทยา ความหลากหลายทางชีวภาพ น้ำ  พลังงาน  ภาวะโลกร้อน  อาหารและสุขภาพ นาโนเทคโนโลยี  โลกดิจิตอล  หุ่นยนต์ หรือเทคโนโลยีอัตโนมัติ  และกิจกรรมสำหรับเยาวชน
                 และเนื่องในโอกาสวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 18 สิงหาคม 2552 นี้ ดร.คุณหญิงกัลยา  โสภณพนิช  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ได้ปลูกไม้สักมงคลสายพันธุ์เสาชิงช้า  ณ บริเวณด้านหน้ากระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ไม้สักมงคลสายพันธุ์เสาชิงช้าเป็นพันธุ์ไม้สักที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ  กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมกับ กรมป่าไม้  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  และกรุงเทพมหานคร  ได้ร่วมกันจัดทำโครงการปลูกต้นสักสายพันธุ์เสาชิงช้า  เพื่ออนุรักษ์สายพันธุ์ต้นสักที่ใช้ทำเสาชิงช้าและสานสัมพันธ์คนในชาติ  ซึ่งพันธุ์ไม้สักสายพันธุ์เสาชิงช้านี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย ศูนย์ไบโอเทค  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รับผิดชอบดำเนินการตรวจเอกลักษณ์ทางพันธุกรรมต้นที่ใช้ทำเสาชิงช้าเพื่อตรวจสอบความถูกต้องตามสายพันธุ์และทำการขยายพันธุ์ต้นสักที่ใช้ทำเสาชิงช้าด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อให้ได้กล้าไม้สักที่พร้อมนำออกปลูกในธรรมชาติ  และเนื่องจากไม้สักเป็นหนึ่งใน 9 ไม้มงคล  ไม้สัก หมายถึง ความมีศักดิ์ศรี  ความมีเกียรติ  โครงการปลูกไม้สักมงคลเป็นการถวายความจงรักภักดีแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  เป็นการรวมใจของคนไทยทั่วประเทศ  สร้างความสมานฉันท์และรู้รักสามัคคีให้แก่คนในชาติที่ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน  รวมทั้งเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวสู่แผ่นดิน

 

 

 

 

 เขียนข่าวโดย : นายปราโมทย์  ป้องสุธาธาร , นางวลัยพร  ร่มรื่น  กล่มงานประชาสัมพันธ์  โทร.  02354 4466 ต่อ 118
ถ่ายภาพโดย : น.ส.สุนิสา  ภาคเพียร  กล่มงานประชาสัมพันธ์  โทร.  02354 4466 ต่อ 199
 

 

 

 

 
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป