กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวสารหน่วยงาน กระทรวงวิทย์ฯ ประกาศสร้างเส้นทางผู้ประกอบการใหม่จากงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ มอบรางวัลแก่ผู้ชนะเลิศการประกวดโครงการ “เส้นทางสู่นวัตวณิชย์”

กระทรวงวิทย์ฯ ประกาศสร้างเส้นทางผู้ประกอบการใหม่จากงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ มอบรางวัลแก่ผู้ชนะเลิศการประกวดโครงการ “เส้นทางสู่นวัตวณิชย์”

พิมพ์ PDF

   2 กุมภาพันธ์ 2559 ณ โรงแรมพูลแมนขอนแก่น ราชาออคิด จังหวัดขอนแก่น / รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เกียรติเป็นประธานการมอบรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวดกิจกรรม “เส้นทางสู่นวัตวณิชย์ ประจำปี 2558” (Research 2 Market: R2M 2015) ระดับประเทศ จัดโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) ร่วมกับ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อส่งเสริมและผลักดันผลงานวิจัยอันมีนวัตกรรมที่มีศักยภาพจากมหาวิทยาลัย ให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจได้จริง อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาในการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีและการทำแผนธุรกิจตลอดจนส่งเสริมการสร้างผู้ประกอบการใหม่ที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย
 
    รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า โครงการ “เส้นทางสู่นวัตวณิชย์ ประจำปี 2558” (Research 2 Market: R2M 2015) จัดขึ้นโดย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์ 3 ภูมิภาค ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ดีที่ส่งเสริมให้นิสิต นักศึกษาที่เป็นคนรุ่นใหม่ ได้ทดลองนำผลงานวิจัยที่มีอยู่จริงและผ่านการรับรองจากอาจารย์ภายในมหาวิทยาลัย มาต่อยอดทำแผนธุรกิจและแผนการตลาด ซึ่งเป็นการจำลองการประกอบธุรกิจในชีวิตจริง นับเป็นความท้าทายที่ทำให้ผู้เข้าแข่งขันได้ทดสอบตนเองก่อนไปประกอบอาชีพอย่างจริงจังหลังจากจบการศึกษา นอกจากนี้ กิจกรรมเส้นทางสู่นวัตวณิชย์ยังส่งเสริมให้เกิดความตระหนักและสร้างวัฒนธรรมของการพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยี ทั้งยังช่วยให้นักศึกษาและนักวิจัยได้เห็นภาพที่ชัดเจนของการต่อยอดการเชื่อมโยงงานวิจัยจากห้องปฏิบัติการไปสู่เชิงพาณิชย์ รวมถึงงานวิจัยที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและผู้บริโภคอย่างแท้จริง และเพื่อปลูกฝังแนวคิดที่ว่า “การวิจัยและพัฒนาไม่ได้เสร็จสิ้นเพียงแค่การปฏิบัติเท่านั้น แต่ต้องมีการสานต่อไปจนถึงการใช้งานได้จริงด้วย”

     นายสุรชัย วัฒนาอุดมชัย ปลัดจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ปัจจุบันได้มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมเพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตเพิ่มมูลลค่าสินค้าและบริการและเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันทางธุรกิจให้เข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งสถาบันการศึกษาเป็นอีกกลไกหนึ่งที่สำคัญในการคิดค้นวิจัยและพัฒนาสิ่งประดิษฐ์เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยได้มีการทำงานเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมไปๆ กันโครงการ R2M ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่จะช่วยผลักดันผลงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยให้ออกสู่เชิงพาณิชย์ได้อย่างแท้จริง นอกจากนั้นยังเป็นการพัฒนาศักยภาพนักศึกษาในภูมิภาคในการคิดวิเคราะห์และวางแผนการตลาดรวมทั้งการศึกษาความเป็นไปได้ของผลงานวิจัยเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประโยชน์กับประเทศชาติต่อไป

    ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า สำหรับผู้เข้าแข่งขันภายใต้โครงการ R2M จะได้รับประสบการณ์โดยตรงภายใต้คำชี้แนะของที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์จากภาคธุรกิจ ในการวิเคราะห์และการตรวจสอบเทคโนโลยีเบื้องต้นก่อนเข้าสู่การตลาด ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการบริหารและธุรกิจอุตสาหกรรม โดยสามารถนำผลงานดังกล่าวไปพัฒนาให้แข่งขันกับผู้อื่นได้ ทำให้เกิดการสร้างธุรกิจใหม่ที่หลากหลาย สร้างสิทธิประโยชน์สู่นักวิจัย หน่วยงาน และมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมถึงการสร้างประโยชน์และคุณค่าให้กับประเทศ โดยในปีนี้มีตัวแทนผู้เข้าร่วมแข่งขันจากสถาบันการศึกษาระดับภูมิภาคเข้าร่วมประกวดทั้งสิ้น 20 ทีม จากเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ ประกอบด้วย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 ทีม ภาคเหนือ 9 ทีมและภาคใต้ 5 ทีม 
   
   
   

ทั้งนี้ ผลงานทีมนักศึกษาที่เข้ารับรางวัล Research to Market : R2M ประจำปี 2558 Research to Market Thailand 2015 ระดับประเทศ มีดังนี้​
 
   

 

    รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ชื่อทีม MH Fusion จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับผลงานวิจัย "น้ำลายเทียม Mouth Me"
 
    รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ชื่อทีม 4G+  จากมหาวิทายาลัยสงขลานครินทร์ กับผลงาน "แผ่นหนังเทียมจากยางธรรมชาติผสมผงหนังและแผ่นหนัง"
 
    รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ2 ชื่อทีม forget me not จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น กับผลงาน "แคปซูลดิลลีเนีย (ต้านอัลไซเมอร์)"
 
   รางวัลชมเชยทีมที่ 1 ชื่อทีม cabbala จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กับผลงาน "แผ่นแปะแผลชนิดล้างออกได้ที่มีส่วนประกอบจากว่านหางจระเข้และสารสกัดบัวบก"
 
     รางวัลชมเชย ทีมที่ 2 ชื่อทีม young blood จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กับผลงาน "สารทดแทนฟอตเฟตและไบคาร์บอเนตในการปรับปรุงคุณสมบัติความสามารถในการอุ้มน้ำและน้ำหนักของเนื้อกุ้ง"
 
    รางวัลผลงานวิจัยที่น่าลงทุน ชื่อทีม 4 สาวมหัศจรรย์ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น กับผลงาน "แคปซูลดิลลีเนีย (ต้านอัลไซเมอร์)"
   
    รางวัล popular vote ชื่อทีม the ultimate จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กับผลงาน "veewa glow ผลิตภัณฑ์จากไหมแท้ 100%" 
 
    ภายหลังจากพิธีเปิดงาน R2M ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเกี่ยวกับโครงการ “เส้นทางสู่นวัตวณิชย์” (Research to Market : R2M) ว่า การจัดทำโครงการนี้เป็นการบริหารจัดการเพื่อสร้างกำลังคนที่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยเพื่อกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวโดยนำงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ จากการใช้ความรู้ทางด้านเศรษฐศาสตร์เข้ามาช่วยสร้างธุรกิจ ซึ่งบทบาทของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ คือการสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อให้เกิดเป็นชิ้นงานและดึงภาคเอกชนเข้าชมชิ้นงานต่างๆ พร้อมกับมาลงทุนต่อยอดสำหรับใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ต่อไป
 
 
ข้อมูลโดย :
ดร.สุพจน์ สุทธิรัตน์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผน
สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์
โทร. 02-333-3700 ต่อ 4051
 
ข่าวโดย :
นางสาวนีรนุช ตามศักดิ์
ภาพข่าวโดย : นางสุนิสา ภาคเพียร นาวงษ์ และ นายรัฐพล หงสไกร
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732  โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน
 
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป