กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวสารหน่วยงาน พิเชฐฯ ชวนเด็กไทยใช้วิทยุสมัครเล่นคุยกับนักบินอวกาศ ขณะโคจรผ่านน่านฟ้าไทย 10 นาทีทุกคำถามมีคำตอบ

พิเชฐฯ ชวนเด็กไทยใช้วิทยุสมัครเล่นคุยกับนักบินอวกาศ ขณะโคจรผ่านน่านฟ้าไทย 10 นาทีทุกคำถามมีคำตอบ

พิมพ์ PDF

 

  30 มกราคม 2559 ณ โรงเรียน มอ.วิทยานุสรณ์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลาดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (รมว.วท.) เป็นประธานเปิดกิจกรรม “การสื่อสารกับนักบินอวกาศขององค์การ NASA ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในสถานีอวกาศนานาชาติ โดยใช้ระบบวิทยุสมัครเล่นในประเทศไทย (NASA ARISS Contact)” ขณะบินผ่านน่านฟ้าประเทศไทย พร้อมปาฐกถาพิเศษ “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตอบโจทย์สังคมแห่งศตวรรษที่ 21” มุ่งสร้างแรงบันดาลใจเยาวชนเรียนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมและคณิตศาสตร์ (STEM) มากยิ่งขึ้น 


ทั้งนี้ ดร.พิเชฐฯ เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า “กิจกรรมการสื่อสารกับนักบินอวกาศขององค์การ NASA ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในสถานีอวกาศนานาชาติ โดยใช้ระบบวิทยุสมัครเล่นในประเทศไทย (NASA ARISS Contact)” เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ปว.(วต.) สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตัวแทนของโครงการ ARISS (Amateur Radio on the International Space Station) Contact ในภูมิภาคเอเชีย สมคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันทางการศึกษาใน     ประเทศไทย โดยโรงเรียน มอ.วิทยานุสรณ์ ได้รับคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนต้นแบบในการจัดกิจกรรม NASA ARISS Contact ในครั้งนี้ ซึ่งกิจกรรมการสื่อสารกับนักบินอวกาศฯ ได้มีการคัดเลือกตัวแทนนักเรียนจากโครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย (โครงการ วมว.) และตัวแทนนักเรียนจากโรงเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา ทุกคนที่ได้รับคัดเลือกจะมีข้อคำถามที่จะสนทนาพูดคุยกับนักบินอวกาศ ภายในเวลา 10 นาที (ระหว่าง 18.06 – 18.16 น.) ช่วงที่สถานีอวกาศโคจรผ่านบริเวณน่านฟ้าของไทย

รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “นอกจากเยาวชนตัวแทนนักเรียนที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมกิจกรรมฯ แล้ว ยังเป็นโอกาสดีที่มีเยาวชนไทยจากประเทศสหรัฐอเมริกาในโครงการ “ค่ายยุวทูตวิทยาศาสตร์: ค่ายและการทัศนศึกษาวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชนไทยในประเทศสหรัฐอเมริกา” (Young Ambassador in Science and Technology Program) เดินทางมาร่วมกิจกรรมสื่อสารกับนักบินอวกาศในครั้งนี้ด้วย โดยอยู่ในความดูแลและประสานงานของสำนักงานที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ปว.(วต.) ซึ่งทราบว่าเดินทางทัศนศึกษาและเรียนรู้หน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย ตลอดจนทำกิจกรรมและเปลี่ยนเรียนรู้กับโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดสงขลาตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม  2559 ที่ผ่านมา โดยเยาวชนไทยจากอเมริกาเหล่านี้เปรียบเสมือนคนไทยที่เข้าถึงทรัพยากรของสหรัฐอเมริกาในฐานะพลเมืองอเมริกัน และพวกเขาเหล่านี้จะมีโอกาสเข้าไปทำงานในหน่วยงานด้าน วทน.ของสหรัฐอเมริกาได้ในอนาคต ดังนั้น การปลูกฝังความเป็นคนไทย รักประเทศไทย และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนกลุ่มนี้จะเป็นการวางรากฐานความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา และแทรกซึมบุคลากรที่มีความเป็นคนไทยและพร้อมที่จะทำเพื่อผลประโยชน์ของประเทศไทยในหน่วยงานต่างๆ ของสหรัฐฯ คอยเป็นกระบอกเสียงถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้ที่ได้รับจากกิจกรรมในครั้งนี้ ซึ่งจะส่งผลประโยชน์ให้แก่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย   ระยะยาว”

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวทิ้งท้าย ถึงกิจกรรมการสร้างแรงบันดาลใจแก่เยาวชนในครั้งนี้ นับเป็นอีกก้าวสำคัญที่ช่วยจุดประกายส่งเสริมความก้าวหน้าให้เยาวชนมีแรงผลักดัน มุ่งมั่นที่จะศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์หรือคณิตศาสตร์ (STEM) มากยิ่งขึ้น โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์พร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่และเป็นหนึ่งในนโยบายการปฏิรูป วทน. ที่มุ่งพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้าสู่ตลาดธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรมที่สามารถสร้างผลงานนวัตกรรมใหม่ๆ เพิ่มศักยภาพและโอกาศในการแข่งขันประเทศด้วย วทน. ในอนาคต

ด้าน รองศาสตราจารย์วรัญ ตันชัยสวัสดิ์ ผู้อำนวยการโรงเรียน มอ.วิทยานุสรณ์ กล่าวว่า กิจกรรมการสื่อสารกับนักบินอวกาศฯ ดังกล่าวเป็นกิจกรรมระยะที่ 2 ของโครงการ ซึ่งระยะแรกที่ได้ดำเนินการมาแล้วเป็นกิจกรรมการจัดค่ายเตรียมความพร้อมเพื่อการสื่อสารกับนักบิน โดยมีการคัดเลือกตัวแทนนักเรียนจากโครงการ วมว. ตัวแทนนักเรียนในเขตจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และจากโรงเรียน มอ.วิทยานุสรณ์ รวมตัวจริง 12 คน และมีสำรอง 6 คน ดังนั้น นักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกร่วมกิจกรรมครั้งนี้ เป็นตัวแทนที่มีความรู้ความสามารถด้านดาราศาสตร์ เทคโนโลยีอวกาศ ระบบวิทยุเพื่อการสื่อสาร และการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการติดต่อสื่อสาร  ทั้งนี้ วัตถุประสงค์สำคัญในกิจกรรมดังกล่าวเพื่อต้องการให้นักเรียนได้สนทนากับนักบินอวกาศบนสถานีอวกาศนานาชาติ และซักถามความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีอวกาศตลอดจนการใช้ชีวิตในสภาวะไรน้ำหนักเป็นระยะเวลานานๆ  อีกทั้งยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจที่จะแสวงหาความรู้และประกอบกาชีพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในอนาคต ต้องขอขอบคุณสมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมวิทยุสมัครเล่นในจังหวัดสงขลา ในการติดตั้งอุปกรณ์วิทยุสมัครเล่นและสถานีวิทยุของชมรมวิทยุสมัครเล่นโรงเรียน มอ.วิทยานุสรณ์ ซึ่งมีสัญญาณเรียกขาน คือ E29AJ เพื่อการติดต่อกับสถานีอวกาศ และนอกจากนี้ โรงเรียน มอ.วิทยานุสรณ์ ได้จัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ นิทรรศการสัปดาห์แห่งการสื่อสารกับนักบิน (ตั้งแต่วันที่ 22-30 มกราคม 2559) และช่วงวันที่ 30 มกราคม 2559 มีกิจกรรมบรรยายพิเศษเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียน ในหัวข้อ “ถึกและทนจนผ่านค่ายคัดเลือกนักบินอวกาศ” (โดย นางสาวพิรดา เตชะวิจิตร์) หัวข้อ “อวกาศที่ทุกคนเข้าถึงได้” (โดย คุณพลกฤษณ์ สุขเฉลิม) หัวข้อ “ ชีวิตและความเป็นไปในสถานีอวกาศ” (โดย คุณชวลิต รัศมีนิล) และ “ปฏิบัติการฉลาดคิดด้วยวิทยาศาสตร์ ฉลาดใช้วิทยุสมัครเล่น ฉลาดล้ำไปในห้วงอวกาศ” เป็นต้น 
 
ช่วงเวลาการติดต่อสื่อสารวันที่ 30 มกราคม 2559 เวลา 18.06 - 18.16 น. ได้มีการถ่ายทอดสดให้ผู้สนใจได้รับทราบผ่าน YouTube channel : PSUWitHatyai,บนหน้าเว็บไซต์ของโรงเรียน มอ.วิทยานุสรณ์ www.psuwit.psu.ac.th
 

****************************

 
ข้อมูลโดย : ประชาสัมพันธ์โรงเรียน มอ.วิทยานุสรณ์/ ประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ / สำนักงานที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำสถานเอกอัครราชทูต
ข่าวโดย : เทียรทอง ใจสำราญ กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ภาพข่าว : นายภูษิต โพธิ์แสง
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732  โทรสาร 0 2333 3834
E-mail : อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน
Facebook : sciencethailand 
Twitter : sciencethailand 
Call Center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร 1313 
 
 
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป