กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวสารหน่วยงาน รมว.วิทย์ฯ รับเชิญจาก มอ.เยี่ยมโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา จ.สตูล หนุนตั้งเป้าฐานการผลิตแผ่นยางปูพื้นลานกีฬาเอนกประสงค์

รมว.วิทย์ฯ รับเชิญจาก มอ.เยี่ยมโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา จ.สตูล หนุนตั้งเป้าฐานการผลิตแผ่นยางปูพื้นลานกีฬาเอนกประสงค์

พิมพ์ PDF

 

          (ช่วงเช้าวันที่ 30 มกราคม 2559) ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมคณะ เดินทางไปสถานที่ตั้งโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา ที่ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางสตูล จำกัด อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.พีระพงศ์  ทีฆะสกุล รองอธิการบดีฝ่ายระบบวิจัยและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) พร้อมคณะผู้วิจัยและประธานกลุ่มสหกรณ์กองทุนสวนยางสตูลให้การต้อนรับ เพื่อเยี่ยมชมความสำเร็จอีกก้าวของกลุ่มเกษตรกรฯ ที่รวมตัวกันแก้ไขสถานการณ์ยางพาราตกต่ำ โดยหันมาสร้างโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี จากสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา (มอ.) ล่าสุดสามารถผลิตแผ่นยางปูพื้นลานกีฬาสนามฟุตซอล ในราคา 1,170 บาท/ตารางเมตร และ มอ.นำร่องใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวปูพื้นลานกีฬาเอนกประสงค์ของมหาวิทยาลัยทั้ง 5 วิทยาเขต และโรงเรียนที่อยู่ในจังหวัดซึ่งเป็นที่ตั้งของวิทยาเขตอีก  5 โรงเรียน

 

          การเดินทางมาเยี่ยมชมโรงงานฯ ครั้งนี้ ดร.พิเชฐฯ มีโอกาสรับฟังปัญหาและที่มาของการรวมตัวกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ อ.ควนกาหลง ซึ่งมีผลผลิตยางพาราปีละ 3 ล้านกิโลกรัมต่อปี ทั้งนี้ นายชำนาญ เมฆตรง ประธานชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางสตูล จำกัด กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์ยางพาราที่ราคาตกต่ำส่งผลกระทบต่อรายได้ของสมาชิก จึงได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นชุมนุมสหกรณ์มีสมาชิกจาก 16 สหกรณ์ และสมาชิกสมทบอีก 2 กลุ่ม รวมเป็น 18 แห่ง  โดยเริ่มต้นจากการรวบรวมน้ำยางสดแปรรูปเป็นยางแผ่นรมควัน ตอบสนองความต้องการของสมาชิกลูกค้าและเกิดการซื้อขายที่เป็นธรรม  แต่เมื่อวิกฤติยางพาราตกต่ำลงไปอีก ทางกลุ่มจึงปรับเปลี่ยนแนวคิดใหม่ด้วยการนำยางพาราไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ พร้อมร่วมกันกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) 20 ล้านบาท ดอกเบี้ยร้อยละ 1 สตางค์ ปลอดดอกเบี้ย 2 ปี เพื่อสร้างโรงงานแปรรูป และขอรับคำปรึกษาด้านเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมี รศ.อาซีซัน แกสมาน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา มอ. เป็นที่ปรึกษา ซึ่งได้มีพิธีเปิดโรงงานเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2559 ที่ผ่านมา

          ด้าน รศ.ดร.พีระพงศ์ ทีฆะสกุล เสริมว่า มอ. มองเห็นความก้าวหน้าของชุมนุมสหกรณ์ฯ ที่มีความเข้มแข็งจนสามารถสร้างโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราได้สำเร็จ สามารถเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหายางพาราที่ขยายผลไปในพื้นที่อื่นๆ ได้  ทั้งนี้ มอ. ได้สร้างรูปแบบ "เกษตรอุตสาหกรรมยางพารา" เพื่อให้เกิดการพัฒนายางพาราอย่างครบวงจร ลดผลกระทบยางพาราตกต่ำโดยเกษตรกรเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบและแปรรูปผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ มอ.ยินดีสนับสนุนเทคโนโลยีและองค์ความรู้ด้านต่างๆ เพื่อพัฒนาให้ผลิตภัณฑ์ของชุมนุมสหกรณ์ฯ ให้ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) โดยเร็ว ต่อไป 

          ในส่วนของ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้กล่าวชื่นชมความสำเร็จจากการรวมกลุ่มของพี่น้องเกษตรกรจนเป็นชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางควนกาหลง จังหวัดสตูล นับเป็นความเข้มแข็งของชุมชนที่สามารถยืนหยัดต่อสู้วิกฤติ อุปสรรค ด้วยการเปลี่ยนความคิดหันมาใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นตัวนำ ทั้งยังเชื่อมโยงสถาบันการศึกษาในพื้นที่สนับสนุนให้คำปรึกษา และอาศัยสถาบันการเงินที่พร้อมสนับสนุนภาคการเกษตร วิธีการดังกล่าวนับเป็นการก้าวเดินที่ถูกทางของภาคการเกษตร      ยุคใหม่ ซึ่งรัฐบาลต้องการให้เป็นและเห็นความร่วมมือในลักษณะภาคีดังกล่าวกระจายอย่างทั่วถึงทุกภูมิภาค  นอกจากนี้ อยากเรียนต่อสื่อมวลชนและพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางว่ารัฐบาลให้ความสำคัญการใช้ยางธรรมชาติเป็นอย่างมาก ส่วนราชการทุกภาคส่วนมีความร่วมมือหาแนวทางตอบสนองนโยบายรัฐบาล ในการใช้ประโยชน์วัตถุดิบยางธรรมชาติเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ให้มากยิ่งขึ้น ในส่วนของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ซึ่งประสบความสำเร็จในการวิจัยพัฒนาวัสดุยางสังเคราะห์และยางธรรมชาติเพื่อจัดสร้างลู่-ลานกรีฑาที่ได้มาตรฐาน มอก. เรียบร้อยแล้วโดยนำร่องสร้างลู่ลาน-กรีฑา ให้กับโรงเรียนบาง    ยี่ขันวิทยาคม ซึ่งเป็นโรงเรียยนในสังกัด กทม.  และขณะนี้ ครม.เห็นชอบให้หน่วยงานต่างๆ นำเทคโนโลยีของ วศ. ไปดำเนินการจัดสร้างพื้นสนามกีฬาให้ขยายวงกว้างทั่วประเทศ ดังนั้น ในด้านเทคโนโลยีของ มอ.           ก็เช่นเดียวกัน เมื่อสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพาราแปรรูปของชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางสตูลได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็จะเป็นความภาคภูมิใจอีกก้าวหนึ่งของสถาบันการศึกษาและเกษตรกรชาวสวนยางภาคใต้ ที่จะไม่ต้องกังวลกับปัญหาราคายางพาราตกต่ำอีกต่อไป 

ที่ผ่านมากระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และ มอ. ได้มีความร่วมมือด้านการวิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยสนับสนุนให้มีการสร้าง “อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้”รองรับกิจกรรมวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม ผ่านระบบการบ่มเพาะธุรกิจเพื่อขยายผลเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อมทั้งเครื่องมือ แล็ป นักวิจัย รองรับการพัฒนาและส่งเสริมภาคเอกชนในภูมิภาคเข้ามาร่วมลงทุนวิจัยพัฒนาโดยอาศัยโครงสร้างพื้นฐานจากภาครัฐให้เกิดประโยชน์ โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ จะดำเนินการก่อสร้างในพื้นที่ตำบลทุ่งรี อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ขณะนี้อยู่ระหว่างประกาศยื่นซองประกวดราคา หลังจากสร้างเสร็จแล้ว มอ.จะเป็นผู้บริหารจัดการและดำเนินงานกิจกรรมของอุทยานฯ นอกจากนี้ เรายังมีศูนย์ประสานงานกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำภูมิภาค ภาคใต้ (ศวภ.3) ทำหน้าที่เป็นหน่วยประสานงานกระทรวงในภูมิภาคที่สามารถเข้าถึงจังหวัด ท้องถิ่น ชุมชน และช่วยรับโจทย์ความต้องการในพื้นที่เพื่อส่งต่อให้กับหน่วยงานต่างๆ ภายใต้กระทรวง นำองค์ความรู้และเทคโนโลยีมาขับเคลื่อนในพื้นที่ได้อีกทางหนึ่งด้วย

****************************

 
ข้อมูลโดย : ประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ข่าวโดย : เทียรทอง ใจสำราญ กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ภาพข่าว : นายภูษิต โพธิ์แสง
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732  โทรสาร 0 2333 3834
E-mail : อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน
Facebook : sciencethailand 
Twitter : sciencethailand 
Call Center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร 1313 
 
 
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป