“TOP TEN INNOVATIVE BUSINESS 2008”
จัดโดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.)
อันดับที่หนึ่ง : “บรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ PLA”…อุตสาหกรรมเพื่ออนาคต Biodegradable Packaging from PLA…..New Wave Industry
รูปแบบการสนับสนุน : สนช. ให้การสนับสนุนในโครงการ “แปลงเทคโนโลยีเป็นทุน”
มูลค่าการลงทุนเริ่มต้น : 1,825,000 บาท
ดำเนินการ : บริษัท โพลีแมททีเรียลเทคโนโลยี จำกัด
สนับสนุนด้านวิชาการ : เป็นการพัฒนาวิจัยภายในองค์กร
การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา :
1. ที่มาและความสำคัญของผลงาน
พลาสติกชีวภาพ เป็นพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ ซึ่งสามารถนำมาใช้เพื่อทดแทนพลาสติกจากปิโตรเคมีในอนาคต ซึ่งอุตสาหกรรมการพลาสติกชีวภาพถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมคลื่นลูกใหม่ ตามมติของคณะอนุกรรมการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในฐานะหน่วยงานเจ้าภาพหลักได้นำเสนอแผนที่นำทางแห่งชาติการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ในระยะเวลา 5 ปี (2551-2555) เพื่อพัฒนาให้ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพของประเทศดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม
สนช. จึงเร่งรัดให้ภาคเอกชนมุ่งพัฒนาโครงการนวัตกรรมเชิงยุทธศาสตร์ด้านอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ โดยเฉพาะพลาสติกชีวภาพชนิดพอลิแลคติกแอซิด (Polylactic acid, PLA) ด้วยการนำศักยภาพด้านวัตถุดิบทางการเกษตรของประเทศไทยมาสร้างให้เกิดอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพขึ้นในประเทศไทยอย่างแข็งแกร่ง เพื่อยึดครองความเป็นผู้นำในภูมิภาคและมีโอกาสที่จะขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ (Bioplastics Hub) อย่างครบวงจรในอนาคต
2. ความเป็นนวัตกรรม
เป็นนวัตกรรมระดับประเทศด้านผลิตภัณฑ์ของเม็ดคอมพาวด์พลาสติกชีวภาพ เพื่อขึ้นรูปด้วยกระบวนการต่างๆ ได้แก่ การฉีดขึ้นรูป (injection) การบีบรีด (calendering) และการขึ้นรูปด้วยความร้อนและความดัน (thermoforming) โดยใช้เทคโนโลยีการพัฒนาสูตรคอมพาวด์พลาสติกชีวภาพโดยการเติมสารเติมแต่งได้แก่ แคลเซียมคาร์บอเนตและแร่ทัลคัม เพื่อเป็นสารเสริมแรงให้กับวัสดุ
3. แนวทางการดำเนินธุรกิจ
บริษัทฯ เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้ บริษัทฯ มุ่งพัฒนาเม็ดคอมพาวด์พลาสติกชีวภาพ พร้อมทั้งผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพเพื่อการผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ชนิดต่างๆ ทั้งนี้ ตลาดเป้าหมายของบริษัทสามารถจำแนกได้เป็น (1) “ผลิตภัณฑ์เม็ดคอมพาวด์พลาสติกชีวภาพ” ซึ่งจะจำหน่ายให้แก่ขึ้นรูปบรรจุภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องสำอาง และ (2) “ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ” จะจำหน่ายให้คู่ค้าทางธุรกิจที่มุ่งสร้างภาพลักษณ์ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
4. ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับมันสำปะหลังได้มากกว่า 10 เท่า ทั้งนี้ เพื่อเป็นโอกาสสำคัญในการเร่งสร้างอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพของประเทศให้เกิดขึ้นได้ทันต่อสถานการณ์ความต้องการของตลาดโลก และยึดครองความเป็นผู้นำในภูมิภาคไปพร้อมกับการสร้างความสามารถด้านเทคโนโลยีของประเทศเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในระยะยาว
อันดับที่สอง : “Good Grace”... สบู่อินทรีย์มาตรฐานโลก
“Good Grace”... World-Class Organic Soap
รูปแบบการสนับสนุน : สนช. ให้การสนับสนุนทางด้าน “นวัตกรรมดี...ไม่มีดอกเบี้ย”
มูลค่าการลงทุนเริ่มต้น : 12,200,000 บาท
ดำเนินการ : บริษัท เชียงใหม่ ออร์แกนนิค แอนด์ สปา จำกัด
สนับสนุนด้านวิชาการ : BioAgriCert
การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา : อยู่ระหว่างดำเนินการ
1. ที่มาและความสำคัญของผลงาน
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติได้ดำเนินการเร่งผลักดันยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์ไปสู่แผนยุทธศาสตร์ระดับชาติตั้งแต่ปี 2549 เรื่อยมา จนกระทั่งเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2551 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในร่างแผนปฏิบัติการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2551 – 2554 และกรอบงบประมาณ 4,326.80 ล้านบาท โดย สนช. ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติให้เป็นอนุกรรมการและเลขานุการของคณะอนุกรรมการบริหารจัดการองค์ความรู้และนวัตกรรม ทั้งนี้เมื่อวิเคราะห์สินค้าเกษตรอินทรีย์ที่มีนวัตกรรมและมีแนวโน้มการเติบโตของตลาด พบว่าสินค้าในกลุ่มเครื่องบำรุงผิวและเครื่องสำอางที่ผ่านมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากลมีศักยภาพสูงในตลาดโลก ซึ่งกระแสดังกล่าวทำให้ทางผู้จัดงานแสดงสินค้าด้านเกษตรอินทรีย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก (BioFach) ณ ประเทศเยอรมนี ต้องจัดอาคารแสดงสินค้าแยกออกมาเฉพาะภายใต้งาน Vivaness เพิ่มเติมจากสินค้าเกษตรอินทรีย์อื่นๆ ดังนั้น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติจึงเห็นแนวโน้มในการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องสำอางด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานสากล ทำให้เกิดแนวความคิดร่วมกับ บริษัท เชียงใหม่ ออร์แกนนิค แอนด์ สปา จำกัด ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากประเทศไทยให้ก้าวไปสู่ตลาดสากล
2. ความเป็นนวัตกรรม
เป็นนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สบู่อินทรีย์ระดับประเทศ โดยจัดว่าเป็นผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเครื่องสำอางรายแรกของประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล ซึ่งผลิตภัณฑ์จะปราศจากสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง ปราศจากสีและกลิ่นสังเคราะห์ โดยผ่านกระบวนการผลิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ได้สบู่ที่มีคุณภาพสูง กล่าวคือ จะไม่เกิดการแตกหัก และมีกลิ่นหอมอยู่ได้ประมาณ 2 ปี โดยไม่เกิดกลิ่นหืนเหมือนสบู่สมุนไพรทั่วไป
3. แนวทางการดำเนินธุรกิจ
บริษัท เชียงใหม่ ออร์แกนนิค แอนด์ สปา จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2548 โดยมีนโยบายที่จะทำการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการดูแลผิว และผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในธุรกิจสปา ที่เป็นเกษตรอินทรีย์ทั้งหมด กล่าวคือ ผลิตภัณฑ์ทุกชนิดจะเน้นการผลิตโดยใช้วัตถุดิบที่ผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์เท่านั้น เริ่มจากการผลิตสบู่อินทรีย์เป็นผลิตภัณฑ์ชนิดแรกของบริษัท จนปัจจุบัน บริษัทฯ สามารถส่งออกสบู่อินทรีย์จำนวนไม่ต่ำกว่า 30,000 ก้อนต่อเดือน โดยคาดว่าภายในปี 2552 จะมียอดการส่งออกไม่ต่ำกว่า 60,000 ก้อนต่อเดือน
4. ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
สามารถส่งออกผลิตภัณฑ์สบู่อินทรีย์ที่มีการรองรับด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ในนามของประเทศไทยสู่ตลาดโลก เช่น สหรัฐอเมริกา อิตาลี ญี่ปุ่น เป็นต้น โดยเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์สบู่ ก่อให้เกิดการพัฒนาต่อยอดในวงกว้างได้ในอนาคต โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพืชน้ำมันอินทรีย์ และสมุนไพรอินทรีย์ นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้กับผลิตภัณฑ์อินทรีย์ของประเทศไทย ภายใต้แผนการประชาสัมพันธ์ “Think Organic, Think Thailand”
อันดับที่สาม : “ZoNoP”...อนุภาคซิงค์ออกไซด์นาโนสำหรับสิ่งทอและเครื่องสำอาง
“ZoNoP”...Zinc Oxide Nanoparticles for Textiles and Cosmetics
รูปแบบการสนับสนุน : สนช. ให้การสนับสนุนทางด้านวิชาการ
มูลค่าการลงทุนเริ่มต้น : 6,500,000 บาท
ดำเนินการ : บริษัท นาโน แมททีเรียลส์ เทคโนโลยี จำกัด
สนับสนุนด้านวิชาการ : ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา : อยู่ระหว่างดำเนินการ
1. ที่มาและความสำคัญของผลงาน
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาประยุกต์ใช้นาโนเทคโนโลยีเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในผลิตภัณฑ์ โดยอนุภาคซิงค์ออกไซด์ในระดับนาโนเมตรจะมีคุณสมบัติต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย และป้องกันรังสียูวี โดยสามารถประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์กันแดด ซึ่งการพัฒนากระบวนการผลิตอนุภาคซิงค์ออกไซด์ในระดับนาโนเมตร จะเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำด้านนาโนเทคโนโลยีที่สำคัญของประเทศไทยในอนาคต ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม
2. ความเป็นนวัตกรรม
เป็นนวัตกรรมระดับประเทศด้านกระบวนการผลิตซิงค์ออกไซด์ในระดับนาโนเมตร โดยอาศัยเทคโนโลยีสเปรย์ไพโรไลซิส ทำให้สามารถผลิตอนุภาคซิงค์ออกไซด์ ที่มีขนาดประมาณ 20-40 นาโนเมตร ทำให้มีคุณสมบัติต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย และป้องกันรังสียูวี
3. แนวทางการดำเนินธุรกิจ
ปัจจุบันบริษัท นาโน แมททีเรียลส์ เทคโนโลยี จำกัด เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ซิงค์ออกไซด์ในระดับนาโนเมตร ซึ่งอนุภาคซิงค์ออกไซค์ที่ผลิตได้นี้มีต้นทุนในการผลิตต่ำกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตส่วนใหญ่หาได้ภายในประเทศ โดยบริษัทฯมีการพัฒนาการใช้ผลิตภัณฑ์ซิงค์ออกไซด์นาโนร่วมกับบริษัทด้านสิ่งทอและเครื่องสำอางต่างๆ เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าและเพิ่มประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องสำอางได้เป็นอย่างดี
4. ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
ปัจจุบันมีการประมาณการมูลค่าการตลาดของผลิตภัณฑ์นาโนเทคโนโลยี จากมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (National Science Foundation, NSF) ประเทศสหรัฐอเมริกา ว่าจะมีมูลค่าการตลาดของผลิตภัณฑ์นาโนเทคโนโลยีทั่วโลกใน พ.ศ. 2558 ถึง 40 ล้านล้านบาท โดยมูลค่าที่เกิดจากการประยุกต์ใช้อนุภาคนาโนทั่วโลกจะมีมูลค่าการตลาดถึง 4 ล้านล้านบาท
อันดับที่สี่ : “ไบโอ อีเดน”...สเต็มเซลล์จากฟันน้ำนม
“Bio Eden”…Stem Cell from Baby Tooth
รูปแบบการสนับสนุน : สนช. ให้การสนับสนุนทางด้านวิชาการ
มูลค่าการลงทุนเริ่มต้น : 5,624,400 บาท
ดำเนินการ : บริษัท ไบโออีเดน เอเชีย จำกัด (มหาชน)
สนับสนุนด้านวิชาการ : บริษัท ไบโออีเดน จำกัด (สหรัฐอเมริกา)
คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา : อยู่ระหว่างดำเนินการ
1. ที่มาและความสำคัญของผลงาน
สเต็มเซลล์ (Stem Cells) เป็นสิ่งที่กำลังอยู่ในความสนใจอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากสเต็มเซลล์ถือได้ว่าเป็นเซลล์แม่ที่สามารถสร้างเป็นเนื้อเยื่อ อวัยวะ และระบบต่างๆ ในร่างกาย ทั้งนี้ สเต็มเซลล์จะมีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตัว คือ สามารถเพิ่มจำนวนและเปลี่ยนสภาพเป็นเนื้อเยื่อชนิดต่างๆ ได้ ดังนั้น จึงได้มีความพยายามในการนำสเต็มเซลล์
ไปใช้เพื่อการรักษาโรคต่างๆ ทั้งนี้ สเต็มเซลล์จะประกอบด้วยมีเซ็นไคมอลสเต็มเซลล์ (mesenchymal stem cells) และฮีมาโทโปติกสเต็มเซลล์ (hematopoietic stem cells; HSC) ซึ่งมีเซ็นไคมอลสเต็มเซลล์นี้เองที่มีความสามารถในการพัฒนาไปเป็นอวัยวะต่างๆ
อนึ่ง ได้มีความพยายามในการจัดเก็บสเต็มเซลล์ที่มีความสดใหม่ เพื่อให้สามารถนำไปใช้เพื่อการรักษาโรคต่างๆ เช่น การเก็บสเต็มเซลล์จากไขกระดูก กระแสโลหิต และเลือดจากสายสะดือของทารก อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการค้นพบว่าภายในเซลล์เนื้อฟัน (dental pulp) ประกอบด้วยมีเซ็นไคมอลสเต็มเซลล์ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในอนาคตได้ ดังนั้น การจัดเก็บสเต็มเซลล์จากฟันน้ำนมและฟันคุดจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก
2. ความเป็นนวัตกรรม
เป็นนวัตกรรมระดับประเทศด้านกระบวนการคัดแยกและการจัดเก็บสเต็มเซลล์ชนิดมีเซ็นไคมอลสเต็มเซลล์ (mesenchymal stem cell) จากฟันน้ำนมและฟันคุด โดยเป็นการนำฟันน้ำนมและฟันคุดมาทำการคัดแยกเนื้อฟัน (dental pulp) และย่อยด้วยเอนไซม์คอลลาจีเนส (collagenase) และทำการคัดแยกสเต็มเซลล์ แล้วจึงนำไปเพาะเลี้ยงเพื่อเพิ่มจำนวนในระยะเวลา 30 วัน หลังจากนั้นจึงนำสเต็มเซลล์ที่เพาะเลี้ยงนี้ไปแช่แข็งในไนโตรเจนเหลว เพื่อเตรียมนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปในวงการแพทย์และทันตแพทย์
3. แนวทางการดำเนินธุรกิจ
บริษัท ไบโออีเดน เอเชีย ดำเนินการให้บริการในการจัดเก็บสเต็มเซลล์จากฟันน้ำนมและฟันคุด เพื่อประโยชน์ของผู้ฝากในอนาคต โดยมีตลาดเป้าหมายอยู่ที่ครอบครัวที่มีบุตรหลานและมีรายได้ต่อครอบครัวอย่างน้อย 800,000 บาทต่อครอบครัว ทั้งนี้ คิดอัตราค่าบริการอยู่ระหว่าง 34,000 – 79,000 บาทต่อซี่ ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะมากน้อยขึ้นกับระยะเวลาในการจัดเก็บสเต็มเซลล์ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังร่วมงานกับมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั้งในและต่างประเทศเพื่อการพัฒนาวิจัยแนวทางการนำสเต็มเซลล์ที่ได้ไปใช้ในการรักษาโรค โดยนับตั้งแต่เริ่มดำเนินกิจการเต็มรูปแบบ มีผู้เข้ารับบริการจัดเก็บสเต็มเซลล์จากฟันแล้วจำนวน 30 ซี่
4. ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
ปัจจุบัน ยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดที่ให้บริการการจัดเก็บสเต็มเซลล์จากฟันในประเทศไทย รวมทั้งในภูมิภาคเอเชีย อย่างไรก็ดี คณะรัฐมนตรีได้กำหนดเป้าหมายส่งเสริมให้ประเทศไทยมีสังคมที่มีสุขภาพดีและเป็นศูนย์กลางสุขภาพของเอเชีย ภายใต้กรอบเป้าหมายในการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพของประเทศไทยซึ่งการดำเนินการดังกล่าว ดังนั้น จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการชักนำให้ชาวต่างประเทศหันมาใช้บริการการจัดเก็บสเต็มเซลล์จากฟันในประเทศไทย โดยโครงการดังกล่าวสามารถสร้างรายได้จากชาวต่างประเทศได้โดยเฉลี่ยปีละประมาณ 10 - 20 ล้านบาทต่อปี
อันดับที่ห้า : “I-MO”…พาหนะส่วนบุคคล 2 ล้อฝีมือคนไทย
“I-MO”… Two Wheeled Personal Vehicles
รูปแบบการสนับสนุน : สนช. ให้การสนับสนุนในโครงการ “แปลงเทคโนโลยีเป็นทุน”
มูลค่าการลงทุนเริ่มต้น : 680,000 บาท
ดำเนินการ : บริษัท ไอ-โมบิลิตี้ จำกัด
สนับสนุนด้านวิชาการ : รศ. ประภาษ อุคคกิมาพันธุ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ รศ. บุญสนอง รัตนสุนทรากุล รองอธิการบดี และอาจารย์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา : -
1. ที่มาและความสำคัญของผลงาน
ปัจจุบันความก้าวล้ำของเทคโนโลยีทำให้มีการผลิตสินค้าที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ความก้าวหน้าของยานพาหนะก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นรถไฮบริดที่ผลิตไฟฟ้าระหว่างการเบรคของรถให้กลับมาเป็นพลังงานที่ใช้ในยามขับขี่ จากตัวอย่างนี้ใช้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ระบบควบคุม ระบบไฟฟ้าและระบบเครื่องกลมาผสมผสานกันอย่างลงตัว ความก้าวหน้าทางวิศวกรรมทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างกับอดีตที่ผ่านมา เดิมหากต้องการเดินทางในระยะใกล้ อาจใช้การเดินด้วยเท้า หรือขับจักรยานไป แต่หากมีพาหนะที่สะอาดไม่ปล่อยมลพิษ แต่สะดวกรวดเร็ว น้ำหนักเบา และขับขี่ง่าย ย่อมจะมีโอกาสทางธุรกิจที่เด่นชัด
2. ความเป็นนวัตกรรม
เป็นนวัตกรรมระดับประเทศ ด้านผลิตภัณฑ์ยานพาหนะสองล้อ ทรงตัวเองอัตโนมัติ วัดความเอียงด้วยเซนเซอร์ควบคุมและสั่งการด้วยระบบคอมพิวเตอร์ฝังตัว ส่งคำสั่งไปยังมอเตอร์ที่ล้อทั้งสอง ทำให้รับรู้คำสั่งการเคลื่อนที่ของ
ผู้ขับขี่ด้วยการโน้มตัวไปด้านหน้าเพื่อเร่งความเร็วและโน้มตัวไปด้านหลังเพื่อหยุดรถ ใช้แหล่งพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ที่ซ่อนไว้ใต้ฐานของรถ สามารถขับขี่ได้ระยะทาง 30 กม. ต่อการประจุไฟ 1 ครั้ง วัสดุที่ใช้เป็นอลูมิเนียมออกแบบตามหลักวิศวกรรมจึงมีน้ำหนักเพียง 25 กิโลกรัม สามารถยกขึ้นใส่ท้ายรถอย่างไม่ลำบาก
3. แนวทางการดำเนินธุรกิจ
หลังจากที่ได้พัฒนารถต้นแบบและได้จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวไปแล้วนั้น จึงเล็งเห็นโอกาสของธุรกิจในอนาคต และได้เปิดบริษัท ไอ-โมบิลิตี้ จำกัด ขึ้นมาเพื่อดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่าย “I-MO” ขึ้นโดยเฉพาะ โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือผู้มีกำลังซื้อสูง เจ้าของโรงงานที่ใช้เพื่อการตรวจงาน หรือใช้เพื่อขับขี่พักผ่อนในสวนสาธารณะและหมู่บ้านขนาดใหญ่ อาจใช้ในงานเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ให้คนนำเสนอขับรถนี้เข้ามาเพื่อดึงความสนใจก็ได้เช่นเดียวกัน ตั้งเป้าไว้ที่ในปี 2552 จะจำหน่ายประมาณ 30 คัน
4. ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
แม้ว่าในช่วงเริ่มต้นอาจจะมียอดขายไม่มากนัก ด้วยความโดดเด่นด้านเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น จึงยากต่อการที่ผู้พัฒนารายใหม่จะเข้ามาแข่งขัน คาดว่าในปีแรกจะเกิดรายได้ประมาณ 30 ล้านบาท และจะขยายตัวต่อเนื่อง ด้วยจุดขายที่ใช้พลังงานสะอาด ไม่มีการปลดปล่อยมลภาวะ และมีความโดดเด่นด้านการใช้งาน ด้วยราคาจำหน่ายที่ไม่สูงมากจึงคาดว่าจะทำให้เกิดธุรกิจนวัตกรรมได้อย่างเข้มแข็ง
อันดับที่หก : “อาหารเสริม DHA” …สาหร่ายขาวสกัดบำรุงสมอง
“DHA Food Supplement”…Algal Extracts for the Brain
รูปแบบการสนับสนุน : สนช. ให้การสนับสนุนในโครงการ “ทุนเครือข่ายวิสาหกิจนวัตกรรม”
มูลค่าการลงทุนเริ่มต้น : 9,441,000 บาท
ดำเนินการ : บริษัท เมษา คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท ควอลิค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
และบริษัท สิทธิพรสมุนไพร จำกัด
สนับสนุนด้านวิชาการ : ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา : อยู่ระหว่างดำเนินการ
1. ที่มาและความสำคัญของผลงาน
กรดโดโคซะเฮกซะโนอิก (docosahexanoic acid; DHA) เป็นหนึ่งในกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายพันธะ(polyunsaturated fatty acids, PUFAs) ในกลุ่มโอเมกา-3 ซึ่งเป็นกรดไขมันชนิดจำเป็นที่มีบทบาทสำคัญต่อพัฒนาการและการทำงานของสมองในทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนถึงทารกแรกเกิด การทำงานของเรตินา และเนื้อเยื่อในระบบสืบพันธุ์ทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่ อีกทั้งยังมีผลในการป้องกันและรักษาอาการความดันโลหิตสูงอันเนื่องมาจากหลอดเลือดหัวใจตีบ ภาวะผนังเส้นเลือดแดงหนาและมีความยืดหยุ่นน้อย การเกิดมะเร็ง และภาวะซึมเศร้า รวมทั้งส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย นอกจากนั้นยังสามาระนำมาใช้ประโยชน์ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและตัวอ่อนของปลาทะเลบางชนิด ตลอดจนเลี้ยงสัตว์เพื่อเพิ่มคุณภาพในตัวผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ เช่น สัตว์ปีก โคและสุกร
สนช. ได้ริเริ่มการพัฒนาโครงการนวัตกรรม “การผลิตกรดโดโคซะเฮกซะโนอิก (DHA) และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มี DHA เป็นส่วนประกอบสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารและอาหารสัตว์” ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือสร้างเป็นเครือข่ายวิสาหกิจนวัตกรรมตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บริษัท เมษา คอ-ปอร์เรชั่น จำกัด บริษัท ควอลิค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัท สิทธิพร สมุนไพร จำกัด เพื่อผลิตและจำหน่าย DHA และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มี DHA เป็นส่วนประกอบสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารและอาหารสัตว์
2. ความเป็นนวัตกรรม
เป็นนวัตกรรมระดับประเทศ ด้านผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตกรดโดโคซะเฮกซะโนอิก (DHA) สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารและอาหารสัตว์ โดยผลิตจากสาหร่ายขาว Schizochytrium sp. ในอาหารเลี้ยงเชื้อชนิดใหม่ที่มีต้นทุนต่ำ
3. แนวทางการดำเนินธุรกิจ
เครือข่ายวิสาหกิจนวัตกรรมการผลิตกรดโดโคซะเฮกซะโนอิก (DHA) และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มี DHA เป็นส่วนประกอบสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารและอาหารสัตว์ ประกอบด้วย บริษัท เมษา คอปอร์เรชั่น จำกัด ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่าย DHA เพียงบริษัทเดียว ในขณะที่ บริษัท ควอลิค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มี DHA เป็นส่วนประกอบสำหรับอาหารสัตว์น้ำ เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารที่มี DHA ที่ได้ นอกจากนี้ บริษัท สิทธิพร สมุนไพร จำกัด เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารที่มี DHA ที่ได้จัดซื้อจากบริษัท เมษา คอปอร์เรชั่น จำกัด เป็นส่วนประกอบสำหรับอาหารสำหรับมนุษย์
4. ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
ปัจจุบัน แหล่งวัตถุดิบในการสกัด DHA จะมาจากน้ำมันปลาทะเล หากแต่ก็มีปริมาณของ DHA ในน้ำมันปลามีอยู่จำกัด (ประมาณ 7-14%) ทำให้ในการผลิตต้องใช้ปลาจำนวนมาก และมลภาวะเป็นพิษเกิดขึ้นในทะเล เช่น การปนเปื้อนโดยสารฆ่าแมลงและโลหะหนัก จึงส่งผลกระทบต่อทั้งคุณภาพและปริมาณของกรดไขมันที่ได้ ดังนั้น การผลิต DHA จากสาหร่าย Schizochytrium sp. ซึ่งสามารถควบคุมปริมาณและคุณภาพของ DHA จึงสามารถนำมาใช้ทดแทนการผลิต DHA จากปลาทะเล และราคาของ DHA ที่ผลิตได้จะต่ำกว่า DHA สกัดได้จากปลาทะเลถึง 30 – 40 % นอกจากนี้ยังเป็นการผลิตที่ใช้วัตถุดิบและเทคโนโลยีภายในประเทศ ทำให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบในประเทศ และสามารถทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศได้อย่างมาก
อันดับที่เจ็ด : “ไอ-สปา”…อ่างอาบน้ำอัจฉริยะ
“i-SPA” …Intelligent Bathtub
รูปแบบการสนับสนุน : สนช. ให้การสนับสนุนในโครงการ “นวัตกรรมดี...ไม่มีดอกเบี้ย”
มูลค่าการลงทุนเริ่มต้น : 30,000,000 บาท
ดำเนินการ : บริษัท บาธรูม ดีไซน์ จำกัด
สนับสนุนด้านวิชาการ : -
การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา : อยู่ระหว่างดำเนินการ
1. ที่มาและความสำคัญของผลงาน
กลุ่มอุตสาหกรรมรายสาขาด้านการออกแบบและแก้ปัญหา (design and solutions) ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ต้องการผลักดันและส่งเสริมให้ประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์หรือตราสินค้าให้เป็นที่รู้จักในตลาดโลกด้วยการออกแบบ ซึ่งแนวคิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วย “การออกแบบเชิงนวัตกรรม” นั้นเป็นการผสมผสานองค์ประกอบด้วยกัน 2 ส่วนคือ ส่วนการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ (creative design) และการออกแบบเชิงวิศวกรรม (engineering design) เพื่อให้เกิดการผสมผสานทั้งงานศิลปะและเทคโนโลยีอย่างลงตัว สำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์อ่างอาบน้ำอัจฉริยะให้ออกสู่ตลาดโลกอย่างประสบความสำเร็จนั้นต้องใช้องค์ความรู้และความสามารถในหลากหลายสาขา เช่น ความรู้ในส่วนเทคโนโลยี ความต้องการของตลาดและพฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งทาง สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ได้ร่วมรังสรรค์และพัฒนาโครงการจนได้อ่างอาบน้ำอัจฉริยะ “i-SPA” ทั้งนี้การออกแบบผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ยังได้รับรางวัล Reddot Design Award ในปี 2551 และ รางวัล Design Innovation Contest, DIC2008 ด้วย
2. ความเป็นนวัตกรรม
เป็นนวัตกรรมระดับประเทศ ด้านผลิตภัณฑ์อ่างอาบน้ำ ที่ใช้ วัสดุอะครีลิกโปร่งแสงเพื่อให้แสงจากหลอด LED ส่องผ่าน โดยสามารถควบคุมรูปแบบของแสง เพื่อเพิ่มบรรยากาศในการอาบน้ำ รวมทั้งการนำ เซ็นเซอร์แบบสัมผัส มาควบคุมและสั่งการทำงานของระบบอ่างอาบน้ำ เพื่อความสะดวก ปลอดภัยขณะใช้งาน พร้อมทั้งมีการออกแบบอ่างอาบน้ำให้ได้ตามหลักการยศาสตร์ (Ergonomic) ด้วย
3. แนวทางการดำเนินธุรกิจ
บริษัท บริษัท บาธรูม ดีไซน์ จำกัด มีรูปแบบการดำเนินธุรกิจหลักคือ เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสุขภัณฑ์และเครื่องใช้ในห้องน้ำหลากหลายดีไซน์ มีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 30 โดยส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเซีย และยุโรป อีกร้อยละ 70 จำหน่ายภายในประเทศให้กับธุรกิจโรงแรม การท่องเที่ยว ธุรกิจสปาและกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้แบรนด์ “i-SPA”
4. ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
อุตสาหกรรมการผลิตสุขภัณฑ์และเครื่องใช้ในห้องน้ำทั่วโลกเป็นธุรกิจที่มีความต้องการผลิตภัณฑ์อ่างอาบน้ำ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 140,000 ล้านบาท ส่วนตลาดในประเทศไทยมีมูลค่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งโครงการนี้ก่อให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ ชิ้นส่วนที่ต่อเนื่องสำหรับนำมาประกอบเป็นอ่างอาบน้ำและเครื่องใช้ในห้องน้ำ ซึ่งก่อให้เกิดการลงทุนไม่ต่ำกว่า 30 – 50 ล้านบาท และสามารถสร้างให้เกิดรายได้ไม่เฉลี่ย 100 – 300 ล้านบาทต่อปี
อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการสร้างตราสินค้าอ่างอาบน้ำและเครื่องสุขภัณฑ์สัญชาติไทยภายใต้แบรนด์ “i-SPA”
อันดับที่แปด : “Osiris” ...เครื่องสำอางจากผงไหม
“Osiris” …Cosmetics from Silk Sericin
รูปแบบการสนับสนุน : สนช. ให้การสนับสนุนด้านการประสานงานด้านวิชาการ
มูลค่าการลงทุนเริ่มต้น : 3,000,000 บาท
ดำเนินการ : บริษัท เนเจอร์แม๊กส์ จำกัด
สนับสนุนด้านวิชาการ : กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ
การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา : -
1. ที่มาและความสำคัญของผลงาน
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการยกระดับนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ธรรมชาติของประเทศไทยให้มีการผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์หรือตราสินค้าให้เป็นที่รู้จักในตลาดโลก “ผงไหม” จึงเป็นสารสกัดจากไหมไทยที่มีปริมาณกรดอะมิโนที่สำคัญ 18 ชนิด จึงผลิตภัณฑ์ธรรมชาติหนึ่งที่มีคุณสมบัติโดดเด่นที่มีการศึกษาวิจัยจำนวนมากและเป็นยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ สำนักงานฯ จึงร่วมกับบริษัท เนเจอร์แม๊กส์ จำกัด สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ผงไหมในกลุ่มของเครื่องสำอาง และสนับสนุนให้เกิดธุรกิจนวัตกรรมรูปแบบใหม่ที่มีบนฐานขององค์ความรู้ อันเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ภายใต้ตราสินค้า “Osiris” ให้เป็นที่ยอมรับในระดับโลก
2. ความเป็นนวัตกรรม
เป็นนวัตกรรมระดับประเทศด้านผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากผงไหมซิริซิน (Sericin) ที่ผ่านกระบวนการสกัดด้วยความร้อนและทำแห้ง (spray dry) ที่ทันสมัย และได้มาตรฐานสากล อีกทั้งยังผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อด้วยรังสีจากสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ทำให้ผงไหมซิริซินที่ได้มีความบริสุทธิ์สูง ปราศจากสารและโลหะหนักตกค้าง และละลายน้ำได้ 100% จึงเหมาะสำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง
3. แนวทางการดำเนินธุรกิจ
บริษัท เนเจอร์แม๊กส์ จำกัด มีธุรกิจและรูปแบบการดำเนินธุรกิจหลักคือ จำหน่ายผลิตภัณฑ์ธรรมชาติเพื่อสุขภาพ ที่ประกอบธุรกิจในลักษณะเครือข่ายหลายชั้น หรือเอ็มแอลเอ็ม และได้รับอนุญาตสถานประกอบการธุรกิจขายตรงตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พศ. 2545 จากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)
4. ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
อุตสาหกรรมเครื่องสำอางเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าการตลาดสูงถึงกว่า 4,500 ล้านบาท โดยความต้องการผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมจากสารสกัดธรรมชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โครงการนี้จึงสามารถเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ธรรมชาติจากผงไหมบนฐานขององค์ความรู้ในกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางมาตรฐานสากล
อันจะก่อให้เกิดการรายได้ในห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ได้ไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการสร้างตราสินค้าเครื่องสำอางผงไหมสัญชาติไทยภายใต้แบรนด์ “Osiris” อีกด้วย
อันดับที่เก้า : “เค.ยู. แวกซ์”...สารชีวภาพเคลือบผิวผลไม้
“KU WAX”….Bio-Compound for Fruit Coating
รูปแบบการสนับสนุน : สนช. ให้การสนับสนุนในโครงการ “แปลงเทคโนโลยีเป็นทุน”
มูลค่าการลงทุน : 1,545,000 บาท
ดำเนินการ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด เค.ยู. แว๊กซ์
สนับสนุนด้านวิชาการ : ภาควิชาพัฒนาผลิตภัณฑ์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา : อยู่ระหว่างดำเนินการ
1. ที่มาและความสำคัญของผลงาน
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ได้ให้ความสำคัญของการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ และเพิ่มการแข่งขันในตลาดโลก โดยเฉพาะการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวของผลไม้ จึงได้ริเริ่มพัฒนาโครงการสารชีวภาพเคลือบผิวผลไม้ KU WAX เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาผลไม้ ช่วยลดการสูญเสียน้ำหนักจากการคายน้ำและลดการหายใจของผลไม้ รวมทั้งสามารถเพิ่มความมันเงาของผิวผลไม้ โครงการดังกล่าวเกิดจากความร่วมมือของ ห้างหุนส่วนจำกัด เค.ยู.แว๊กซ์ และ รศ.ดร.อนุวัฒน์ แจ้งชัด ภาควิชาพัฒนาผลิตภัณฑ์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นตัวอย่างของการพัฒนาธุรกิจฐานความรู้
2. ความเป็นนวัตกรรม
เป็นนวัตกรรมระดับประเทศด้านผลิตภัณฑ์สารเคลือบผิวผลไม้สดครั้งแรกของประเทศไทย โดยผลิตจาก
ยางจากครั่ง และสารช่วยเพิ่มความคงตัว และใช้เทคโนโลยีอิมัลชั่นในการผสมเพื่อให้ส่วนประกอบมีความหนืด และมีความคงตัวที่เหมาะสม ไม่แยกชั้นในระหว่างการเก็บรักษา มีคุณสมบัติเป็นเยื่อเลือกผ่านสำหรับก๊าซและไอน้ำ ทำให้ช่วยลดการสูญเสียน้ำหนักจากการคายน้ำและลดการหายใจของผลไม้ รวมทั้งเพิ่มความมันเงาของผิวผลไม้
3. แนวทางการดำเนินธุรกิจ
หจก. เค.ยู. แว๊กซ์ เป็นบริษัทขยายมาจากฐานธุรกิจเดิมที่เกี่ยวกับการจำหน่ายสารเคมีในอาหาร ดังนั้นจึงมีความชำนาญ มีความรู้ และวิสัยทัศน์ นอกจากนี้บริษัทยังมีองค์ความรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สารชีวภาพเคลือบผิวผลไม้ให้เหมาะสมกับผลไม้แต่ละชนิดได้ ซึ่งในการดำเนินการในปัจจุบันได้มีการแจกตัวอย่างให้กับเกษตรกรหรือโรงงานผลิตส้มส่งออกไปยังต่างประเทศแล้วกว่า 1,000 ลิตร เพื่อทดสอบตลาดและแนะนำสินค้าคาดว่าในปี 2552 จะสามารถเจาะตลาดผลไม้เช่น ส้ม ส้มโอ มะม่วง และมะยงชิด โดยจัดจำหน่ายในประเทศราคา 150 บาท/ลิตร และมีเป้าหมายส่งออกจำหน่ายในราคา 400 บาท/ลิตร
4. ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
ในปัจจุบันผลิตภัณฑ์สารเคลือบผิวผลไม้สดที่มีใช้อยู่ในประเทศ ทั้งหมดนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาขายปลีกในประเทศตั้งแต่ 150–300 บาทต่อลิตร ขึ้นอยู่กับคุณภาพและประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ ในขณะที่ปี 2550 ประเทศไทยมีผลผลิตส้ม 760,000 ตัน ส่งออก 13,000 ตัน ผลผลิตส้มโอ 300,000 ตัน ส่งออก 10,000 ตัน ซึ่งส้มและส้มโอเป็นผลไม้ที่มีการใช้สารเคลือบผิวผลไม้สดมากที่สุด
อันดับที่สิบ : "ภูตะวัน" ...ปุ๋ยชีวภาพมาตรฐานเกษตรอินทรีย์
“Phutawan”...Bio-Fertilizer for Organic Farming
รูปแบบการสนับสนุน : สนช. ให้การสนับสนุนในโครงการ “วิชาการ”
มูลค่าการลงทุนเริ่มต้น : 305,790 บาท
ดำเนินการ : บริษัท ภูธนเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด
สนับสนุนด้านวิชาการ : สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา : อยู่ระหว่างดำเนินการ
1. ที่มาและความสำคัญของผลงาน
ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา มีการนำเชื้ออีเอ็ม (Effective Microorganisms, EM) มาใช้เพื่อผลิตปุ๋ย ทำให้ไม่สามารถควบคุมคุณภาพและขาดหลักการทางวิชาการ เนื่องจากไม่ทราบแหล่งที่มา จำนวนเชื้อ ชนิดของเชื้อ ก่อให้เกิดการปนเปื้อนของเชื้อที่เป็นทั้งที่เป็นอันตรายและไม่อันตราย จึงทำให้การใช้มักไม่ได้ผล ดังนั้น สนช. จึงได้ริเริ่มการพัฒนาโครงการนวัตกรรม “การผลิตปุ๋ยชีวภาพจากเชื้อจุลินทรีย์กลุ่มตรึงไนโตรเจนได้อย่างอิสระ” ซึ่งเป็นปุ๋ยชีวภาพจากเชื้อจุลินทรีย์กลุ่มตรึงไนโตรเจนได้อย่างอิสระ (non-symbiotic หรือ free-living nitrogen fixation) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียเหล่านี้มีประสิทธิภาพสูงในการตรึงไนโตรเจนจากอากาศลงสู่ดิน และยังมีเชื้อจุลินทรีย์ในกลุ่มจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงนี้สามารถตรึงไนโตรเจนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถสังเคราะห์แสงได้
2. ความเป็นนวัตกรรม
เป็นนวัตกรรมระดับประเทศด้านผลิตภัณฑ์ปุ๋ยชีวภาพที่มีส่วนประกอบของเชื้อจุลินทรีย์กลุ่มตรึงไนโตรเจนได้อย่างอิสระ 3 สายพันธุ์ ได้แก่ Azotobacter sp., Azospirillium sp. และ Rhodobacter sp. ซึ่งประสิทธิภาพสูงในการตรึงไนโตรเจนลงในดิน
3. แนวทางการดำเนินธุรกิจ
บริษัทฯ จัดได้ว่าเป็นผู้ผลิตปุ๋ยชีวภาพจากเชื้อจุลินทรีย์กลุ่มตรึงไนโตรเจนได้อย่างอิสระ รายแรกของประเทศที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานของ IFOAM ในส่วนปัจจัยการผลิตที่อนุญาตให้ใช้ในการผลิตอินทรีย์ โดยมีกลุ่มตลาดเป้าหมายในพื้นที่เกษตรอินทรีย์ โดยช่องทางการจำหน่ายจะใช้หาตัวแทนโดยการทำตลาดแบบขายตรงถึงมือผู้บริโภคหรือขายเข้าโครงการภาครัฐตามกลุ่มงบประมาณ อบต. กองทุนหมู่บ้าน งบประมาณเกษตรอินทรีย์ตามนโยบายของรัฐบาล และเกษตรกรรายใหญ่ที่มีพื้นที่เพาะปลูกมาก
4. ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
ปัจจุบันมูลค่าตลาดในประเทศของปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพมีมูลค่าสูงถึง 300,000 ล้านบาทต่อปี และมูลค่าของเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยมีมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี ดังนั้นธุรกิจของภูตะวันปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานจากองค์กรรับรองมาตรฐานระดับโลก IFOAM ในด้านเป็นปัจจัยการผลิตที่อนุญาตให้ใช้ในการผลิตพืชอินทรีย์ และเป็นปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพที่ผลิตจากเชื้อจุลินทรีย์กลุ่มตรึงไนโตรเจนได้อย่างอิสระ จึงมีศักยภาพการเติบโตสูงในตลาดปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพและตลาดของเกษตรอินทรีย์ทั้งในและต่างประเทศ