นครราชสีมา (22-23 มกราคม 2559) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผุดโครงการ “สะแกราชโมเดล” ระดมคณะทำงานบูรณาการจัดทำแผนพัฒนาแหล่งสงวนชีวมณฑล โดยใช้สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช จ.นครราชสีมา เป็นพื้นที่ต้นแบบในการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) บนพื้นฐาน “ประชารัฐ” บริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างสมดุลและยั่งยืน นำร่องจัดงานสัมมนา “เรียนรู้ความสำเร็จในการรักษาผืนป่าอย่างยั่งยืน” มุ่งขับเคลื่อนการดำเนินงานเป็นรูปธรรม
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีนโยบายในการบูรณาการและเชื่อมโยงงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในมิติต่างๆ ได้แก่ ด้านการวิจัยเชิงพาณิชย์ SMEs ด้านการวิจัยเชิงสังคม-ชุมชน ด้านโครงสร้างพื้นฐานและบริการ ด้านการพัฒนากำลังคน และด้านทรัพยากร เพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิรูปวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของประเทศ รวมทั้งสนับสนุนนโยบายของคณะรัฐมนตรีเรื่อง “การพัฒนาและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยพัฒนา และนวัตกรรม เพื่อผลักดันการดำเนินงานให้บรรลุผลสัมฤทธิ์”
สำหรับการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาใช้ในการดำเนินงานเพื่อทรัพยากร มีสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.) และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในรูปแบบ “คณะทำงานบูรณาการสะแกราชโมเดลในพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช จ.นครราชสีมา” ซึ่งมีแผนงานในการขับเคลื่อนการดำเนินงานจัดทำแนวทางปฏิบัติที่ดี หรือ Best Practice ในการบริหารทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศป่าไม้อย่างยั่งยืน ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยศึกษาปัจจัยความสำเร็จจากพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช
“ป่าสะแกราช ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นป่าแห่งเดียวของประเทศไทย ที่ไม่เคยถูกบุกรุกมาตลอด 48 ปีที่ผ่านมา และองค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้รับรองให้ป่าแห่งนี้เป็น "พื้นที่สงวนชีวมณฑล (Biosphere Reserve)" ของโลก จำนวน 1 ใน 7 แห่งของเอเชีย และเป็นแห่งแรกของประเทศไทย เมื่อปี 2519 กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จวบปัจจุบัน ได้ใช้เทคโนโลยีดาวเทียมสำรวจทรัพยากรเฝ้าดูพื้นที่ป่าสะแกราชมาตลอด 30 ปีที่ผ่านมา พบว่า พื้นที่ป่าสะแกราชยังคงอยู่อย่างสมบูรณ์ และจัดเตรียมการขยายผลความสำเร็จนี้ไปยังป่าอื่นๆ ที่มีศักยภาพ โดยจะชี้เป้าของพื้นที่ที่มีศักยภาพจากการเฝ้าดูพื้นที่ป่าต่างๆ ทั้งประเทศได้ และนำความรู้ที่เกิดขึ้นบนพื้นฐานความร่วมมือระหว่างรัฐและประชาชนไปขยายผล เพื่อการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป” ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ กล่าว
สำหรับพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช จ.นครราชสีมา ดูแลรับผิดชอบโดย สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช หน่วยงานภูมิภาคของ วว. มีหลักการบริหารพื้นที่ภายใต้เงื่อนไขของพื้นที่สงวนชีวมณฑล โดยจัดโซนออกเป็น 3 ส่วนบนพื้นที่รวมกันทั้งสิ้นราว 1 ล้านไร่ ของ อ.วังน้ำเขียว และ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา ได้แก่ 1.พื้นที่แกนกลาง (Core area) 2.แนวกันชน (Buffer zone) ซึ่งทั้งสองพื้นที่ไม่มีประชาชนอาศัยอยู่ เป็นส่วนที่สร้างแหล่งงานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ โดยสร้างผลงานวิจัยแล้วกว่า 500 ชิ้น และ 3.แนวเขตรอบนอก (Transition zone) มีผู้คนอาศัยอยู่ ซึ่ง วว. บริหารจัดการพื้นที่ส่วนนี้โดยได้นำความรู้มาส่งเสริมอาชีพ ถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูก-ขยายพืชป่ากินได้โดยใช้แม่พันธุ์จากป่าสะแกราช นำมาสู่การอยู่ร่วมกันของคนและป่าอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ป่าสะแกราชถือเป็น “ธนาคารพันธุกรรมพืชและสัตว์” (Bank of Biodiversity) ซึ่งเป็นต้นแบบความสำเร็จการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะระบบนิเวศป่าไม้ได้อย่างเป็นรูปธรรม และนำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชน อีกทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติในเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพที่สมบูรณ์แบบ เนื่องจากเป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์สัตว์นานาชนิด อาทิ เลียงผา เก้ง หมูป่า ไก่ฟ้าพระยาลอ ไก่ป่า ไก่ฟ้าหลังเขียว พระยากระรอกสีดำ กวางป่า เป็นต้น และอุดมสมบูรณ์ไปด้วยผักพื้นบ้านนานาพันธุ์ อาทิ ผักกูด ผักหวาน กระถิน เห็ดนานาชนิด โดยเฉพาะเห็ดโคน รวมถึง ‘ลูกดิ่งหรือสะตออีสาน’ ซึ่งเป็นพืชยอดฮิตของผู้นิยมรับประทานผักอีกด้วย และเป็นพืชนำร่องโครงการรณรงค์ปลูกพืชท้องถิ่นกินได้เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ แก่ชุมชนและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยรวม
ประสานงานได้ที่ กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail :
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน
Facebook : sciencethailand
Call Center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร.1313