กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. ร่วมกับบริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT และสมาคมสมองกลฝังตัวไทย หรือ TESA จัดงานแถลงข่าวความร่วมมือและเปิดตัวศูนย์นวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ “IOT City Innovation Center” เพื่อพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมบนพื้นฐานเทคโนโลยี Internet of Thing (IOT) ด้วยการกระตุ้น สนับสนุน ส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรม และผลักดันธุรกิจนวัตกรรมสำหรับผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ให้มีขีดความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นสำหรับการบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับมาตรฐานสากล พร้อมทั้งลงนามความร่วมมือ "การพัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการนวัตกรรมด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ" โดยมี ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สนช. พันเอก ผศ.ดร. สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการบริษัท และรักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ ดร.วีระเชษฐ์ ขันเงิน นายกสมาคมสมองกลฝังตัวไทย เป็นผู้แทนลงนาม ณ อาคารอุทยานนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า โครงการศูนย์นวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ เป็นโครงการที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการสร้างสมดุลเศรษฐกิจของประเทศ โดยมุ่งเน้นการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาวผ่านการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ ด้วยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาเป็นตัวขับเคลื่อนแนวทางการบริหารจัดการเมืองผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร เพื่อพัฒนาท้องถิ่นสู่ความเป็นเมืองเศรษฐกิจ และกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ เพื่อสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศ และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้เพิ่มมากขึ้น ตลอดจนการสร้างขีดความสามารถด้านนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์และบริการของผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการรายใหม่ (Startups) ให้มีความเข้มแข็งผ่านกลไกการสนับสนุนทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการเงินของ สนช.
![]() |
![]() |
|
![]() |
ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สนช. กล่าวว่า “การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City หรือ IOT City) เป็นแนวทางการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน เพื่อเปลี่ยนเมืองให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ ช่วยพัฒนาเมืองให้น่าอยู่อาศัย พร้อมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เช่น เทคโนโลยี Internet of Thing (IOT) เทคโนโลยีระบบประมวลผลแบบคลาวด์ (Cloud Computing) และเทคโนโลยีการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ทั้งนี้ สนช. ได้ริเริ่มโครงการ "ศูนย์นวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ" ขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจากบริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และสมาคมสมองกลฝังตัวไทย เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการนวัตกรรมรายใหม่ในอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการกระตุ้น สนับสนุน ส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรม และผลักดันธุรกิจนวัตกรรมสำหรับผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการสำหรับการบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะให้ได้รับการยอมรับระดับสากล ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวประกอบด้วย 3 แผนงาน ได้แก่ การสร้างระบบนิเวศนวัตกรรม การพัฒนาธุรกิจนวัตกรรม และการพัฒนาเมืองหรือพื้นที่ต้นแบบ โดยตั้งเป้าในการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาการทำธุรกรรมกับพลเมืองในรูปแบบดิจิตอลมากขึ้น โดยเฉพาะการบริหารจัดการเมืองด้านการแพทย์และสาธารณสุข การท่องเที่ยว ระบบขนส่งและโลจิสติกส์ ทั้งนี้ สนช. คาดว่าภายใน 1 ปี จะมีผู้เข้าใช้บริการ 6,000 คน และมีผู้เข้าอบรมกว่า 1,000 คน รวมถึงการสนับสนุนทางด้านการเงินเพื่อศึกษาและพัฒนารูปแบบธุรกิจนวัตกรรม 100 ราย และเงินสนับสนุนสำหรับการสร้างต้นแบบ 50 ราย เกิดการจ้างงาน 500 คน เกิดการลงทุน 1,500 ล้านบาท และสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 5,000 ล้านบาท/ปี
![]() |
![]() |
พันเอก ผศ.ดร. สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการบริษัท และรักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT กล่าวว่า "CAT สนับสนุนศูนย์นวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ "IOT City Innovation Center" โดยเชื่อมต่อโครงข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมที่รวดเร็วมีประสิทธิภาพและเสถียรภาพสูง ทั้งระบบอินเทอร์เน็ตไวไฟ ระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง ระบบ IT Security บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ my ฯลฯ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ศูนย์นวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ ฯ มีความพร้อมของระบบไอทีครบวงจรและสามารถรองรับการทำงานของกลุ่มผู้ประกอบการนวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ประกอบการนวัตกรรมในโครงการของ " IOT City Innovation Center" โดยเฉพาะกลุ่ม Start Ups จะได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากเทคโนโลยีสื่อสารบนโครงข่ายของ CAT ไม่ว่าการใช้งานอินเทอร์เน็ตและการทำพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ซึ่งเชื่อว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการได้สร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมคุณภาพ และนำไปสู่การพัฒนาประเทศในรูปแบบของเมืองอัจฉริยะได้อย่างไม่มีขีดจำกัด"
|
![]() |
ด้าน ดร.วีระเชษฐ์ ขันเงิน นายกสมาคมสมองกลฝังตัวไทย หรือ TESA กล่าวว่า "สมาคมฯ มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และไอซีที ทั้งด้านพัฒนาบุคลากรจากภาคการศึกษาเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม การพัฒนาด้านเทคโนโลยีระบบสมองกลฝังตัวและเทคโนโลยี Internet of Thing (IOT) โดยร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาด้านการตลาดสู่ต่างประเทศ นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังได้ดำเนินการพัฒนาเครือข่ายผู้ประกอบการภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างโอกาสให้เกิดการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมร่วมกันในอนาคต ปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 5,000 ราย ซึ่งธุรกิจนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจะเป็นตัวเร่งในการขับเคลื่อนธุรกิจให้กับอุตสาหกรรมอื่น เช่น ระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมการผลิต และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศโดยรวม สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้สมาคมฯ จะสนับสนุนและส่งเสริมด้านการบ่มเพาะธุรกิจนวัตกรรมให้แก่ผู้ประกอบการนวัตกรรมและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรม โดยจัดกิจกรรมให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีเชิงลึกในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นตามมาตรฐานสากล การพัฒนารูปแบบธุรกิจเพื่อออกสู่ตลาดต่างประเทศได้ นอกจากนี้จะร่วมมือกับ สนช. และ กสท. เป็นผู้นำในการจัดงาน Thailand IOT and Smart City Forum เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนาโซลูชั่นทางด้าน Smart City หรือ City Innovation ของอาเซียน"
|
![]() |
ข่าว/ถ่ายภาพ : ปราโมทย์ ป้องสุธาธาร กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทร. 02 333 3728-3732 โทรสาร 02 333 3834
E-mail :
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน
Facebook : sciencethailand