กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวสารหน่วยงาน รัฐมนตรีกระทรวงวิทย์ฯ มอบรางวัล สุดยอดผลิตภัณฑ์เชิงนิเวศน์เศรษฐกิจ 2009

รัฐมนตรีกระทรวงวิทย์ฯ มอบรางวัล สุดยอดผลิตภัณฑ์เชิงนิเวศน์เศรษฐกิจ 2009

พิมพ์ PDF

           (7 สิงหาคม 2552) ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานมอบรางวัลการประกวดออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงนิเวศน์เศรษฐกิจแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 2 ประจำปี 2552 (Eco Design 2009) จัดโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ เครือข่ายการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจไทย (TGDN), กระทรวงอุตสาหกรรม ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) สำนักนายกรัฐมนตรี ณ ลาน Autrium 1-2 ศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์

           ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การจัดประกวดออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงนิเวศน์เศรษฐกิจแห่งประเทศไทย (EcoDesign 2009) มุ่งหวังให้ทุกคนตระหนักและห่วงใยเกี่ยวกับปัญหาโลกร้อน ซึ่งปัจจุบันทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้จากการจัดประกวดได้เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกระดับส่งผลงานประกวด ตั้งแต่ระดับนักเรียน นักศึกษา นักออกแบบอิสระ และประชาชนทั่วไป รวมถึงภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม โดยผลงานที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายกว่า 30 ผลงาน แสดงให้เห็นถึงการพัฒนา ขีดความสามารถ และความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีที่ก้าวไกลมากขึ้นของคนไทย โดยเฉพาะความรู้เรื่องการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจที่ครบวงจรและมีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งนอกจากจะมีเรื่องของรูปลักษณ์ และความสวยงามแล้ว ยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถผลิตได้จริง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

          การจัดออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงนิเวศน์เศรษฐกิจฯ ในครั้งนี้ ยังสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่มุ่งมั่นในการสร้างสังคมอุดมปัญญา และสร้างระบบโดยใช้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญ เพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาวิทยาการใหม่ๆ ที่เหมาะสม พร้อมนำมาใช้การแก้ปัญหา พัฒนาประเทศในแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและแนวทางอื่นๆ ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอก

          รศ. ดร. วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ  กล่าวว่า การจัด Eco Design 2009 ชิงถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีในปีนี้ อยู่ภายใต้หัวข้อ “ลดโลกร้อนด้วยการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Reduce Global Warming with Eco Design)” โดยจุดเด่นของการประกวด Thailand Eco Design Award อยู่ที่กระบวนการจัดประกวดที่มุ่งเน้นการให้ความรู้และการใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ โดยมีการอบรมให้ความรู้ และการสนับสนุนในเรื่องเทคนิคและเครื่องมือเพื่อบ่งบอกความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งผลงานจะต้องสามารถแสดงให้เห็นถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอดวงจรของผลิตภัณฑ์ และสามารถนำมาผลิตได้จริง โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการผลิต จนถึงกระบวนการการทำลาย ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรางวัลจะต้องสื่อถึงแนวคิดดังกล่าวได้อย่างครบถ้วนและสมบูรณ์ที่สุด โดยได้รับการพิจารณาตัดสินจากคณะกรรมการในแวดวงต่างๆ ถึง 3 ครั้ง ตั้งแต่เป็นร่างแนวคิดผลงาน (Concept Paper)  จนถึงรอบสุดท้ายที่ต้องพัฒนาเป็นผลงานจริงแสดงในรอบชิงชนะเลิศในวันที่ 7 สิงหาคม 2552

 

          สำหรับในปีนี้ มีผู้สนใจส่งผลงานเข้าร่วมประกวด 356 ผลงาน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 38% แสดงให้เห็นว่า ปัจจุบันคนไทยใส่ใจปัญหาภาวะโลกร้อนมากขึ้น รวมถึงมีความรู้ความสามารถในการออกแบบผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น โดยผลการประกาศรางวัล มีดังนี้

         ประเภทที่ 1 นักเรียนระดับมัธยมศึกษา 
           รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ผลงานด้ามตะเกียบ จากทีม เด็กสร้าง โรงเรียนปลาปากวิทยา     และ  ผลงานระบบเก็บแก๊สชีวภาพ จากทีม chumphol 1 โรงเรียนชุมพลโพนพิสัย 
           รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ไม่มีผู้ได้รับรางวัล
           รางวัลชมเชย ได้แก่ ทีม Wonder Pot จากทีม Wonder Girls โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และ ผลงาน ถ่านใบไม้ลดโลกร้อน จากทีม ถ่านใบไม้ โรงเรียนปางศิลาทองศึกษา

        ประเภทที่ 2 นักศึกษาระดับอนุปริญญา ปริญญาตรี
          รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ผลงาน Plantcil sharpener จากทีม illusionist จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
            รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ผลงาน green wall จาก ณัฐมาน ธเนศนิตย์
            รางวัลชมเชย ได้แก่ ผลงาน leratex : socially responsible leatherlike จากทีม care-for-green มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และผลงาน ECO Toothpaste จากทีมเนชะ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น

        ประเภทที่ 3 นักออกแบบอิสระ และประชาชนทั่วไป
             รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ไม่มีผู้ได้รับรางวัล
             รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ไม่มีผู้ได้รับรางวัล
            รางวัลชมเชย ได้แก่ ผลงาน วัสดุคลุมดินจากเส้นใยธรรมชาติและวัสดุเหลือใช้ จากทีม ขุนเขาและสายน้ำ ผลงาน Emergency toilet จากทีม pdpd และ ผลงานบรรจุภัณฑ์มะม่วงสดจากเยื่อกระดาษขึ้นรูปเพื่อการขนส่งและขายปลีก จาก ปพุทธ นิ่มเชื้อ

         ประเภทที่ 4 ภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม
           รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ผลงานกระถางย่อยสลายได้สำหรับปลูกต้นกระดาษ จาก บริษัท ดี. เอ. รีเซิร์ช เซ็นเตอร์จำกัด ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 
           รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ผลงาน Eco-concrete จาก บริษัทรุ่งเรืองแอ็ดมินนิสเตรชั่น แอนด์ แมนเนจเม้น จำกัด ร่วมกับ มหาวิยาลัยเกษตรศาสตร์
           รางวัลชมเชย ไม่มีผู้ได้รับรางวัล

           รางวัลพิเศษ Popular Vote ได้แก่ ผลงาน Emergency toilet จากทีม pdpd

          การจัดงานในครั้งนี้ ได้มีการแสดงผลงานนิทรรศการผู้เข้ารอบสุดท้าย ณ บริเวณลานจัดกิจกรรม โซนเอ  เทรียม 1 ตั้งแต่วันที่ 7 จนถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2552 ซึ่งผลงานที่นำออกแสดงในครั้งนี้ จะแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของคนไทย ในการสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

 


เขียนข่าวโดย : สุจิรัส สังข์ทอง พนักงานประชาสัมพันธ์
ภาพข่าวโดย : สุนิสา ภาคเพียร นายช่างภาพ
ตรวจข่าวโดย : วลัยพร ร่มรื่น นักประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
 

 
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป