ดร. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แถลงข่าวเปิดตัวโครงการ iTAP Big Impact ซึ่งเป็นโครงการใหญ่ที่สร้างผลกระทบวงกว้างให้กับประเทศ เพื่อมุ่งเพิ่มกำไรให้กับเอสเอ็มอี ช่วยประหยัดต้นทุนในการใช้พลังงานที่เห็นได้ผลชัดเจนทันที จากการยกระดับเทคโนโลยีในภาคการผลิตหลักที่สำคัญระดับมหภาคของประเทศ ได้แก่ การสีข้าว การเลี้ยงไก่ และการอบยางแผ่นรมควัน ณ ห้องพิมานแมน โรงแรมโฟร์ ซีซั่น เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2552
ดร. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า โครงการ iTAP Big Impact เป็นโครงการที่นำเอาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ในภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม ส่งผลให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่ได้ผลอย่างชัดเจน เป็นรูปธรรมในวงกว้าง สามารถสนองตอบความต้องการของเอสเอ็มอีได้โดยตรง เป็นโครงการที่ให้ผลเร็ว และวัดผลได้ มีผลกระทบสูงในการเพิ่มกำไรของเอสเอ็มอี ซึ่งโครงการ iTAP Big Impact จะสามารถช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้โดยทันที ให้ผลอย่างแท้จริง และตรงกับความต้องการของเอสเอ็มอีอีกด้วย
เพื่อที่จะเร่งพัฒนาด้วยการใช้วิทยาศาสตร์นำเศรษฐกิจได้อย่างเร่งด่วนในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และเพื่อสร้างผลกระทบแก่ประเทศได้ในวงกว้าง เราจึงต้องจัดความสำคัญเร่งให้เกิดการดำเนินงานที่จะช่วยยกระดับเทคโนโลยีให้กับ 3 ภาคการผลิตหลักที่สำคัญระดับมหภาคของประเทศ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับคนไทยจำนวนมาก นั่นก็คือ การผลิตข้าว การเลี้ยงไก่ และการอบยางพารา ภายใต้โครงการ iTAP Big Impact เราได้พัฒนาเทคนิคทางวิศวกรรมที่ง่ายต่อการดำเนินงานในการปรับกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ทันทีกับโรงสีข้าวกว่า 43,000 แห่ง ฟาร์มไก่ 64,000 แห่ง และเตาอบยางแผ่นรมควันอีก 660 แห่งทั่วประเทศ
ศ. ดร. ชัชนาถ เทพธรานนท์ ผู้ก่อตั้งโครงการ iTAP และรองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “ภายใต้โครงการ iTAP Big Impact เราได้พัฒนาเทคนิคที่ง่ายต่อการดำเนินงานในการปรับกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ด้วยเทคนิควิศวกรรมซึ่งไม่ซับซ้อน เราสามารถเพิ่มกำไร 20% ให้กับเอสเอ็มอีโรงสีข้าว โดยการให้คำปรึกษา ฝึกอบรมทางเทคนิคง่ายๆ แก่ผู้ประกอบการโรงสีข้าว เช่น ให้สามารถปรับระยะห่างระหว่างลูกยางกระเทาะข้าวให้ถูกต้องเหมาะสม โรงสีสามารถลดการหักของเมล็ดข้าว เพิ่มคุณภาพผลผลิตได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ โครงการยังมีเทคนิคการปรับตั้งค่าเครื่องจักรให้การสีข้าวให้มีประสิทธิภาพในการสีข้าวเพียงรอบเดียว ไม่ต้องสีซ้ำหลายครั้ง ลดการสิ้นเปลือง ซึ่งจากเดิมจำเป็นต้องมีการสีข้าวซ้ำ เนื่องจากการสีในรอบแรกยังมีข้าวเปลือกเหลือปนอยู่จำนวนมาก ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือโรงสีสามารถเพิ่มปริมาณการสีข้าวในแต่ละวันได้ 2 เท่า คิดเป็นกำไรเพิ่มขึ้นประมาณ 6-12 ล้านบาทต่อปีต่อโรง สำหรับโรงสีข้าวที่มีกำลังผลิต 60-120 ตันต่อวัน ยังช่วยลดการใช้ไฟฟ้าในกระบวนการสีข้าวได้อย่างชัดเจนถึง 50% ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
![]() |
![]() |
เกษตรกรชาวสวนยาง จะได้รับประโยชน์จากโครงการ iTAP Big Impact นี้ไม่น้อยเช่นกันทั่วประเทศมีโรงอบยางแผ่นรมควันอยู่ประมาณ 660 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นการรวมกลุ่มกันเป็นสหกรณ์ของเกษตรกรสวนยาง เนื่องจากน้ำยางสดที่กรีดได้จากต้นยางจะเสียได้ง่าย เกษตรกรจึงจำเป็นต้องพึ่งกระบวนการอบยางรมควันเพื่อรักษาน้ำยางไม่ให้เสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่ราคาน้ำยางสดตกต่ำ ดังนั้นการมีปริมาณเตาอบยางที่ต้นทุนต่อการอบแต่ละครั้งต่ำเป็นจำนวนมากพอ จึงสำคัญอย่างมากสำหรับเกษตรกรชาวสวนยางซึ่งมีรายได้น้อย
iTAP จึงได้ส่งผู้เชียวชาญด้านวิศวกรรมไปช่วยพัฒนาออกแบบเตาที่ทันสมัยมีต้นทุนต่ำ และติดตั้งง่ายขึ้น เตาอบแบบใหม่นี้ช่วยให้นำความร้อนเข้าไปในห้องอบรมควันเร็วขึ้น สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงน้อยกว่า สามารถควบคุมปริมาณและการแผ่กระจายความร้อนได้อย่างทั่วถึงสม่ำเสมอยิ่งขึ้น ส่งผลให้ได้แผ่นยางที่มีคุณภาพดีขึ้น และลดเวลาที่ใช้ในการอบยางแผ่นรมควันลง 25% ในขณะเดียวกัน เตาอบแบบใหม่นี้ ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ช่วยประหยัดค่าเชื้อเพลิงได้ประมาณ 40% ได้มากกว่า 92,000 บาทต่อเตาต่อปี สำหรับขนาดโรงอบยางรมควันมาตรฐานของสหกรณ์กองทุนสวนยาง โดยรวมแล้วเมื่อพิจารณาทุกปัจจัยแล้ว เตาอบยางแบบใหม่หนึ่งเตาสามารถจะเพิ่มกำไรให้สหกรณ์สวนยางได้ประมาณ ปีละ 165,000 บาทเลยทีเดียว ยิ่งไปกว่านั้น เตาอบแบบใหม่นี้ยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดไฟไหม้ได้ถึงห้าเท่า
|
![]() |
เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ ได้ประโยชน์จากโครงการ iTAP Big Impact เช่นเดียวกัน ประเทศไทยมีโรงเรือนเลี้ยงไก่อยู่ประมาณ 64,000 แห่งทั่วประเทศ แต่ละโรงเรือนเลี้ยงไก่โดยเฉลี่ย 13,000-15,000 ตัว ผู้ประกอบการมีตั้งแต่ขนาดย่อมถึงขนาดใหญ่ ซึ่งในปี 2551 ผู้ประกอบการฟาร์มไก่สร้างรายได้ให้กับประเทศจากการส่งออกเนื้อไก่ได้กว่า 51,600 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับว่า หากสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตของธุรกิจการเลี้ยงไก่ได้ จะส่งผลดีอย่างมหาศาลต่อเศรษฐกิจระดับมหภาคของประเทศ จุดที่เราให้ความสำคัญยังอยู่ที่การหาเทคนิคง่ายๆ
ที่ผู้ประกอบการจะประยุกต์ใช้ได้เพื่อลดต้นทุนจากการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต จากที่ได้ดำเนินโครงการนำร่องไป เราพบว่า การปรับเปลี่ยนพัดลมระบายอากาศที่ใช้โรงเลี้ยงไก่เป็นจุดง่ายๆ ที่จะสร้างผลกระทบได้มาก ที่จะช่วยให้เกิด Big Impact กับผู้ประกอบการโรงเรือนเลี้ยงไก่ได้ โดยอาศัยการลงทุนที่ต่ำ
พัดลมนำเข้าใช้พลังงานสิ้นเปลือง เมื่อเทียบกับพัดลมที่นิยมใช้ในปัจจุบัน พัดลมระบายอากาศที่พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีนี้ สามารถทำให้โรงเลี้ยงไก่ใช้ไฟน้อยลงประมาณ 23% หรือคิดเป็น 20,000 บาทต่อโรงเรือนต่อปีจากโครงการนำร่องที่ได้พิสูจน์มาแล้ว ซึ่งนั่นก็เป็นการประหยัดเงินได้ไม่น้อยสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ ที่หลายรายก็ต้องประสบปัญหาทางธุรกิจอย่างหนักจากการระบาดของโรคไข้หวัดนกที่ผ่านมา อีกทั้งถ้าคูณจำนวนโรงเรือนเลี้ยงไก่ที่มีอยู่ 64,000 แห่งทั่วประเทศแล้ว ยังมีศักยภาพที่ช่วยประหยัดการใช้พลังงานของประเทศได้กว่า 1,200 ล้านบาท
โครงการ iTAP ตั้งขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือทางเทคโนโลยีแก่เอสเอ็มอี สำหรับเอสเอ็มอีในอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วประเทศ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้แก่ 02-564 7000 ต่อ iTAP หรือ www.tmc.nstda.or.th/itap
เขียนข่าวโดย : นายปราโมทย์ ป้องสุธาธาร โทร. 0-2354-4466 ต่อ 118
โทรสาร 02-354-3763 E-Mail :
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน
ถ่ายภาพโดย : น.ส.สุนิสา ภาคเพียร โทร. 0-2354-4466 ต่อ 199