กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวสารหน่วยงาน สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย เข้าพบ รมว.วท. เพื่อหารือทิศทางยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย

สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย เข้าพบ รมว.วท. เพื่อหารือทิศทางยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย

พิมพ์ PDF

 

     16 พฤศจิกายน 2558 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี / ดร.พิเชฐ ดุรงควโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ร่วมหารือกับสมาคมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นสมาคมที่จัดตั้งขึ้นใหม่จากความร่วมมือของหลายองค์กรทั้งจากภาครัฐ ภาคมหาวิทยาลัย และภาคเอกชน โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการสนับสนุนการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ สนับสนุนและให้คำปรึกษากรอบแนวทางด้านมาตรฐาน ข้อบังคับที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในเมืองไทย และการทำให้สังคมได้รู้จักประโยชน์ของยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งสมาคมได้จัดทีมวิชาการ ทีมด้านทรัพยากรบุคคลและทีมอุตสาหกรรม ไว้อย่างชัดเจน

     ดร.พิเชฐ กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับเรื่องยานยนต์ไฟฟ้าเป็นอย่างมาก เนื่องจากแนวโน้มการแข่งขันยานยนต์ในตลาดโลก มาถึงจุดเปลี่ยนทางเทคโนโลยีภายใต้กระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การประหยัดพลังงาน และการลดภาวะโลกร้อน ทั้งภาครัฐและเอกชนไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนและผู้ประกอบการยานยนต์ จำเป็นต้องร่วมมือและรวมกลุ่มเพื่อปรับตัวครั้งใหญ่ให้พร้อมรองรับนวัตกรรมและเรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตยานยนต์ยุคใหม่ ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญ เมื่ออุตสาหกรรมนี้ขยายตัวในวงกว้างในสังคมไทย จะต้องมีการวางแผนเรื่องสถานีชาร์ตแบตเตอรี่ การเตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้า การทดสอบรถต้นแบบที่เหมาะสม รวมถึงการขยายตลาดของรถบัสไฟฟ้า มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ไปสู่การส่งเสริมการท่องเที่ยวสีเขียว หรือ green tourism เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

      ดร.พิเชฐ กล่าวต่อว่า ตลาดยานยนต์ในโลกอนาคตจะเติบโตจากการใช้รถไฮบริด รถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า EV และการพัฒนาแบตเตอรี่ Fuel Cell โดยที่ผ่านมา กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีหลายหน่วยสนับสนุนโดยทำการศึกษาปัจจัยต่าง ๆ และการวางโครงสร้างในแต่ละประเทศที่จะช่วยสนับสนุนรถไฟฟ้า เช่น สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) เป็นต้น ทั้งในเรื่องของมาตรฐานชิ้นส่วน ห้องปฏิบัติการทดสอบ มาตรวิทยา นักวิจัย ฐานข้อมูล และเรื่องสิทธิประโยชน์ที่สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของภาคเอกชน ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าไม่ได้ยากเกินไปกว่าความสามารถของวิศวกรไทยที่สามารถพัฒนาต้นแบบยานยนต์ไฟฟ้าได้เอง แต่ยังขาดผู้ประกอบการของไทยที่มีความเข้าใจ และสนใจการลงทุนในการพัฒนาและวิจัยอย่างจริงจัง เพื่อที่จะต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ดังนั้น สมาคมยานยนต์ไฟฟ้า จะต้องรวบรวมฐานข้อมูลปัจจัยที่ส่งผลกระทบทั้งความต้องการของผู้ประกอบการ และการวางโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยสนับสนุนให้เกิดความต้องการใช้รถไฟฟ้า ความร่วมมือกับหน่วยงานทุกภาคส่วนในด้านต่างๆ เพื่อนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

 

 

      ในขณะที่ทางสมาคมยานยนต์ไฟฟ้า ให้ความเห็นว่าการผลักดันให้ผู้บริโภคใช้รถยนต์ไฟฟ้า จะส่งผลกระทบที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและสังคมในส่วนรวมทั้งในประเด็นของการลดการนำเข้าน้ำมัน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม หากทุกภาคส่วนหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสร้างความร่วมมือระหว่างกันและช่วยกันผลักดันการดำเนินงานหรือนโยบายต่างๆ ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน จะช่วยให้ประเทศมีความมั่นคงด้านพลังงานเพิ่มมากขึ้น โดยการลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สภาพแวดล้อม และสามารถลดมลพิษจากไอเสียเครื่องยนต์ในภาคขนส่งได้ ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของสมาคมฯ อย่างชัดเจน

 

ข่าวโดย : นางสาวนีรนุช ตามศักดิ์

ภาพข่าวและวิดีโอ : นายรัฐพล หงสไกร

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732  โทรสาร 0 2333 3834

อีเมลล์ :   อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน

 

 

 
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป