
วันนี้ 13 พฤศจิกายน 2558 ณ โรงเรียนดรุณสิกขาลัย / ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะ เข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานของโรงเรียนดรุณสิกขาลัย โรงเรียนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้ ภายใต้การกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยมี คุณพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ผู้อำนวยการใหญ่ และผู้บริหารสถานศึกษา เจ้าหน้าที่ ให้การต้อนรับและนำชมการจัดกรฟะบวนการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ที่เน้นการปฎิบัติจริง ให้นักเรียนสามารถสร้างองค์ความรู้เองได้ อันเป็นเส้นทางสู่การสร้างนวัตกรรมที่เหมาะสมกับบริบทความท้าทายของภาคเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันและอนาคต
นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา กล่าวว่า โรงเรียนดรุณสิกขาลัยดำเนินการสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2550 และเป็นไปตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ปี 2542 โดยยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถการเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้และถือว่าผู้เรียนสำคัญที่สุด จึงดำเนินการจัดการเรียนการสอนให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ ให้ทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ด้วยตนเอง จากการลงมือปฏิบัติทำจริง ส่งเสริมการคิดเป็นทำเป็น กระตุ้นการเรียนรู้กันเป็นกลุ่มหรือทีมได้อย่างเป็นกัลยาณมิตร จนติดเป็นนิสัยใฝ่เรียนรู้ไปตลอดชีวิต และตั้งความหวังสูงสุดไว้ว่าสักวันหนึ่งจะมีนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลที่มาจากโรงเรียนดรุณสิกขาลัย
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ ได้เยี่ยมชมห้องฝึกปฏิบัติต่าง ๆ อาทิ บ้านวิศวกรรมที่ให้นักเรียนได้ประดิษฐ์ชิ้นงานจากความสนใจของตนเอง เช่น อากาศยานไร้คนขับหรือ โดรน Quad Copter และ รถไฟฟ้าส่วนบุคคลของนักเรียนชั้น ม.4 และห้องเรียน Fab Lab ที่ใช้ในการถอดความคิดออกมาเป็นชิ้นงาน รวมถึงโครงงานวิทยาศาสตร์ของนักเรียนระดับชั้นม.1 เช่น การศึกษาสารกึ่งตัวนำยิ่งยวด หรือ superconductor การศึกษาการผลิตไฟฟ้าจากผิวดินที่เกิดจากการย่อยสลายของแบคทีเรียโดยรวบรวมประจุเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ การศึกษา Earth in the Box ที่จำลองสภาพแวดล้อมปิดแบบกรีนเฮ้าส์ที่ใช้ได้นอกโลก การผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แผ่นทองแดงจากพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น
ดร.พิเชฐ กล่าวชื่นชมภายหลังการเยี่ยมชมว่า รูปแบบการเรียนการสอนในโรงเรียนดรุณสิกขาลัย เปิดโอกาสให้เรียนรู้ได้ด้วยการคิดจริง ลงมือปฏิบัติจริง เหมาะสมกับบริบทกับการผลิตนักนวัตกรรมที่สามารถสินค้าใหม่ๆ ที่แข่งขันได้กับตลาดโลก นอกจากเป้าหมายหนึ่งของโรงเรียนในการผลิตนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลแล้ว อาจมองถึงการสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย โดยอาจเริ่มจากการที่นักเรียนสามารถช่วยสร้างแรงกระเพื่อมเมื่อเข้าสู่ระบบการศึกษาแบบปกติ ใช้ภาวะความเป็นผู้นำที่ได้ฝึกปฏิบัติมาไปช่วยพัฒนาส่วนอื่นๆ เพราะสังคมต้องการผู้นำทางสังคม ทางเทคโนโลยี ทางธุรกิจแบบใหม่ รวมถึงผู้นำทางสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
“สิ่งที่น่าคิดคือ การนำความสำเร็จนี้ขยายสู่โรงเรียนอื่นๆ ให้ได้ในวงกว้าง ซึ่งจำเป็นต้องสร้างเครื่องมือที่ใช้งานได้ง่าย อาจทำเป็นขั้นตอนที่ชัดเจน ที่ครูอื่นๆ สามารถนำไปใช้ทดลองแล้วสามารถใช้ได้จริง ต้องไม่ใช้หลักการเพื่อนำไปขยายผลเพราะจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ยากในสังคมไทยที่มีขนาดใหญ่” ดร.พิเชฐ กล่าว
ข่าวโดย: กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
Facebook : sciencethailand