![]() |
(วันอังคารที่ 13 ตุลาคม 2558 ) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดระบบลำเลียงแสงผลึกศาสตร์ ณ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จังหวัดนครราชสีมา
![]() |
|
โดย ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้กราบบังคมทูลความก้าวหน้าโครงการระบบลำเลียงแสงผลึกศาสตร์ โครงการจัดตั้งสถานวิจัยร่วม มทส.- นาโนเทค - ซินโครตรอน โครงการวิจัยกระจกเกรียบจากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โครงการศึกษาและพัฒนาคุณภาพไข่มุกน้ำจืด โครงการสร้างเครื่องเร่งอนุภาคสำหรับบำบัดมะเร็ง โดยสังเขป ดังนี้
ระบบลำเลียงแสงผลึกศาสตร์
ได้รับการออกแบบมา เพื่อใช้งานกับแสงซินโครตรอนในย่านรังสีเอกซ์พลังงานสูง มีประโยชน์ต่อการศึกษาหาโครงสร้างสามมิติของโปรตีนและโมเลกุลอื่นในระดับอะตอมที่อาจนำไปสู่การพัฒนาเอนไซม์และยาใหม่ๆและเป็นเพียงหน่วยงานเดียวในภูมิภาคอาเซียนที่มีระบบลำเลียงแสงดังกล่าวนี้
โครงการจัดตั้งสถานีวิจัยร่วมเพื่อการใช้แสงซินโครตรอน
อันเป็นความร่วมมือและร่วมทุนระหว่างมหาวิทยาลัยสุรนารี ศูนย์นาโนเทคแห่งชาติ และ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนเพื่อสร้างระบบลำเลียงแสงเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยี โดย ใต้ฝาละอองพระบาท ได้ทรงพระกรุณาเสด็จเป็นองค์ประธานเปิดระบบลำเลียงแสง เพื่อให้บริการอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2555 นับถึงปัจจุบัน มีผู้ใช้บริการจากสาถบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวม 266 คน มีผลงานวิจัยตีพิมพ์จำนวน 25 เรื่อง จดอนุสิทธิบัตร 1 เรื่อง ในขณะนี้โครงการได้ดำเนินการต่อเนื่องสู่ระยะที่ 2 เพื่อต่อยอดและขยายผลความร่วมมือให้เกิดประโยชน์สูงสุด
โครงการวิจัยกระจกเกรียบจากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากใต้ฝ่าละอองพระบาท พระราชทานตัวอย่างกระจกเกรียบโบราณจากเสาหารของพระอุโบสถพระแก้วมรกต และจากฐานพระรูปพระมหากษัตรย์ไทยในปราสาทพระเทพบิดร คณะวิจัยของสถาบัน ฯ ได้ใช้เทคนิคการดูดกลืนแสงและการเรืองแสงย่านรังสีเอกซ์ที่สถานีทดลองระบบลำเลียงแสงที่ 8 เพื่อไขปริศนาองค์ประกอบธาตุและส่วนผสมของแก้วโบราณสีต่างๆ พบว่า ประกอบด้วยธาตุองค์ประกอบมากกว่า 18 ชนิด และได้พยายามคิดค้น พ้ฒนากรรมวิธีการผลิตแก้วให้เหมาะสมกับการใช้งานจริง ซึ่ง สถาบันฯ จะได้จดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ในสูตรและกรรมวิธีต่างๆต่อไป
โครงการศึกษาและพัฒนาคุณภาพไข่มุกน้ำจืด
สถาบันฯ กระตุ้นธาตุแมงกานีสในไข่มุกน้ำจืดเพื่อสร้างนวัตกรรมการเปลี่ยนไข่มุก ให้เป็นสีทองสวยงามได้ นับเป็นประโยชน์อย่างมากในการเพิ่มมูลค่าของไข่มุกน้ำจืด นอกจากนี้ แสงซินโครตรอนยังสามารถนำมาใช้ถ่ายทอดลวดลายที่มีความละเอียดสูงบนไข่มุกได้โดยอาศัยเทคนิคโฟโตลิโธกราฟี
โครงการสร้างเครื่องเร่งอนุภาคสำหรับบำบัดมะเร็ง
ในปัจจุบันพบว่า มะเร็งและเนื้องอกเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆของประชากรไทย และจากสถิติจำนวนเครื่องฉายรังสีชนิดเร่งอนุภาคที่ใช้ในการรักษามะเร็ง พบว่า มีประมาณ 1 เครื่องต่อประชากร 1 ล้านคน และจำนวนกว่าครึ่งกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพมหานคร อีกทั้งเป็นเทคโนโลยีนำเข้าจากต่างประเทศที่มีราคาแพง ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้ยาก ดังนั้น ด้วยความเชี่ยวชาญของสถาบันฯด้านเครื่องเร่งอนุภาค สถาบันฯจึงได้ริเริ่มโครงการพัฒนาเครื่องเร่งอนุภาคสำหรับบำบัดมะเร็งขึ้นเป็นต้นแบบ โดยมุ่งเน้นหวังให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี สร้างงานขึ้นภายในประเทศ เพื่อมุ่งสู่การมีเครื่องมือแพทย์นี้เป็นของตนเอง และกระจายโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงการรักษาได้กว้างขี้น การดำเนินงานในปี 2557 และ 2558 สถาบันฯได้ดำเนินการ Reverse Engineering เครื่องที่ได้รับบริจาคจากโรงพยาบาลศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น และออกแบบปรับปรุงใหม่ด้านระบบจ่ายกำลังท่อเร่งอนุภาค การควบคุมท่อเร่งระบบปรับโครงรูปลำรังสีเพื่อรักษา คาดว่า ในปี 2560 สถาบันฯ จะสามารถทดสอบส่วนที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของเครื่องกับแฟนธอมได้
ทั้งนี้หลังจากเสด็จพระราชดำเนินเปิดระบบลำเลียงและผลึกศาสตร์เรียบร้อยแล้ว พระองค์ทรงรับฟังการถวายรายงานความก้าวหน้าโครงการต่างๆของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับ
ข้อมูลโดย : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)
ภาพโดย : นายรัฐพล หงสไกร,นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์
เผยแพร่โดย : นางสุนิสา ภาคเพียร นาวงษ์
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail :
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน
Facebook : sciencethailand Call Center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร.1313