เพิ่มรายได้-ลดการนำเข้าต่างประเทศ ที่ อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วย ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และคณะได้เข้าเยี่ยมชมการดำเนินงาน โครงการ“ขยายผลการผลิตและการใช้งานราบิวเวอเรีย” ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ และสหกรณ์การเกษตรผักไห่ จำกัด และเครื่องสีข้าวขนาดเล็ก ที่ทาง สวทช. โดย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ดำเนินการขึ้น เพื่อสนับสนุนการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมและอาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องของชุมชน (8 ต.ค. 58)
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เล็งเห็นความสำคัญของชุมชนชนบท ซึ่งเป็นรากฐานของคนส่วนใหญ่ของประเทศ จึงมีการส่งเสริมการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เพื่อประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละชุมชน โดยได้จัดทำ โครงการ“ขยายผลการผลิตและการใช้งานเชื้อราบิวเวอเรีย” เพื่อเป็นการสนับสนุนการใช้ วทน. ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมและอาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนจัดตั้งศูนย์ผลิตหัวเชื้อราบิวเวอเรีย เพื่อส่งให้แก่กลุ่มเกษตรกรบ้านนาคูนำไปผลิตเป็นก้อนเชื้อราบิวเวอเรีย สำหรับใช้ในกลุ่ม และเพื่อจำหน่าย วันนี้ชุมชนประเทศไทย มีความเข้าใจในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้ว สามารถที่จะรวมพลังกันนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้เพื่อทำให้เกษตรกรรมที่ทำอยู่ หรืออุตสาหกรรมพื้นบ้าน สามารถที่จะยกระดับได้ ลดความเสียหาย เพิ่มรายได้ ลดต้นทุน และสามารถจำหน่ายได้อย่างกว้างขวาง
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
ดร.พิเชฐ กล่าวอีกว่า จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมเนื่องจากเป็นแก้มลิง จึงได้ร่วมมือกับไบโอเทค มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมการข้าว และสหกรณ์การเกษตรอำเภอผักไห่ จำกัด วิจัยจนได้พันธุ์ข้าวหอมชลสิทธิ์ ทนน้ำท่วมได้ 2-3 สัปดาห์ เพียงพอสำหรับการลดความเสียหายของข้าวที่ถูกน้ำท่วม ปัจจุบันมีผลผลิตออกมาดี คือเป็นข้าวหอมที่มีระดับน้ำตาลต่ำ เหมาะสำหรับคนรักสุขภาพ และคนที่ต้องการควบคุมน้ำตาลเช่น เช่น คนที่เป็นเบาหวาน ก็เลยตั้งชื่อเป็น "ข้าวอ่อนหวาน" มีจำหน่ายโดยทั่วไปแล้ว
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
ด้าน ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. ในฐานะผู้พัฒนาเทคโนโลยีทำหน้าที่ส่งมอบเชื้อตั้งต้นของราบิวเวอเรียจากห้องปฏิบัติการไบโอเทค ให้แก่ มทร.สุวรรณภูมิ ซึ่งรับเป็นศูนย์ผลิตหัวเชื้อราบิวเวอเรีย เพื่อส่งให้แก่กลุ่มเกษตรกรบ้านนาคูนำไปผลิตเป็นก้อนเชื้อราบิวเวอเรีย สำหรับใช้ในกลุ่ม และเพื่อจำหน่าย โดยมีสหกรณ์การเกษตรผักไห่ จำกัด เป็นผู้แทนจำหน่ายก้อนเชื้อราบิวเวอเรียให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ ในราคาก้อนละ 40 บาท สามารถสร้างรายได้ให้กับกลุ่มรวมพลังเกษตรชีวภาพบ้านนาคู ถึงปีละ 40,000 บาท ซึ่ง ไบโอเทค / สวทช. ได้ร่วมมือกับสำนักงานเกษตรอำเภอผักไห่ ส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถใช้เชื้อราบิวเวอเรียเพื่อควบคุมเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้เกษตรกรบ้านนาคูสามารถทำการเกษตรแบบชีวภาพได้อย่างยั่งยืน คาดว่าจะสามารถลดความเสียหายของผลผลิตข้าวลงได้ถึงร้อยละ 70 หรือมูลค่ากว่า 80 ล้านบาท โดยขณะนี้มีเกษตรกรในอำเภอผักไห่นำเอาเชื้อราบิวเวอเรียไปใช้แล้วกว่า 3,000 ไร่ เมื่อคิดต้นทุนโดยเฉลี่ยแล้ว ปกติเกษตรกรจะเสียค่าใช้จ่ายสำหรับค่าสารเคมีฆ่าแมลงประมาณ 300 บาท/ไร่/รอบการปลูก แต่เมื่อเปลี่ยนมาใช้เชื้อราบิวเวอเรียในการกำจัดแมลงศัตรูพืช พบว่าเกษตรกรจะเสียค่าใช้จ่ายเพียง 60 บาท/ไร่/รอบการปลูกเท่านั้น
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
นอกจากนี้ยังนำเครื่องสีข้าวขนาดเล็กพัฒนาโดย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) /สวทช. กำลังการผลิตประมาณ 150-200 กก.ข้าวเปลือก/ชั่วโมง สามารถสีแปรรูปข้าวได้ทั้งข้าวกล้อง และข้าวขาว โดยที่เกษตรกรเลือกใช้งานได้ตามต้องการ ไม่ต้องเสียเวลากับการไปรอสีข้าวหรือเปลี่ยนข้าวกับโรงสีขนาดใหญ่ และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้งานเครื่องสีข้าวสีแปรรูปข้าวเปลือกของตนเองเป็นข้าวกล้อง และข้าวสารเพื่อการจำหน่าย หรือการรับจ้างสีได้ มูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณ 2,000-3,000 บาท/ตัน (คิดคำนวณในลักษณะการรับจ้างสีข้าว) นอกจากนี้ยังได้ออกแบบให้สามารถใช้อะไหล่ชิ้นส่วน กว่า 80% ที่สามารถซ่อมแซมได้ง่ายตามท้องถิ่นต่างๆ เช่น สายพาน น็อต ลูกกระพ้อ ลูกยางกะเทาะเปลือก ฯลฯ และใช้มอเตอร์ต้นกำลังรวม 8.5 แรงม้า แบบซิงเกิลเฟส สามารถใช้ได้กับไฟฟ้าตามบ้านทั่วไป ทำให้มีต้นทุนค่าไฟฟ้าในการใช้งานต่ำ”
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
ขณะเดียวกัน ยังได้สร้างเครื่องแยกข้าวเปลือกและ ข้าวกล้องมาใช้ร่วมกับเครื่องสีข้าวดังกล่าว เพื่อให้ได้ข้าวกล้องที่สะอาด ไม่มีข้าวเปลือกปน พร้อมนำไปบรรจุขายได้ทันที ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจ้างสีข้าวของสหกรณ์ จำนวน 4 แสนบาทต่อปี สร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้เกษตรกร ช่วยเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องจักรกลการเกษตรในประเทศให้มีการปรับปรุงผลิตภัณฑ์เครื่องสีข้าวขนาดเล็กให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น มีราคาที่เหมาะสมสำหรับจำหน่ายในชุมชนเกษตรกร และช่วยลดการนำเข้าเครื่องสีข้าวขนาดเล็กจากต่างประเทศ
ประสานงานได้ที่ : กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail :
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน
Facebook : sciencethailand Call Center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร.1313