- เมื่อวานนี้เป็นวันมหิดล หรือวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกที่ทรงมีคุณูปการต่อการแพทย์สมัยใหม่ของไทย ตลอดพระชนมชีพของสมเด็จพระบรมราชชนก ได้ทรงประกอบพระกรณียกิจเพื่อประเทศชาติและประชาชนอย่างไพศาล โดยเฉพาะด้านการแพทย์ และการสาธารณสุข ทรงอุทิศกำลังพระวรกาย และพระหฤทัย ตลอดจนทรัพย์สินส่วนพระองค์ เพื่อการแพทย์แผนไทยอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ทรงเป็นอาจารย์สอนนักศึกษาแพทย์ ทรงช่วยเหลือในการขยายกิจการของโรงพยาบาลศิริราช ประทานเงินส่วนพระองค์จัดสร้างตึกคนไข้ จัดหาที่พักสำหรับพยาบาลได้อาศัยอยู่ ทรงบริจาคทรัพย์ส่วนใหญ่เป็นทุนไว้สำหรับส่งนักศึกษาแพทย์และนักเรียนพยาบาลออกไปศึกษาต่อต่างประเทศ ประทานเงินจัดหาเครื่องมือ เครื่องใช้สำหรับปฏิบัติการในโรงพยาบาล ปรับปรุงการศึกษา และวางมาตรฐานจนสามารถรับรองกิจการแพทย์ของประเทศได้ดังปัจจุบัน เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ ปวงชนชาวไทยที่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณจึงได้พร้อมใจกันเฉลิมพระเกียรติพระองค์ให้เป็น “ พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบัน ”
- ระหว่างวันที่ 24 - 30 กันยายนนี้ ผมได้เดินทางมาปฏิบัติภารกิจเข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 70 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในโอกาสนี้ ผมจะกล่าวถ้อยแถลงย้ำเจตนารมณ์ของประเทศไทยที่จะร่วมมือกับสหประชาชาติเพื่อรักษา 3 เสาหลักของการพัฒนา โดยจะเสนอประสบการณ์ของไทยในการขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจและมีอัตราการว่างงานน้อยที่สุดมุ่งไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยประเทศไทยของเราได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานให้กับพสกนิกรชาวไทย และแสดงเป็นแบบอย่างให้กับรัฐบาลได้นำมาปฏิบัติมานานกว่า 40 ปีแล้ว โดยรัฐบาลก็ได้นำมาประยุกต์ใช้ในการกำหนดนโยบายในการบริหาราชการแผ่นดิน และบรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิและสังคมของชาติทุกฉบับที่ผ่านมา อีกทั้งยังเป็นรากฐานสำคัญในการกำหนดวิสัยทัศน์ประเทศ 5 ปีของรัฐบาล ผมถือเป็นโอกาสนี้ ที่เป็นโอกาสอันดี ที่เราจะได้อธิบายให้กับผู้นำประเทศทั่วโลก ได้เข้าใจและทราบถึงหลักการตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้ที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการพัฒนาที่มั่นคงและยั่งยืน นอกจากนี้ ผมยังมีกำหนดการที่จะเข้าร่วมการหารือแนวทางการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน และการดำเนินการเพื่อความเสมอภาคเท่าเทียมและการเพิ่มบทบาทสตรีอีกด้วย
- สำหรับการเยือนครั้งนี้ ผมจะเป็นตัวแทนประเทศไทย ในการรับมอบรางวัลการพัฒนาดิจิตอลอย่างยั่งยืนระดับโลก หรือ ITU global จากเลขาธิการสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ในฐานะที่เป็นประเทศไทยของเราให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลพัฒนาประเทศ รวมทั้งยังได้พบปะกับองค์กรต่าง ๆ ทั้งเลขาธิการสหประชาชาติ และพูดคุยกับสมาคมธุรกิจสหรัฐ เพื่อให้รับทราบแนวทางการประกอบธุรกิจการลงทุนในประเทศไทยว่า เราดำเนินการส่งเสริมในทิศทางใดบ้าง ในปัจจุบันและที่สำคัญ ยังจะได้พบกับทีมประเทศไทยที่อยู่ในสหรัฐอีกด้วย
- สำหรับกรณีที่จะมีคนออกมาชุมนุมต่อต้านนั้น ในระหว่างที่ผมปฏิบัติภารกิจนั้น ผมถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่ก็ขอร้องว่าในการเดินทางไปของผมครั้งนี้นั้น ไม่ได้ไปในฐานะส่วนบุคคลแต่เป็นตัวแทนของประเทศ อะไรก็ตามที่จะเป็นการทำลายชื่อเสียงของประเทศชาติ เพราะฉะนั้นคนทุกคน ผมเชื่อมั่นว่ามีความคิด มีความปราถนาดี มีความรักชาติ รักแผ่นดินเหมือนกัน หวังดีต่อประเทศ ก็คงไม่ทำกัน ในสิ่งที่เสียหาย
- สำหรับกลุ่มที่จะออกมาให้กำลังใจ ผมก็ขอบคุณ ก็ขอให้ตระหนักว่าทุกอย่างที่แสดงออกมานั้น ถือเป็นหน้าเป็นตา เป็นภาพพจน์ของประเทศไทยของเราทั้งสิ้น ขอให้ทุกท่านปฏิบัติตามกฎระเบียบ ตามกฎหมาย มีสติ ควบคุมอารมณ์ตัวเอง ช่วยดูแลกันและกัน อย่าให้ถูกชักนำไม่ว่าจะด้วยวิธีใด จนทำให้เกิดมีการกระทบกระทั่งกับกลุ่มที่เห็นต่าง สำหรับภาพลักษณ์ของประเทศไทยในปัจจุบันนั้น มีความเสียหายมามากพอสมควร ถ้าหากว่าเรารักประเทศไทยของเราอยู่ เราก็ต้องแสดงให้คนอื่นเขาเห็นว่าเรามีการพัฒนาการ ไปในสิ่งที่ดี ๆ อย่างไรในปัจจุบัน ก็น่าเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาดีขึ้นทุกอย่าง
- เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้เป็นประธานเปิดเวทีจุดประกาย “สานพลังประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก” เพื่อประกาศการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “ประชารัฐ” ในการวางเศรษฐกิจฐานรากอย่างเป็นทางการเป็นการ ซึ่งจะเป็นการรวมพลังทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะอยู่ในภาคประชาชน ภาคธุรกิจ หรือภาครัฐทุกคนก็คือประชาชนของชาติ ประเทศชาติไม่ใช่ของผม หรือของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นของพี่น้องประชาชนทั้ง 70 กว่าล้านคน หรือที่เรียกว่าเป็นประชารัฐ อาจจะไม่ใช่คำว่าประชานิยมที่ประชาชนอาจจะให้ความนิยมต่อภาครัฐ แต่วันนี้เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับประชาชน ประชานิยมที่มีประโยชน์ผมคิดว่าก็ยังมีอยู่ แต่ต้องไม่สร้างภาระมากมาย และสารมารถดำเนินการต่อไปได้ เพื่อพี่น้องประชาชน แต่สิ่งใดก็ตามที่จะต้องเป็นภาระมาก ๆ ผมอยากให้ใช้คำว่าเป็นประชารัฐดีกว่า จะได้ร่วมมือกันทั้ง 2 ฝ่าย รัฐบาลจะเป็นผู้อำนวยความสะดวก สนับสนุน เปิดช่องทางให้เอกชน ประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมตามกระบวนการประชาธิปไตย ทำให้การบริหารงานต่าง ๆ เหล่านั้น ไม่ให้มีความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างประชาชนกับรัฐบาล เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่าหากรัฐบาล ทุกรัฐบาลมีธรรมาภิบาล ประชาชนกับรัฐบาลก็จะร่วมมือกันทำงาน ร่วมมือกันแก้ไขปัญหา จูงมือเดินไปพร้อม ๆ กัน ไม่มีความขัดแย้ง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไม่มีการแบ่งประชาชนออกเป็กลุ่ม เป็นพวกอย่างที่เคยมีมาในอดีต รัฐบาลนี้ตั้งใจมั่นในการที่จะดูแลและห่วงใยทุกคน คนไทยทุกคนอย่างเท่าเทียม
- ทั้งนี้การทำงานพัฒนาอย่างยั่งยืนคือ การสร้างเครือข่ายประชารัฐในทุกด้าน ซึ่งจะทำให้เป็นกลไกสำคัญ เชื่อมโยงเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นแนวทางการบริหารราชการแผ่นดินยุคปัจจุบัน อาจจะเรียกว่ายุคใหม่ ช่วยให้มีการบริหารจัดการงบประมาณที่มีประสิทธิภาพ ดูแลทรัพย์สินและกิจการต่าง ๆ ของชุมชน ให้ใช้ประโยชน์สูงสุด อำนวยประโยชน์แก่ชุมชน ประชาชนทุกหมู่เหล่า ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของประชาชนโดยตรง
- สำหรับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถือเป็นสิ่งสำคัญที่คนไทยทุกคนควรยึดถือไว้ รวมทั้งต้องมีความรู้คู่คุณธรรมด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่จะเข้ามาบริหารบ้านเมือง จะต้องมีคุณธรรม ศีลธรรม มีหลักธรรมาภิบาล วันนี้ รัฐบาลต้องพึ่งพลังประชาชน ทุกคนต้องก้าวเดินไปพร้อม ๆ กัน ไม่สะดุดกันไป-มา ในการสร้างการเมืองที่มีคุณภาพ และไปสู่การเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อย่างรวดเร็ว ทุกคนอยากได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ที่มีธรรมาธิบาล ปราศจากการทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่มีการสร้างปัญหาความแตกแยก สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้รัฐบาลไม่สามารถดำเนินการได้แต่เพียงลำพัง ทั้งรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็คาดหวังที่จะอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการที่เราเป็น “ประชารัฐ” ซึ่งประชาชนกับรัฐบาลจะต้องร่วมมือกันอย่างเต็มที่ รัฐบาลพร้อมที่จะให้การสนับสนุน และมั่นใจว่าปัญหาทั้งหมดนั้น ย่อมสามารถแก้ไขได้อย่างแน่นอน ถ้าหากร่วมมือกัน ถ้าเราคาดหวังว่าให้บ้านเมืองของเรานั้นก้าวหน้าไปอย่าง “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”
- สำหรับการขับเคลื่อนประเทศ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปในอนาคตข้างหน้า รัฐบาลได้ผนวก 11 ประเด็นปฏิรูปของ คสช. เข้ากับ ข้อเสนอเดิมของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) 36 ประเด็นปฏิรูป กับอีก 7 ประเด็นพัฒนา รวมทั้งนโยบายใหม่ ๆ ของรัฐบาล กำหนดออกมาเป็นแนวทางบรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564) และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อจะเป็นเข็มทิศการเดินหน้าประเทศ ซึ่งจะยึดกรอบแนวคิดและหลักการในการวางแผนที่สำคัญ คือ (1) การน้อมนำและประยุกต์หลักปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียง (2) ประชาชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา อย่างมีส่วนร่วม (3) การสนับสนุนและส่งเสริมแนวคิดการปฏิรูปประเทศ (4) การพัฒนาสู่วิสัยทัศน์ของประเทศ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
- ทั้งนี้ ปัจจุบันแผนนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ คาดว่าจะประกาศใช้ในเดือนตุลาคม 2559 โดยนำผลการประเมินตามแผนพัฒนาฯ ฉบบัที่ 11 และข้อเสนอในการประชุมประจำปี ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานั้น เป็นข้อมูลพื้นฐาน ทั้งนี้ ในปี 2558 นี้ ก็ได้มีการระดมความคิดเห็นของทั้งกลุ่มภาครัฐ กลุ่มภาคเอกชน กลุ่มภาคเยาวชน เข้าร่วมกันจัดทำข้อเสนอประเด็นต่าง ๆ ซึ่งรวมถึง (1) ศักยภาพในการแข่งขันเพื่อมุ่งสู่การเป็นประเทศรายได้สูง เปลี่ยนผ่านจากสังคมเกษตรไปสู่เกษตรอุตสาหกรรม อุตสาหกรรม และบริการให้มากขึ้น (2) การลงทุนเพื่ออนาคตของประเทศไทย เพื่อยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจและขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง (3) คนไทยกับสังคมสูงวัยที่มีคุณภาพ เร่งพัฒนาศักยภาพคนในทุกช่วงวัย ยกระดับคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ พัฒนาระบบสุขภาพและสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี (4) การพัฒนาพื้นที่ ภาค และการเชื่อมโยงภูมิภาค สร้างความอยู่ดีมีสุขของประชาชนไทย และประชาชนประเทศเพื่อนบ้าน (5) การพัฒนาการเกษตรไทยสู่ความเป็นเลิศด้านอาหารของโลก ภายใต้บริบทที่เปลี่ยนแปลงไป โดยการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ที่เป็นฐานการผลิตสำคัญของภาคเกษตร ทั้งทรัพยากรน้ำและที่ดิน (6) การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อกำหนดแนวทางการรักษาทุนทางธรรมชาติ การตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก และการส่งเสริมการผลิตและบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ (7) ภาครัฐของประชาชน เพื่อประชาชน เป็น “ประชารัฐ” สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนไทยอย่างแท้จริง
- สุดท้ายนี้ เนื่องจากสถาพลมฟ้าอากาศช่วงปลายฤดูฝน ยังคงมีความไม่แน่นอน อาจมีพายุฝนหรือพายุลม วาตภัยเข้ามาในเขตประเทศไทยได้ตลอดเวลา ก็ขอให้พ่อแม่พี่น้อง ติดตามการแจ้งเตือนวาตภัย อุทกภัย จากหน่วยงานภาครัฐอย่างใกล้ชิด ก่อนออกเดินทางมาปฏิบัติภารกิจต่างประเทศของผมในครั้งนี้ ก็ได้กำชับสั่งการ ให้หน่วยงานของรัฐ เตรียมพร้อมรับสถานการณ์จากภัยธรรมชาติ รูปแบบต่าง ๆ ตามแผนเผชิญเหตุ ของทุกหน่วยงาน ให้สามารถออกปฏิบัติการในงานบรรเทาความเตือนร้อนของพี่น้องประชาชนได้อย่างทันท่วงที สำหรับพี่น้องประชาชนเอง ก็ขอให้สำรวจทรัพย์สิน ที่อยู่อาศัย ให้มีความมั่นคง และผู้ประกอบการร้านค้า เจ้าของป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ต้องตรวจสอบ ให้มีความแข็งแรงอยู่เสมอ การเดินทางสัญจรก็ขอให้ใช้ความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น ในห้วงที่มีฝนตก เจ้าหน้าที่ในส่วนพื้นที่ชุมชนเมืองใหญ่ กทม. เตรียมการระมัดระวังเรื่องการระบายน้ำด้วย
- อีกประกาศหนึ่งที่เป็นห่วงคือในเรื่องของการประกอบอาชีพการเกษตร ในห้วงปลายฤดูฝนนี้เป็นต้นไป ทุกคนก็เฝ้าติดตามการแจ้งเตือนของเจ้าหน้าที่ ของรัฐบาลด้วย ในการจะต้องระมัดระวังในเรื่องของการใช้น้ำ การเพาะปลูกพืชตามคำแนะนำ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ผมทราบว่าเป็นเหตุผลที่สำคัญในการที่จะทำให้ประชาชนนั้นสามารถที่จะมีชีวิตอยู่ได้ ในปัจจุบันก็คือการประกอบอาชีพทางการเกษตร แต่ก็ต้องเข้าใจถึงหลักการและเหตุผล ในกรณีที่มีน้ำต้นทุนที่ค่อนข้างจำกัด อย่างไรก็ตามรัฐบาลก็จะพยายามแก้ไขปัญหาให้ได้ในทุกมิติ ขอให้ติดตามคำแนะนำต่าง ๆ จากรัฐบาล หากมีเรื่องเดือดร้อน ปัญหาใด ๆ ก็ตาม ก็ขอให้เข้าหาเจ้าหน้าที่ได้ตลอดเวลา ขอให้ทุกท่านมีความสุขในห้วงวันหยุดสุดสัปดาห์เช่นเคย ให้ปลอดภัย ใช้เวลาว่างกับครอบครัวให้เกิดประโยชน์ให้มากที่สุด ขอให้มีความสุข ขอบคุณครับ สวัสดีครับ
สรุปสาระโดย: กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ข้อมูลจาก: เว็บไซต์รัฐบาลไทย