สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดสัมมนานำเสนอผลงานวิทยานิพนธ์นักศึกษาภายใต้โครงการสร้างภาคีในการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาโท-เอก ประจำปี 2558 ... จัดเวทีนำเสนอผลงานวิทยานิพนธ์ แลกเปลี่ยนความรู้ ข้อคิดเห็นเชิงวิชาการ พัฒนาคุณภาพงานวิจัยของนักศึกษาในโครงการฯ หวังสร้างบุคลากรรุ่นใหม่ทางสายวิทยาศาสตร์ ที่มีศักยภาพการทำงานในภาคอุตสาหกรรมของประเทศ ก้าวสู่ประชาคมอาเซียนอย่างมั่นคง
นางฉันทรา พูนศิริ รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ วว. ชี้แจงว่า โครงการสร้างภาคีบัณฑิตในการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาโท-เอก ระหว่างสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กับ สถาบันการศึกษา ได้ดำเนินโครงการตั้งแต่ ปี 2548 ถึงปัจจุบัน โดยกับสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เป็นสมาชิกของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย หรือ ทปอ. ประกอบด้วย 27 มหาวิทยาลัย และร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาแห่งอื่นๆ ทั่วประเทศ อีก 5 มหาวิทยาลัย (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์,มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ,มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี,มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์,มหาวิทยาลัยรังสิต) มีวัตถุประสงค์หลักในการสร้างทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ และตรงกับความต้องการของภาคการผลิตทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ด้วยการรับนักศึกษาเข้ามาทำวิทยานิพนธ์ร่วมกับนักวิชาการของ วว. ที่มีประสบการณ์ในการวิจัย ความรู้ความเชี่ยวชาญ เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำ และเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาหรืออาจารย์ที่ปรึกษาร่วม จากหน่วยงานต่างๆ ของ วว. ได้แก่ ฝ่ายเทคโนโลยีการอาหาร ฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตร ฝ่ายเทคโนโลยีชีวภาพ ฝ่ายเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย ฝ่ายนวัตกรรมวัสดุ ฝ่ายเทคโนโลยีพลังงาน ฝ่ายเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร ฝ่ายวิศวกรรม และศูนย์พัฒนาและวิเคราะห์สมบัติวัสดุ เป็นต้น ซึ่งสามารถให้คำปรึกษาแนะนำแก่นักศึกษาได้เป็นอย่างดี
“...ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา โครงการ ฯ ประสบความสำเร็จด้วยดีตลอดมา ดังจะเห็นได้จากจำนวนนักศึกษาที่ร่วมโครงการฯ จำนวน 312 คน ประกอบด้วยนักศึกษาระดับปริญญาโท 273 คน และระดับปริญญาเอก 39 คน โดยมีนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโท จำนวน 195 คน ปริญญาเอก 19 คน รวม 214 คน นับเป็นความสำเร็จร่วมกันระหว่าง วว. กับหน่วยงานพันธมิตรทางการศึกษา ที่ร่วมกันสร้างและผลผลิตบุคลากรรุ่นใหม่ให้นำความรู้ความสามารถมาใช้พัฒนาวงการวิทยาศาสตร์ไทย และสร้างผลผลิตและผลลัพธ์อันเป็นประโยชน์แก่ประเทศ เตรียมความพร้อมในการเข้าไปทำงาน และช่วยภาคอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี สานเจตนารมณ์ของโครงการฯ ในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่เป็นกำลังสำคัญของชาติ เพื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอนาคต...” รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ วว.กล่าวเพิ่มเติม
สำหรับกิจกรรมการนำเสนอผลงานของนักศึกษาโครงการฯประจำปี 2558 นี้ ประกอบด้วยการเสวนาเรื่อง การส่งเสริมบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาครัฐและอุดมศึกษา ไปปฎิบัติงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม (Talent Mobility) โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรรับเชิญ ได้แก่ ผศ.ดร.พูลศักดิ์ โกษียาภรณ์ ที่ปรึกษาโครงการ Talent Mobility ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) และนายสราวุฒิ สินสำเนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท อี.พี. เดคคอร์ (ประเทศไทย) จำกัด รวมทั้งการนำเสนอผลงานของนักศึกษาในโครงการฯ จำนวน 18 เรื่อง โดยนักศึกษาจะได้มีโอกาสนำเสนอผลงาน และรายงานความก้าวหน้าของวิทยานิพนธ์ แลกเปลี่ยนความรู้ ข้อคิดเห็นเชิงวิชาการกับคณาจารย์ และผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อพัฒนางานวิจัยให้มีคุณภาพมากขึ้น ตลอดจนแนวทางการแก้ปัญหาต่างๆ และในส่วนอาจารย์ที่ปรึกษาและนักวิชาการ วว. ก็จะได้มีโอกาสรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อนำกลับไปปรับปรุงพัฒนางานวิจัยต่อไป
|
เผยแพร่ข่าว : กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail :
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน
Facebook : sciencethailand
Call Center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร.1313