กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวสารหน่วยงาน “พิเชฐ”ลงพื้นที่ชุมชนนครป่าหมาก พิษณุโลก ยกเป็นพื้นที่ต้นแบบหลังใช้ วทน. บริหารจัดการน้ำ พ้นปัญหานาท่วมน้ำแล้งซ้ำซาก

“พิเชฐ”ลงพื้นที่ชุมชนนครป่าหมาก พิษณุโลก ยกเป็นพื้นที่ต้นแบบหลังใช้ วทน. บริหารจัดการน้ำ พ้นปัญหานาท่วมน้ำแล้งซ้ำซาก

พิมพ์ PDF



    วันที่  27 สิงหาคม 2558  ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  พร้อมด้วยคณะฯ เข้าเยี่ยมชมพื้นที่ดำเนินงานบริหารจัดการน้ำชุมชนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ณ ชุมชนนครป่าหมาก ต.นครป่าหมาก อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. ได้สนับสนุนเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น แผนที่ภาพถ่ายจากดาวเทียม GPS สถานีโทรมาตรอัตโนมัติ พร้อมทั้งทำงานร่วมกับชุมชนแก้ไขปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมในพื้นที่จนประสบความสำเร็จ  โดยมี นายวิทูรัช ศรีนาม รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก นายบุญเลิศ  แก้วสระแสน ปลัดอำเภอบางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก นายยุทธนา พินิจ รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลนครป่านหมาก รักษาราชการแทนนายกองค์การบริหารส่วนตำบลนครป่าหมาก นายธนากร ทองประไพ ประธานกลุ่มบริหารจัดการน้ำชุมชนนครป่าหมาก  และประชาชนในพื้นที่ให้การต้อนรับ

      ดร.พิเชฐ กล่าวว่า ในปี 2555 กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย สสนก. และ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA)  ได้เริ่มเข้ามาสนับสนุนชุมชนนครป่าหมากวางแผนรับมือน้ำท่วม โดยนำเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น การใช้ GPS เก็บข้อมูลแหล่งน้ำและโครงสร้างทางชลศาสตร์ แสดงตำแหน่งบนแผนที่ จัดทำผังน้ำตำบลติดตามข้อมูลสภาพอากาศ และระดับน้ำจากสถานีโทรมาตรอัตโนมัติ และติดตั้งไม้วัดระดับน้ำ เพื่อประกอบการวางแผนรับมือสถานการณ์น้ำท่วม  และได้ร่วมกับชุมชนดำเนินการพัฒนาการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่แก้ปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วมซ้ำซากได้สำเร็จ และสามารถเป็นต้นแบบขยายผลไปยังพื้นที่ข้างเคียงได้





     ดร.พิเชฐ กล่าวอีกว่า ความร่วมมือในลักษณะนี้เป็นเรื่องที่สำคัญที่สังคมไทยจะต้องพยายามทำให้เกิดมากขึ้น และหากสามารถใช้ต้นแบบนี้ ขยายผลไปในส่วนอื่นๆ ประเทศไทยก็จะมีความเข้มแข็ง และยั่งยืน เพราะชาวบ้านสามารถบริหารจัดการเองหลังจากที่ได้ความรู้แล้ว กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มี 14 หน่วยงาน ที่พร้อมให้การสนับสนุนชุมชนได้ อาทิ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) มีเรื่องปุ๋ยอินทรีย์  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มีพันธุ์ข้าวทนน้ำท่วม สามารถนำมาทดลองปลูกได้ และ สทอภ. มีภาพถ่ายดาวเทียม การจะทำการเกษตรต้องคิดล่วงหน้าว่าเราจะทำอะไร  การแปรรูปทางการเกษตร จะทำให้เพิ่มมูลค่าผลผลิตได้ 5-6 เท่า และขอฝากให้ประชาชนได้สนใจว่า เกษตรกรรุ่นใหม่ ทำอย่างไรที่จะดึงเขากลับมาได้ รัฐบาลยินดีสนับสนุนชุมชนคนรุ่นใหม่ จะได้ช่วยพัฒนาประเทศในโอกาสต่อไปได้ 







       นายธนากร ทองประไพ ประธานกลุ่มบริหารจัดการน้ำชุมชนนครป่าหมาก กล่าวว่า เดิมชุมชนนครป่าหมาก ประสบปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วม ในช่วงฤดูฝน แม่น้ำวังทอง คลองโกรงเกรงใหญ่ และคลองโกรงเกรงเล็กที่ไหลผ่านตำบล มีปริมาณน้ำมาก น้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรในหลายหมู่บ้าน แต่ในช่วงฤดูแล้ง มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการทำเกษตร เนื่องจากโครงสร้างสำหรับกักเก็บและระบายน้ำเดิมไม่สามารถใช้การได้ แหล่งน้ำเดิมขาดการฟื้นฟู อีกทั้งยังไม่มีการแผนบริหารจัดการน้ำ ทำให้ประสบปัญหาดังกล่าวเรื่อยมา  จนกระทั่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และหน่วยงานต่างๆ เข้ามาให้การสนับสนุนทั้งด้านเครื่องมือ องค์ความรู้ และร่วมกันดำเนินการจนสามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมในพื้นที่ได้สำเร็จ  

  จากนั้น ดร.พิเชฐ และคณะฯ ได้เดินทางลงพื้นที่ เพื่อดูผลการดำเนินงานฟื้นฟูแหล่งน้ำและโครงสร้างบังคับน้ำ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง โดยความร่วมมือของ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ สสนก.  กองทัพบก JICA อบต.นครป่าหมาก และภาคประชาชน เช่น งานขุดลอกบึงสลุ คลองโกรงเกรง คลองอินทนินทร์ ปรับปรุงประตูระบายน้ำสามเรือน เป็นต้น สามารถเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำได้กว่า 1.28 ล้านลูกบาศก์เมตร  

      ต่อมา เดินทางไปเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้หมู่บ้านแม่ข่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บ้านบางกะน้อย หมู่ที่ 2 ต.นครป่าหมาก ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการทำเกษตรให้กับเกษตรกรและผู้ที่สนใจ รวมถึงเยี่ยมชมแปลงทฤษฎีใหม่ ที่ชาวบ้านเริ่มเปลี่ยนแนวคิดจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยวมาเป็นเกษตรผสมผสาน และปรับแผนการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับสภาวะน้ำท่วมน้ำแล้ง สุดท้ายได้เยี่ยมชมการดำเนินงานพัฒนาฟื้นฟูแหล่งน้ำบึงตะเคียน ซึ่งดำเนินการโดยกรมทรัพยากรน้ำ


ประสานงานได้ที่ : กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
เผยแพร่ข่าว : นางสาวชลธิชา แสงเทียนสุวรรณ
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732  โทรสาร 0 2333 3834

 

 
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป