วันที่ 27 สิงหาคม 2558 ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วยคณะฯ เข้าเยี่ยมชมพื้นที่ดำเนินงานบริหารจัดการน้ำชุมชนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ณ ชุมชนนครป่าหมาก ต.นครป่าหมาก อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. ได้สนับสนุนเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น แผนที่ภาพถ่ายจากดาวเทียม GPS สถานีโทรมาตรอัตโนมัติ พร้อมทั้งทำงานร่วมกับชุมชนแก้ไขปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมในพื้นที่จนประสบความสำเร็จ
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
ดร.พิเชฐ กล่าวว่า ในปี 2555 กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย สสนก. และ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ได้เริ่มเข้ามาสนับสนุนชุมชนนครป่าหมากวางแผนรับมือน้ำท่วม โดยนำเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น การใช้ GPS เก็บข้อมูลแหล่งน้ำและโครงสร้างทางชลศาสตร์ แสดงตำแหน่งบนแผนที่ จัดทำผังน้ำตำบล ติดตามข้อมูลสภาพอากาศ และระดับน้ำจากสถานีโทรมาตรอัตโนมัติ และติดตั้งไม้วัดระดับน้ำ เพื่อประกอบการวางแผนรับมือสถานการณ์น้ำท่วม และได้ร่วมกับชุมชนดำเนินการพัฒนาการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่แก้ปัญหาภัยแล้งน้ำท่วมซ้ำซากได้สำเร็จ และสามารถเป็นต้นแบบขยายผลไปยังพื้นที่
ข้างเคียงได้
นายธนากร ทองประไพ ประธานกลุ่มบริหารจัดการน้ำชุมชนนครป่าหมาก กล่าวว่า เดิมชุมชนนครป่าหมาก ประสบปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วม ในช่วงฤดูฝนแม่น้ำวังทอง คลองโกรงเกรงใหญ่ และคลองโกรงเกรงเล็กที่ไหลผ่านตำบล มีปริมาณน้ำมาก น้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรในหลายหมู่บ้าน แต่ในช่วงฤดูแล้งมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการทำเกษตร เนื่องจากโครงสร้างสำหรับกักเก็บและระบายน้ำเดิมไม่สามารถใช้การได้ แหล่งน้ำเดิมขาดการฟื้นฟู อีกทั้งยังไม่มีการแผนบริหารจัดการน้ำ ทำให้ประสบปัญหาดังกล่าวเรื่อยมา จนกระทั่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และหน่วยงานต่างๆ เข้ามาให้การสนับสนุนทั้งด้านเครื่องมือ องค์ความรู้ และร่วมกันดำเนินการจนสามารถแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมในพื้นที่ได้สำเร็จ
จากนั้น ดร.พิเชฐ และคณะฯ ได้เดินทางลงพื้นที่ เพื่อดูผลการดำเนินงานฟื้นฟูแหล่งน้ำและโครงสร้างบังคับน้ำ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง โดยความร่วมมือของ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ สสนก. กองทัพบก JICA อบต.นครป่าหมาก และภาคประชาชน เช่น งานขุดลอกบึงสลุ คลองโกรงเกรง คลองอินทนินทร์ ปรับปรุงประตูระบายน้ำสามเรือน เป็นต้น สามารถเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำได้กว่า 1.28 ล้านลูกบาศก์เมตร
ต่อมาได้เดินทางไปเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้หมู่บ้านแม่ข่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการทำเกษตรให้กับเกษตรกรและผู้ที่สนใจ รวมถึงเยี่ยมชมแปลงทฤษฎีใหม่ ที่ชาวบ้านเริ่มเปลี่ยนแนวคิดจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยวมาเป็นเกษตรผสมผสาน และปรับแผนการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับสภาวะน้ำท่วมน้ำแล้ง สุดท้ายได้เยี่ยมชมการดำเนินงานพัฒนาฟื้นฟูแหล่งน้ำบึงตะเคียน ซึ่งดำเนินการโดยกรมทรัพยากรน้ำ ก่อนจะเดินทางกลับไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลนครป่าหมาก เพื่อมอบแนวทางการดำเนินงานสำหรับพัฒนาพื้นที่ต่อไป
ที่มาของข้อมูลและผู้ส่งข่าว : สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.)
เผยแพร่ข่าว : นางสาวนีรนุช ตามศักดิ์
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail :
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน
Facebook : sciencethailand
Call Center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร.1313