![]() |
“พิเชฐ” เดินหน้าปฏิรูป วทน. หวังสร้างประเทศไทยด้วยนวัตกรรม ด้าน “กานต์ ตระกูลฮุน” ฟันธง วิถีแห่งวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ประเทศไทย พ้นกับดักจากประเทศรายได้ปานกลาง สู่ประเทศรายได้สูง ชี้ชัดหลายมาตรการของกระทรวงวิทย์ฯ ดีกว่าหลายประเทศที่พัฒนาแล้วด้วยซ้ำ
![]() |
![]() |
![]() |
24 สิงหาคม 2558 รร.รามาการ์เด้นส์ / กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานคณะกรรมการนโนยายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) จัดเวทีปฏิรูปวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ “สร้างอนาคตประเทศไทยด้วยนวัตกรรม”โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 1,000 คน ซึ่งมาจากภาคเอกชน ผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัย ตลอดจนประชาชนทั่วไป
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี กล่าวปาฐกถาเรื่อง “สร้างอนาคตประเทศไทยด้วยนวัตกรรม” โดยระบุตอนหนึ่งว่า ถึงเวลาแล้วที่คนไทยจะร่วมกันสร้างอนาคตประเทศด้วยนวัตกรรม เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจและสังคมนวัตกรรรม ต้องยอมรับว่า วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เป็นข้อต่อของการพัฒนาในทุกมิติ เปรียบเสมือนฟันเฟืองที่ต้องขับเคลื่อนไปพร้อม ๆ กัน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม โดยรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนให้เอกชนมีบทบาทในการพัฒนานวัตกรรม และมีมหาวิทยาลัยเป็นหิ้งใหญ่ที่มีของดีมากมายให้ได้ต่อยอดและดึงมาสู่ห้าง
![]() |
ดร.พิเชฐ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้สร้างมาตรการสนับสนุนในหลายส่วน เพื่อให้เกิดการพัฒนา ทั้งระบบแรงจูงใจ ที่ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษี เพิ่มขอบเขตกิจกรรมนวัตกรรม การกำหนดพื้นที่นวัตกรรมพิเศษ ในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน ก็ได้ผลักดันการให้บริการทั้ง 4 ด้าน MSTQ คือระบบมาตรวิทยา ระบบมาตรฐาน ระบบการทดสอบ และระบบการรับรองคุณภาพ การสร้างศูนย์อำนวยความสะดวกสำหรับเอกชนที่สนใจลงทุนวิจัยและพัฒนาประสานงานเชื่อมโยง ให้เข้าถึงบริการภาครัฐ การจัดทำบัญชีนวัตกรรม เพื่อเปิดโอกาสให้สินค้าเข้าสู่ตลาดภาครัฐ การยกระดับ SME ด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรม ตลอดจนถึงเครือข่ายผู้จัดการนวัตกรรม
ด้านการพัฒนากำลังคน กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ผลักดันโครงการเคลื่อนย้ายกำลังคนจากภาครัฐสู่ภาคเอกชนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในภาคเอกชนหรือโครงการ Talent Mobility การพัฒนากำลังคน STEM รองรับความสามารถในการแข่งขันและกระจายโอกาสสู่พื้นที่ในภูมิภาค นอกจากนี้ยังสร้างและพัฒนากำลังคนในสาขาที่ขาดแคลน เช่น ระบบราง นักปรับปรุงพันธุ์พืชเพื่อสร้างผลิตผลการเกษตรมูลค่าสูง รวมทั้งได้จัดทำยุทธศาสตร์ การทูตวิทยาศาสตร์ เพื่อยกระดับขีดความสามารถของประเทศ นอกจากนี้ ยังได้ปรับปรุงกฎหมาย และกฎระเบียบให้ทันสมัย อาทิ การร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (ฉบับที่ 2) เน้นตอบโจทย์ภาคการผลิตและบริการด้วย วทน. เพื่อให้เอกชนมามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายนวัตกรรมของประเทศ ตลอดจนสร้างระบบนโยบายที่เชื่อมโยงกับระบบการจัดสรรงบประมาณ
![]() |
|
![]() |
ขณะเดียวกันก็ได้ผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ให้สิทธิความเป็นเจ้าของผลงานวิจัยแก่ผู้ทำวิจัย และเปิดโอกาสให้เอกชนเป็นผู้รับทุนวิจัยพัฒนาจากภาครัฐได้ รวมถึง ร่าง พ.ร.บ.กองทุนส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรม โดยการสนับสนุนทางการเงินเพื่อจัดตั้งศูนย์วิจัยพัฒนาภาคเอกชน และลงทุนร่วมทุนในธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งการร่วมมือร่วมใจทำกันทั้งหมดเพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนด้วยนวัตกรรม
ด้านนายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เอสซีจี กล่าวว่า ตลอด 12 เดือน ที่ผ่านมาเห็นได้ชัดเจนว่า มาตรการต่าง ๆ ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ขับเคลื่อนประเทศโดยใช้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมนั้นหลายเรื่องดีกว่าหลาย ๆ ประเทศที่พัฒนาแล้วทำอยู่ด้วยซ้ำ แต่ทั้งนี้ภาคเอกชน และประชาชนต้องร่วมมือกัน มาลงทุนและเห็นความสำคัญของนวัตกรรม เช่นเดียวกับที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่
“วันนี้ พวกเราต้องปรับกระบวนคิด ให้มั่นใจ และเชื่อมันว่า วิถีทาง วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม จะเป็นทางเดียว ที่จะทำให้ประเทศไทยพ้นจากประเทศรายได้ปานกลางสู่ประเทศรายได้สูงได้” กรรมการผู้จัดการใหญ่เอสซีจี ระบุ
ประสานงานได้ที่ : กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ถ่ายภาพและวีดิโอ : นายปราโมทย์ ป้องสุธาธาร, นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
อีเมลล์ :
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน