กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวสารหน่วยงาน ซินโครตรอน จับมือ สดร. มทส. ร่วมสร้างเครื่องเคลือบกระจกกล้องดูดาวฝีมือคนไทย ใหญ่สุดในภูมิภาคอาเซียน ลดงบประมาณแผ่นดินได้กว่า 36 ล้านบาท

ซินโครตรอน จับมือ สดร. มทส. ร่วมสร้างเครื่องเคลือบกระจกกล้องดูดาวฝีมือคนไทย ใหญ่สุดในภูมิภาคอาเซียน ลดงบประมาณแผ่นดินได้กว่า 36 ล้านบาท

พิมพ์ PDF

        สถาบันวิจัยแสงซินโครตอน (องค์การมหาชน) จับมือกับ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี พัฒนาเครื่องเคลือบกระจกกล้องโทรทรรศน์ ขนาด 2.4 เมตร ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ใช้งบประมาณในการดำเนินการไป 14 ล้านบาท หากนำเข้าจากต่างประเทศต้องใช้งบประมาณถึง 50 ล้านบาท และเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงกดปุ่มสั่งงานและทอดพระเนตรการทำงานของเครื่องเคลือบกระจกกล้องโทรทรรศน์ ขนาด 2.4 เมตร เป็นครั้งแรก ณ อุทยานดาราศาสตร์ จ.เชียงใหม่ อีกด้วย

 

     ศ.น.ท.ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบัน กล่าวว่า “กล้องโทรทรรศน์ที่ติดตั้ง ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา หรือหอดูดาวแห่งชาติ ที่ตั้งอยู่บริเวณอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นกล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางกระจก 2.4 เมตร ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนประกอบเป็นกระจกเคลือบผิวด้วยอลูมิเนียม มีคุณสมบัติในการสะท้อนแสงได้ดี ทำให้การบันทึกภาพวัตถุบนท้องฟ้าที่อยู่ไกลมากๆ และมีแสงสว่างน้อยเป็นเรื่องง่าย แต่หลังจากที่มีการใช้งานประมาณ 2 ปี  การสะท้อนแสงของอลูมิเนียมที่เคลือบบนผิวกระจกจะเสื่อมสภาพลง ทำให้ภาพที่บันทึกได้มีคุณภาพลดลงตามไปด้วย  การซ่อมบำรุงด้วยการเคลือบผิวอลูมิเนียมใหม่จึงเป็นสิ่งจำเป็น  แต่ด้วยข้อจำกัดของขนาดกระจกที่ใหญ่ถึง 2.4 เมตร และน้ำหนักที่มากถึง 1.5 ตัน จึงทำให้ในประเทศไทยยังไม่มีที่ใดสามารถให้บริการเคลือบได้ และการจะนำเข้าเครื่องเคลือบกระจกจากต่างประเทศต้องใช้เงินลงทุนสูงถึง 50 ล้านบาท สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) (สซ.) จึงร่วมกับ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ออกแบบและพัฒนาระบบเคลือบกระจก เพื่อผลิตเครื่องเคลือบกระจกขนาดใหญ่ที่มีเทคโนโลยีการเคลือบกระจกที่ทันสมัยและคุณภาพดีทัดเทียมกับการนำเข้าจากต่างประเทศ นอกจากนี้ เครื่องเคลือบกระจกดังกล่าวยังสามารถเคลือบกระจกสะท้อนแสงของกล้องโทรทรรศน์ที่มีขนาดเล็กกว่า 2.4  เมตร ซึ่งสามารถให้บริการแก่สถาบันการศึกษาและหน่วยงานต่างๆ ได้ด้วย ขณะนี้ได้ดำเนินการสร้างและประกอบชิ้นส่วนเสร็จเรียบร้อยแล้วและได้ติดตั้ง ณ อุทยานดาราศาสตร์ จ.เชียงใหม่ เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2558 อีกทั้งได้มีพิธีเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2558 โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการทำงานของเครื่องเคลือบกระจกเป็นครั้งแรกอีกด้วย”

    นายสำเริง ด้วงนิล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาวิศวกรรม กล่าวว่า “การออกแบบและสร้างเครื่องเคลือบกระจกดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถทางเทคโนโลยีตลอดจนฝีมือช่างที่สะสมมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง จึงจะสามารถออกแบบและสร้างเครื่องเคลือบกระจกที่มีคุณภาพสูงได้ ตลอดระยะเวลาไม่ต่ำกว่าสิบปีที่ผ่านมาสถาบันฯ ได้สั่งสมประสบการณ์ในการออกแบบพัฒนา จัดสร้างอุปกรณ์และเครื่องมือสุญญากาศระดับสูงให้บริการแก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนมาโดยตลอด ซึ่งเป็นฐานของการพัฒนาเครื่องเคลือบกระจกนี้ เทคโนโลยีเคลือบกระจกที่ใช้ เป็นระบบสุญญากาศ เคลือบด้วยวิธีการสปัตเตอริ่ง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้การเรียงตัวของโลหะบนพื้นผิวกระจกมีความเรียบสม่ำเสมอ อีกทั้งสามารถความคุมความบางของโลหะได้ในระดับนาโนเมตร ซึ่งถือเป็นหน่วยที่บางมาก นอกจากนี้ระบบยังถูกออกแบบให้ใช้ได้กับโลหะหลากหลายประเภท ตั้งแต่ อลูมิเนียม ทองคำ ทองแดง และซิลิกา เพื่อการนำไปใช้งานที่แตกต่างกัน

 

 

       การจัดสร้างและพัฒนาระบบเคลือบกระจกฯ ใช้งบประมาณดำเนินการ 14 ล้านบาท ซึ่งหากสั่งซื้อจากต่างประเทศจะมีราคาไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 50 ล้านบาท ทำให้สามารถประหยัดงบประมาณของแผ่นดินไปถึง 36 ล้านบาท หรือประมาณ 72% จากการนำเข้าระบบดังกล่าวฯ ผลงานนี้ถือเป็นหนึ่งความภาคภูมิใจของคนไทยที่สามารถผลิตขึ้นได้เองและมีราคาถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศมากกว่าครึ่ง เทคโนโลยีที่เกิดจากการพัฒนาเครื่องเคลือบกระจกนี้ สามารถนำไปต่อยอดพัฒนาเป็นนวัตกรรมสำหรับภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้งานเทคโนโลยีเครื่องกระจกได้หลากหลายไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมฮาร์ดไดรฟ์ อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ และอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภค เช่น การเคลือบฟิล์มบางที่ต้องการการสะท้อนแสงได้ดีสำหรับเลนส์แว่นตาหรือกล้องถ่ายรูป ฟิล์มบางที่มีความโปร่งแสงแต่ป้องกันความร้อนได้ดี สำหรับกระจกรถยนต์หรือติดกระจกบนอาคารสูง ฟิล์มบางที่มีคุณสมบัติการนำไฟฟ้าสำหรับอุปกรณ์จอสัมผัส เช่น Touch screen บนจอมือถือหรือจอคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ”

 

ผู้ประสานงาน น.ส.ศศิพันธุ์ ไตรทาน, น.ส.กุลธิดา พิทยาภรณ์

เบอร์โทรศัพท์ 0-4421-7040 ต่อ 1251-2  โทรสาร 0-4421-7047

อีเมลล์: อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน , อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน , อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน

 
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป