กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวสารหน่วยงาน ดร.พิเชฐ ชี้หัวใจสำคัญของประเทศ คือความเข้มแข็งของชุมชน

ดร.พิเชฐ ชี้หัวใจสำคัญของประเทศ คือความเข้มแข็งของชุมชน

พิมพ์ PDF

    เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วย ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และคณะได้นำทัพสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานและรับฟังความคิดเห็นจากชุมชนบ้านนางอย อ.เต่างอย จ.สกลนคร ในโครงการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาชนบท จังหวัดสกลนคร ภายใต้หัวใจหลักของการดำเนินงานคือ“การสร้างความอยู่ดีกินดีด้วยโครงการวิสาหกิจชุมชน” ซึ่งเกิดจากการดำเนินงานของ สวทช. โดย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือ ไบโอเทค ดำเนินการขึ้นเพื่อสนับสนุนการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมและอาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องของชุมชน โดยมีนายบุญส่ง เตชะมณีสถิต ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร และชาวบ้าน ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น

      ดร.พิเชฐ กล่าวว่า ความแปลกใหม่ของบ้านนางอยคือสามารถสัมผัสได้ว่าเมื่อใดมีความร่วมมืออย่างเข้มแข็งจากทุกฝ่าย สามารถทำให้การเดินหน้าการผลิตเป็นไปได้ด้วยดีและสิ่งที่หวังจากการลงพื้นที่ในครั้งนี้คือการก้าวพ้นปัญหาอุปสรรคต่างๆ ด้วยการทำงานแบบบูรณาการจาก 4 ประสานหลัก คือ กลไกลการดำเนินงานของภาครัฐที่เป็นผู้เอื้ออำนวยสนับสนุนทรัพยากรและเทคโนโลยี หน่วยงานที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยี ภาคการผลิต การตลาด และ ชุมชนที่เป็นส่วนประสานสำคัญ ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯโดย ศูนย์ไบโอเทค ภายใต้ สวทช. ได้เล็งเห็นความสำคัญของชุมชนชนบท ที่เป็นรากฐานของคนส่วนใหญ่ทั้งประเทศ จึงมีการส่งเสริมการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละชุมชน โดยได้จัดทำ “โครงการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาชนบทจังหวัดสกลนคร” เพื่อเป็นการสนับสนุนการใช้ วทน. ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมและอาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ชุมชน อ.เต่างอย โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการและจัดกิจกรรมต่างๆ ที่สำคัญหลายประการ เช่น การสนับสนุนเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีให้กับกลุ่มเกษตรกรบ้านนางอยและหมู่บ้านเครือข่ายอีกจำนวน 5 หมู่บ้าน การจัดฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ การส่งเสริมการปลูกพืชในช่วงฤดูแล้ง และการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร

       "อนาคตของชุมชนสามารถขับเคลื่อนได้ด้วยคนรุ่นใหม่ โดย วท. จะทบทวนเรื่องการส่งเสริมสนับสนุนและจัดตั้งให้มีกลุ่มลูกหลานเกษตรกรคนรุ่นใหม่ ที่เข้าถึง อินเตอร์เน็ต เฟสบุ๊ค หรือสื่อโซเชี่ยลอื่นๆ และประสงค์กลับถิ่นฐานเดิมเพื่อถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยีให้กับบรรพบุรุษ พร้อมสร้างความเจริญกิจการธุรกิจ โดยเฉพาะการถ่ายทอด Social Business ให้เกิดความเข้มแข็ง เพิ่มพูนรายได้อย่างยั่งยืน ผมเชื่อว่า ความเข้มแข็งของชุมชน คือความเข้มแข็งของประเทศ” ดร.พิเชฐ กล่าว

         นายบุญส่ง เตชะมณีสถิต ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่างๆ ได้ขับเคลื่อนการผลิตและได้รับความร่วมมือจากประชาคมสกลนคร ในการจัดตั้งบริษัทธุรกิจเพื่อสังคม ในนามบริษัท ธุรกิจเพื่อการพัฒนาการเกษตร จำกัด เป็นผู้สนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิต ซึ่งประกอบไปด้วย กลุ่มผู้ผลิตข้าวกล้องงอกบ้านนางอย กลุ่มหมู่บ้านแม่ข่าย วทน. ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และในวันนี้นับเป็นวันที่ดีที่ ดร.พิเชฐ ได้มาเยี่ยมชมบ้านนางอย โดยได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการนำ วทน. มาพัฒนาพันธุ์ข้าว พร้อมสนับสนุนเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีให้กับกลุ่มเกษตรกร และส่งเสริมการจัดทำแปลงนาเรียนรู้ แปลงนาสาธิต ให้กับเกษตรกรเพื่อสนับสนุนกิจกรรมเรื่องหมู่บ้านแม่ข่าย วทน. การปลูกต้นคราม การย้อมคราม ตลอดจนการเลี้ยงโคขุนคุณภาพดี และต่อไปชุมชนบ้านนางอยจะได้รับความรู้ใหม่เกี่ยวกับน้ำหมักข้าวเพื่อพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น

      ด้านดร.ทวีศักดิ์ กล่าวว่า กระบวนการขับเคลื่อนวิสาหกิจชุมชน กระบวนการเรียนรู้นับว่าเป็นหัวใจสำคัญยิ่ง ศูนย์ไบโอเทค / สวทช. จึงได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค อาทิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติสกลนคร มหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยนครพนม ได้พยายามนำความรู้ด้าน วทน. มาสนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่เกิดขึ้นจากโครงการหลวง โดยเฉพาะบ้านนางอย ที่ได้เข้าเป็นโครงการหมู่บ้านแม่ข่าย วทน. ด้านการผลิตข้าวของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2553

 

     สำหรับบ้านนางอย โพนปลาไหล เป็นหมู่บ้านเป้าหมายในโครงการพระราชดำริ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2525 และเป็นที่ตั้งของโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2525 ปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนสถานภาพมาเป็นบริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ภายใต้การดำเนินงานของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 ในพื้นที่ อ.เต่างอย มีอ่างเก็บน้ำในโครงการพะราชดำริหลายแห่งที่สำคัญคือ ห้วยหวดและห้วยค้อ และเมื่อปี พ.ศ.2550 ศูนย์ไบโอเทค / สวทช. ร่วมกับประชาคมสกลนครดำเนินโครงการ “วิสาหกิจชุมชน โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป” เพื่อต่อยอดโครงการพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้เกษตรกรได้ใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำในการปลูกพืชหลังนา โดยการรวมกลุ่มเกษตรกรจดทะเบียนเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้ สามารถผลิตวัตถุดิบได้ด้วยตนเอง อีกทั้งยังสามารถเชื่อมโยงเข้าสู่กระบวนการแปรรูปในระดับอุตสาหกรรม โดยกลไกของ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด

 

      นอกจากนี้ในช่วงบ่าย ดร.พิเชฐ และคณะ ได้มีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมชมร้านครามสกล ผู้ผลิตธุรกิจผ้าย้อมครามผลิตภัณฑ์เด่นของ จ.สกลนคร ภายใต้แบรนด์ "ครามสกล" ที่นับเป็นอีกผลิตภัณฑ์เด่นที่เป็นมรดกจากภูมิปัญญาของ จ.สกลนคร และสร้างชื่อเสียงของไทยในตลาดต่างแดน โดยคุณสุรัตน์ อัตตะ อดีตนักวิจัยไบโอเทค พร้อมนี้ได้เดินทางไปมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครเพื่อรับฟังการดำเนินงานของคลีนิคเทคโนโลยี ที่เป็นกลไกส่งเสริมให้เกิดการแพร่กระจายและถ่ายทอดเทคโนโลยีผลงานวิจัยและพัฒนาความรู้ ความเชี่ยวชาญระหว่าง วท. และสถาบันการศึกษา

 

เขียนข่าว : นางสาวนีรนุช  ตามศักดิ์

ถ่ายภาพ : นายภูษิต โพธิ์แสง  และ นางสาวพจนพร แสงสว่าง

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732  โทรสาร 0 2333 3834

e-mail :   อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน

Facebook : sciencethailand

Call Center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร.1313

 

 
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป