กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวสารหน่วยงาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงแสดงปาฐกถาพิเศษ (ภาษาอังกฤษ) เรื่อง นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ของเอเชีย (Young Scientists of Asia) ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดการประชุม Asian Science Camp ครั้งที่ 9

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงแสดงปาฐกถาพิเศษ (ภาษาอังกฤษ) เรื่อง นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ของเอเชีย (Young Scientists of Asia) ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดการประชุม Asian Science Camp ครั้งที่ 9

พิมพ์ PDF

 

 
         ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มาพบกับนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลก และได้มีโอกาสพูดกับนักเรียนนักศึกษาของเอเชียผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์  ขอต้อนรับสู่ประเทศไทย ยุคนี้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีบทบาทสูงมากต่อชีวิตและสังคมของเรา จึงอาจกล่าวได้ว่า อนาคตของเอเชีย แม้ของโลกด้วย อยู่ในมือของท่านทั้งหลาย
 
         การศึกษาวิทยาศาสตร์
         การเรียนวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องของการสนใจใฝ่เรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติอันน่าพิศวง ผู้ที่ช่างสังเกตจะอยากรู้เหตุผลของปรากฏการณ์ต่างๆ ว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น  อีกพวกหนึ่ง คือผู้ที่ประสบกับปัญหาแล้วอยากจะแก้ปัญหานั้น เช่น มีญาติพี่น้องป่วยหนัก รักษาไม่หาย ก็อาจจะอยากจะเป็นหมอเพื่อหาวิธีรักษาโรคนั้น หรือตัวเองพิการหรือคนที่ตนรักมีความพิการ ก็อยากจะค้นหาเทคโนโลยีที่จะช่วยให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตอย่างปกติ  ไปโรงเรียนได้ ทำงานได้ และไปเที่ยวสนุกสนานได้เหมือนคนอื่น นี่คือแรงบันดาลใจให้เกิดความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 
        ความจริงแล้ว ในแต่ละวันเราทุกคนต้องใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ อย่างน้อยก็ต้องมีกระบวนการแก้ปัญหาและการคิดอย่างมีเหตุผล ดังนั้น วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์จึงจำเป็นสำหรับทุกคน ไม่เพียงแต่เฉพาะนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเท่านั้น
 
        วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือของการพัฒนา
        ข้าพเจ้ามิได้เป็นนักวิทยาศาสตร์หรือวิศวกร ข้าพเจ้าเรียนมาทางประวัติศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และการศึกษา ในช่วงวัยเรียนข้าพเจ้าตามเสด็จฯทูลกระหม่อมพ่อและสมเด็จแม่ไปทำงานในชนบทและถิ่นห่างไกลในต่างจังหวัดเป็นส่วนมาก จึงยากที่จะเรียนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในชั้นเรียน แต่การที่ข้าพเจ้าได้ออกไปในถิ่นทุรกันดารทำให้ได้เห็นโจทย์จริงที่ต้องแก้ไขและวิธีการแก้ไขปัญหาต่างๆจึงได้เรียนรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากประสบการณ์ ได้มีโอกาสเรียนรู้จากนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรจำนวนมากที่อาสาไปช่วยงานพระราชดำริฯต่างๆ ซึ่งในตอนนั้นส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเกษตร
           พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างมากในการทรงงาน บางครั้งก็ทรงลงมือประดิษฐ์คิดต้นเทคโนโลยีด้วยพระองค์เอง ดังตัวอย่างต่อไปนี้
           น้ำเพื่อการเกษตร เฉพาะเรื่องน้ำทรงใช้วิทยาศาสตร์หลายด้าน อาทิ การชลประทาน ภูมิศาสตร์ อุตุนิยมวิทยา การทำแผนที่ การแปลภาพถ่ายทางอากาศและภาพถ่ายระยะไกล และปฐพีวิทยา เป็นต้น
           ฝนเทียม ทรงคิดค้นวิธีสร้างฝนเทียมในพื้นที่ที่จำเป็น หรือเพื่อกักเก็บน้ำในอ่างเก็บน้ำ ปัจจุบันใช้กำจัดหมอกควันและดับไฟป่าในภาคเหนือด้วย
            กังหันชัยพัฒนา เป็นสิ่งประดิษฐ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เรียบง่าย แต่มีประโยชน์มาก และใช้กันอย่างกว้างขวาง เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสีย
          การ “แกล้งดิน” เป็นนวัตกรรมจากความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงค้นคิดขึ้น เพื่อแก้ปัญหาดินเปรี้ยวในจังหวัดภาคใต้ ด้วยวิธีการดึงเอาสารเคมีที่ทำให้ดินเปรี้ยวออกมาจากชั้นดินที่ใช้เพาะปลูก ด้วยปฏิกิริยาทางเคมี แล้วถ่ายน้ำที่เป็นกรดนั้นออกไป 
          ICT ทรงใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นเครื่องมือที่สำคัญของการพัฒนา ปัจจุบันเทคโนโลยีนี้เป็นฐานของนโยบายเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย
          การเกษตรเป็นตัวอย่างการบูรณาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหลากหลายสาขา อาทิ การเพาะพันธุ์พืชและสัตว์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร เทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว แม้กระทั่งการบรรจุหีบห่อผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ ยังเกี่ยวข้องกับการขนส่ง พลังงาน และ โลจิสติกส์ ด้วย
         ปัจจุบัน มีโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริจำนวนมาก โดยมูลนิธิชัยพัฒนาประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ มูลนิธินี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตั้งขึ้น และข้าพเจ้าดูแลอยู่ในปัจจุบัน เราใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีค่อนข้างมาก โดยยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นพื้นฐาน ยึดหลักทางสายกลาง ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสมดุลธรรมชาติ โดยมีเป้าหมายคือ การพัฒนาอย่างยั่งยืน
          ข้าพเจ้าได้เรียนรู้มากมายและได้แนวความคิดจากโครงการเหล่านี้ ข้าพเจ้าเห็นว่ารากเหง้าของปัญหาของมนุษย์คือการไม่มีความรู้และข้อมูลที่เพียงพอ จึงนำไปสู่ปัญหาต่างๆ  ทั้งปัญหาสุขภาพและความยากจน  สุขภาพที่ดีและการศึกษาที่ดีเป็นกุญแจสำคัญของการพัฒนา

           การพัฒนาความสามารถของมนุษย์
           ข้าพเจ้ามีอาชีพหลักเป็นครูและนักบริหารการศึกษา ข้าพเจ้ามีหน้าที่พัฒนาความสามารถของคน หลักการสำคัญของวิชาชีพของข้าพเจ้าคือ ต้องพยายามทุกวิถีทางที่จะส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างเต็มที่ เพื่อให้มีความรู้ทุกๆด้านมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทุกคนควรมีโอกาสเรียนให้เต็มตามศักยภาพสูงสุดของเขา  และจากประสบการณ์ข้าพเจ้าก็พบว่าเมื่อให้โอกาสแล้ว หลายคนที่เคยด้อยโอกาสก็สามารถสำเร็จการศึกษาในวิชาชีพชั้นสูงต่างๆ ได้ อาทิ ครู แพทย์ นักวิทยาศาสตร์ วิศวกร พยาบาล และหลายคนกลับไปทำงานช่วยเหลือชุมชนของตน
 
           โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน 
            ข้าพเจ้าเริ่มทำโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันใน ๓ โรงเรียนในถิ่นทุรกันดารเมื่อ ๓๕ ปี มาแล้ว โดยตั้งใจให้โรงเรียนสามารถผลิตอาหารได้เอง  เพื่อให้เด็กมีอาหารที่ดี จึงจะเรียนได้ดี จากนั้นก็ขยายผล มีการพัฒนาทุกด้านเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การเกษตรของบางโรงเรียนสามารถขายผลผลิตที่มีมากเกินบริโภคเอง สามารถนำมาขายได้ โดยจัดในรูปแบบสหกรณ์  ทำให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องธุรกิจด้วย
            ในแปลงเกษตร นักเรียนยังได้เรียนรู้หลายเรื่องที่เกี่ยวกับรายวิชาตามหลักสูตร อาทิ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษา พลศึกษา และแม้กระทั่งศิลปะ  นับว่าเป็นการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติอย่างแท้จริง (learning by doing) นักเรียนทำโครงงานวิทยาศาสตร์เพื่อตอบโจทย์ที่เขาประสบในชีวิตจริง นักเรียนสามารถเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชเพื่อขยายพันธุ์พืชที่มีคุณค่ารวมทั้งพืชที่หายากได้
            ปัจจุบัน โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันได้ขยายผลไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เวียดนาม เมียนมาร์ มองโกเลีย ภูฐาน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ติมอร์เลสเต และบังกลาเทศ
 
            วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อผู้ด้อยโอกาส
             ในฐานะที่เป็นครู ข้าพเจ้าพยายามส่งเสริมการศึกษาเพื่อทุกคน ซึ่งรวมถึงผู้ด้อยโอกาสต่างๆ ได้แก่ ผู้พิการ ผู้ต้องขัง เด็กป่วยเรื้อรัง เด็กไร้ที่อยู่ในช่วงภัยพิบัติ และผู้ลี้ภัย เป็นต้น ข้าพเจ้าได้ใช้ ICT เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้ด้อยโอกาส  ได้พยายามช่วยแม้เด็กที่บกพร่องทางสายตาที่อยากจะเรียนทางสาขาวิทยาศาสตร์ ให้เขามีโอกาสเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายสายวิทยาศาสตร์ บางคนก็พอจะเรียนไปได้ ข้าพเจ้าคงต้องพยายามต่อไป
                สำหรับผู้พิการ ก็ต้องออกแบบอุปกรณ์ ICT ให้เหมาะกับความพิการของแต่ละคน เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสเรียนรู้เหมือนกับคนอื่น

                 การส่งเสริมวิทยาศาสตร์เพื่อสร้างนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่
           ดังได้กล่าวมาแล้วว่า วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์สำคัญต่อการพัฒนาความอยากรู้อยากเห็นและทักษะการแก้ปัญหาของเด็กทุกคน จะทำได้มากหรือน้อยแค่ไหนก็แล้วแต่ความสามารถของเด็กแต่ละคน ข้าพเจ้าได้ส่งเสริมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ระดับอนุบาล จนถึงระดับมหาวิทยาลัย ในระดับอนุบาล ข้าพเจ้ามีโครงการชื่อว่า บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ส่วนในโรงเรียนก็มีโครงการวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนทั้งในชนบทและในเมือง รวมทั้งมีโครงการส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษอีกหลายโครงการเพื่อสร้างนักวิทยาศาสตร์สำหรับอนาคต
          สำหรับผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็พยายามส่งเสริมให้เขาเรียนจนถึงระดับปริญญาเอกและหลังปริญญาเอก เพื่อให้มีความเชี่ยวชาญในสาขาที่เขาสนใจ  และพยายามหาโอกาสให้เขาได้ทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนนานาชาติ อาทิ Asian Science Camp, International Science and Mathematics Olympiads, CERN Summer School Programs ที่เจนีวา, DESY Workshop ที่ฮัมบวร์ก, Lawrence Livermoore National Laboratory ที่แคลิฟอร์เนีย, Nobel Laureates Meeting ที่ลินเดา, GYSS หรือ Global Young Scientists Summit ที่สิงคโปร์, Chinese Academy of Sciences ในประเทศจีน เป็นต้น  นักเรียนหลายคนมีโอกาสได้รับทุนเรียนต่อในต่างประเทศ หลายคนสำเร็จการศึกษาแล้ว และประสบความสำเร็จในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสาขาระดับแนวหน้า เช่น ฟิสิกส์อนุภาค เทคโนโลยีระดับนาโน วิศวกรรมชีวแพทย์ ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ เป็นต้น โดยทำงานร่วมกับนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นนำของโลก  วิทยาศาสตร์เป็นศาสตร์สากล ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์จึงทำงานร่วมกันเพื่อมนุษยชาติโดยไม่มีข้อจำกัดด้านเผ่าพันธุ์ ศาสนา เพศ หรือเชื้อชาติ
         ในฐานะนักการศึกษา ข้าพเจ้ามีหน้าที่เชื่อมโยงผู้มีความสามารถพิเศษเหล่านี้กับผู้เชี่ยวชาญและองค๋กรหรือหน่วยงานที่เชี่ยวชาญในเรื่องต่างๆ เพื่อช่วยให้คนรุ่นใหม่เหล่านี้มีโอกาสพัฒนาความสามารถของเขาแต่ละคนให้ถึงที่สุด ข้าพเจ้าจะพยายามทำหน้าที่นี้อย่างเต็มที่ และหวังว่าสักวันหนึ่ง เขาจะช่วยสร้างความเจริญและเผยแพร่วิทยาศาสตร์ต่อไป ทั้งให้แก่นักวิทยาศาสตร์รุ่นต่อไปและแก่ทุกคนด้วย เพราะในศตวรรษที่ ๒๑ ทุกคนควรมีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพียงพอที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี
 
                ความท้าทายในศตวรรษที่ ๒๑
                ศตวรรษที่ ๒๑ มีปัญหาที่ท้าทายหลายอย่าง ข้าพเจ้าขอเสนอบางเรื่องดังนี้
                เกษตรแม่นยำ Precision Agriculture
             ปัจจุบัน ที่ดินทำการเกษตรเหลือน้อยมาก แรงงานก็หายากขึ้น แต่ความต้องการอาหารเพิ่มขึ้น เนื่องจากประชากรและการบริโภคเพิ่มขึ้น แต่สภาวะธรรมชาติกลับไม่เอื้อต่อการทำการเกษตร อาทิ ภาวะโลกร้อน ทรัพยากรธรรมชาติที่หมดไป แหล่งน้ำจืดที่ลดน้อยลง และพลังงานฟอสซิลที่กำลังจะหมดไป ในสภาพเช่นนี้ เทคโนโลยีการเกษตรและการส่งเสริมการเกษตรแบบดั้งเดิมจะไม่สามารถรับมือได้ คงต้องปรับเปลี่ยนวิธีการใหม่ที่ใช้ความรู้และเทคโนโลยีมากขึ้น  ด้วยเหตุนี้ ปัจจุบันจึงกล่าวถึงกัน เกษตรแม่นยำ หรือ Precision Agriculture  หรือเกษตรฉลาด Smart Farming  ซึ่งต้องมีข้อมูลที่แม่นยำและมีการวิเคราะห์ข้อมูล เกี่ยวกับดิน การใช้ปุ๋ย สภาพอากาศ การใช้เครื่องมืออุปกรณ์ และการดูแลสุขภาพสัตว์ เป็นต้น
            ต่อไปอาจจะมีปัญหาว่าใครเป็นเจ้าของข้อมูล เพราะบริษัทยักษ์ใหญ่ย่อมได้เปรียบเรื่องข้อมูล ซึ่งจะทำให้เขาได้เปรียบเกษตรกรทั่วไป กล่าวกันว่ายุคต่อไปเป็นยุค Internat of Things หรือ Internet of Everything ซึ่งเกษตรกรรายใหญ่จะได้เปรียบกว่าเกษตรกรรายย่อย  นี่คงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ FAO ประกาศให้ปี ค.ศ. ๒๐๑๔ เป็นปีสากลแห่งเกษตรครัวเรือน เพื่อต้องการส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยและรณรงค์การบริโภคผลผลิตการเกษตรที่สดและเสริมสุขภาพ
              ประเทศไทยก็มีเกษตรแบบ intensive farming อยู่บ้าง แต่เรายังไม่ค่อยได้พูดถึง smart farming มากนัก  แต่รัฐบาลก็ได้พยายามส่งเสริม smart farmer  โดยให้การอบรมและช่วยเหลือเกษตรกรให้รู้จักวิธีการใช้ข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยซอฟท์แวร์ที่รัฐให้บริการแก่เกษตรกรโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย  ความช่วยเหลือจากรัฐทำให้เกษตรกรยังไม่ต้องพึ่งบริษัทใหญ่มากนัก  คำว่า smart farmer ของไทยหมายถึงเกษตรกรที่มีความรู้ มีศักยภาพดี หน่วยราชการคัดเลือกมารับการอบรมเรื่องการใช้น้ำอย่างประหยัด การเพาะปลูกบำรุงดิน การกำจัดศัตรูพืชด้วยวิธีธรรมชาติหรือชีววิถี การเก็บเกี่ยว การขาย เป็นต้น
          ดังนั้น เกษตรแม่นยำ จึงเป็นความท้าทายที่สำคัญอย่างหนึ่งของศตวรรษที่ ๒๑ ชื่อก็บ่งบอกว่าต้องใช้นวัตกรรมและต้องคิดค้นสิ่งใหม่ๆ  ที่สำคัญคือ ต้องมีความแม่นยำในเรื่องข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการเกษตร ให้ปริมาณและคุณภาพทันกับความต้องการอาหารและตลาดอาหารที่เปลี่ยนแปลงไป
 
             การแพทย์แม่นยำ Precision Medicine
            ด้านการแพทย์ก็เช่นเดียวกัน มีความท้าทายเรื่อง การแพทย์แม่นยำ หรือ Precision Medicine   ต่อไปการแพทย์จะเป็นการรักษาที่มีวิธีการแม่นยำเฉพาะเจาะจงเป็นรายบุคคล การแพทย์นี้อาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ระดับแนวหน้า ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศและพันธุกรรมของแต่ละบุคคล อาทิ Bioinformatics, Genomics, Gene Therapy เป็นต้น
 
             การพัฒนาที่ยั่งยืนและสมดุล
          เป็นเวลานานหลายปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เศรษฐกิจพอเพียงหมายถึงเศรษฐกิจที่คำนึงถึงความสมดุลระหว่างทรัพยากรที่มีอยู่กับการใช้พลังงาน และระหว่างการบริโภคกับการจัดการกำจัดของเสีย จึงจะสามารถรักษาสมดุลของธรรมชาติได้ การพัฒนาที่ยั่งยืนยังหมายถึงความยั่งยืนของสุขภาวะที่ดีของประชาชนอีกด้วย
          ตัวอย่างหนึ่งคือ เกษตรผสมผสาน หรือ ทฤษฎีใหม่ เกษตรกรจะเลี้ยงสัตว์และปลาหลายประเภท และเพาะปลูกพืชหลายประเภท ทำให้เกษตรกรลดความเสี่ยงต่อภาวะความแปรปรวน
              นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อให้เกษตรกรรายย่อยรวมกลุ่มกัน เกิดพลังในการต่อรอง ทำให้สามารถซื้อของในราคาที่ถูกลง ระบบเศรษฐกิจพอเพียงเป็นการปรับความคิดเกี่ยวกับการบูรณาการ องค์รวม ความสมดุล และความเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ มนุษย์ไม่ใช่เป็นนายของธรรมชาติ ระบบนี้ต้องใช้ความรู้และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์
              ในยุคโลกาภิวัตน์ เราแข่งขันกัน แต่เราต้องร่วมมือกันด้วย เราควรแข่งขันกันเพื่อให้ได้ผลงานที่ดียิ่งขึ้น และต้องร่วมมือกันเพื่อให้ได้ความคิดที่รอบด้านและดีขึ้น จึงจะแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้  การพัฒนาก็เช่นเดียวกัน เราไม่ควรจะมุ่งแข่งขันกันด้านการเติบโต(Competitive Growth) แต่เพียงด้านเดียว แต่ต้องคำนึงถึงผู้ด้อยโอกาสด้วย (Inclusive Growth) รวมทั้งคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Green Growth) เราควรยึดการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) เป็นเป้าหมาย แม้เป็นงานที่ยาก แต่ก็หวังว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะช่วยได้
                บทสรุป
                สรุปว่า เอเชียมีคนรุ่นใหม่ผู้มีความสามารถพิเศษมากมาย เราสามารถจะอยู่ในระดับแนวหน้าได้ในศตวรรษที่ ๒๑ 
                       • เราจะยึดการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นปรัชญาหลัก
                       • เราจะร่วมมือกันวิจัยและคิดค้นนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ 
                       • เราจะร่วมมือกันสร้างพลังประชาชนที่มีความสุข มีสุขภาพดี และมีการศึกษาที่ดี
                ทุกปี Asian Science Camp จะนำคนเอเชียรุ่นใหม่มาพบกัน เพื่อทำความรู้จักกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน โดยมีนักวิทยาศาสตร์และนักคณิตศาสตร์อาวุโสชั้นนำคอยให้คำแนะนำ นับเป็นโอกาสอันดีที่เยาวชนจะได้พบกับผู้ที่มีความสนใจคล้ายกัน วันข้างหน้าอาจจะมีโอกาสสร้างสรรค์งานด้วยกัน เพื่อร่วมกันสร้างเอเชียที่เข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป
 
ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จและขอขอบคุณมาก 
 
 
ปาฐกถาพิเศษ (ภาษาอังกฤษ) เรื่องนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ของเอเชีย (Young Scientists of Asia)
โดย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในพิธีเปิดการประชุม Asian Science Camp ครั้งที่ 9
ณ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ปทุมธานี 3 สิงหาคม 2558
 
 
 
เผยแพร่โดย : กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทร. 02 333 3727-3732  โทรสาร 02 333 3834  
E-Mail : อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน  Facebook : sciencethailand
 

 

 
 
 
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป