วท.หนุนนโยบายนายกฯ ยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันเป็นวาระแห่งชาติ พาไทยพ้นยากจน เอกชนชม “ดร.พิเชฐ” ปลดล็อคปัญหาเรื้อรังสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ทำกำไรเพิ่มหลายเท่าตัว ตามที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีนโยบายสนับสนุนการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเป็นวาระแห่งชาติ โดยมีภาคเอกชนเป็นผู้นำและภาครัฐเป็นผู้สนับสนุน เน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี และสร้างกลไกการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพและพัฒนาต่อเนื่องในระยะยาว
วันนี้ (17 กรกฎาคม) ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปาฐกถาพิเศษในงาน “Thailand Competitiveness Conference 2015” จัดขึ้นโดย สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (Thailand Management Association: TMA) ภายใต้หัวข้อ Building Competitiveness Thailand for Sustainability and Inclusiveness ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ กล่าวว่า การนำความรู้ไปให้กับประชาชน เป็นเรื่องสำคัญทั้งในภาคสังคมและภาคเศรษฐกิจ ที่จะสร้างความยั่งยืนให้กับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ดังตัวอย่างของการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) กับชาวบ้านในหมู่บ้านลิ่มทอง จ.บุรีรัมย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งที่มีมานานกว่า 40 ปี ซึ่งปัจจุบันชาวบ้านได้จัดทำแหล่งเก็บน้ำที่ไม่ต้องขุดลอกตะกอน มีถนนน้ำเดินที่กลายเป็นคลองส่งน้ำเมื่อยามฝนตก อ่านแผนที่ดาวเทียมและวางแผนการบริหารจัดการน้ำได้เอง รวมไปถึงการสร้างบัญชีครัวเรือน สำหรับภาคเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญในการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีให้กับภาคเอกชน รวมไปถึงการให้สิทธิประโยชน์กับเอกชนที่ลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา สร้างระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่คุยกับมานานกว่า 10 ปีให้เกิดผล พร้อมจัดทำบัญชีนวัตกรรม และยังเตรียมออกกฎหมายให้ผู้ประกอบการใหม่ได้ “แจ้งเกิด” ทั้งเรื่องของการเข้าถึงแหล่งทุนนวัตกรรม การสนับสนุนเทคโนโลยีให้กับเอสเอ็มอี การจัดระบบฐานข้อมูลให้ภาคเอกชนเข้าถึงการทดสอบและรับรองมาตรฐานโดยการบูรณาการงานร่วมกับ 10 กระทรวง
ดร.พิเชฐ ยังได้หยิบยกประเด็นคำถามจากนักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ที่ตั้งคำถามว่า “เมื่อรัฐให้ทุนพวกเขามาเรียนเข้มข้นแบบนี้ แล้วอยากให้พวกเขาไปทำอะไร?” ซึ่ง รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ตอบโดยให้ตัวอย่างแหล่งงานในโครงการอวกาศแห่งชาติ หรือ National Space Program ที่รัฐบาลกำลังจัดทำแผนระยะยาวเพื่อให้คนไทยสามารถสร้างและส่งดาวเทียมไปโคจรรอบโลกได้ด้วยตนเองในอนาคต รวมถึงอนาคตของศูนย์วิจัยเกิดใหม่ในภาคเอกชน และสรุปประเด็นว่าเด็กไทยมีความสามารถมาก จำเป็นต้องสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขา