กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวสารหน่วยงาน กระทรวงวิทย์ฯ จัดเต็มนิทรรศการครม.สัญจร โชว์ผลงานแก้ปัญหาช่วงหน้าแล้งทั้งเครื่องกรองน้ำดื่มจากน้ำกร่อย แผนที่ดาวเทียมบริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูกแหล่งน้ำ และพอลิเมอร์ดูดซึมน้ำสูง

กระทรวงวิทย์ฯ จัดเต็มนิทรรศการครม.สัญจร โชว์ผลงานแก้ปัญหาช่วงหน้าแล้งทั้งเครื่องกรองน้ำดื่มจากน้ำกร่อย แผนที่ดาวเทียมบริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูกแหล่งน้ำ และพอลิเมอร์ดูดซึมน้ำสูง

พิมพ์ PDF



กระทรวงวิทย์ฯ จัดเต็มนิทรรศการครม.สัญจร โชว์ผลงานแก้ปัญหาช่วงหน้าแล้งทั้งเครื่องกรองน้ำดื่มจากน้ำกร่อย แผนที่ดาวเทียมบริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูกแหล่งน้ำ และพอลิเมอร์ดูดซึมน้ำสูง พร้อมประกาศให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางดาราศาสตร์แห่งอาเซียนเชื่อมโยงท้องฟ้าทั่วโลก ในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2558 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ 

 

 

     ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ  ได้เข้าร่วมจัดนิทรรศการ โดยนำเสนอผลงานที่สามารถช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งได้ เช่น เครื่องกรองน้ำดื่มจากน้ำกร่อย SOS-t1 (System of salinity) เกิดจากความร่วมมือระหว่างศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กับ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) (สสนก.) เพื่อใช้แก้ปัญหาน้ำเค็มจากน้ำทะเลรุกล้ำเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำบางปะกง โดยเฉพาะฤดูแล้งที่ปริมาณน้ำน้อยประกอบกับปัญหาน้ำทะเลหนุนสูงเข้าในลุ่มน้ำสายหลัก ส่งผลให้เกษตรกรไม่สามารถนำน้ำไปใช้ในการเกษตร รวมถึงน้ำดื่มเค็มขึ้นไม่สามารถผลิตน้ำประปาได้ เครื่อง SOS-t1 ผลิตด้วยเทคโนโลยีไส้กรองนาโน สามารถกรองน้ำกร่อยหรือน้ำเค็มให้เป็นน้ำดื่มที่มีคุณภาพตามมาตรฐานได้ โดยใช้เทคโนโลยีผลิตไส้กรองเซรามิกเคลือบอนุภาคเงิน (Silver Impregnated Ceramic Filter) ไส้กรองนี้มีจุดเด่นในการยืดอายุการใช้งานและหลักการกรองที่มีรูพรุนเล็กมาก ทำให้ประสิทธิภาพการดักแร่ธาตุต่างๆ  เช่น เกลือที่ปนมากับน้ำ  สามารถกรองน้ำเค็มให้เป็นน้ำที่มีคุณภาพตามมาตรฐานได้ ตัวเครื่องมีกำลังผลิตประมาณ 200 ลิตรต่อชั่วโมง คาดว่าเพียงพอต่อการใช้ของคนประมาณ 1,000 คนหรือต่อ 1 ชุมชน โดยเครื่องนี้มีระบบเคลื่อนที่สามารถเคลื่อนย้ายไปในสถานที่ที่ประสบปัญหาได้ ในส่วนของสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) นำผลงานวิจัยพอลิเมอร์ดูดซึมน้ำสูงที่สามารถช่วยเกษตรกรในการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ ซึ่งเป็นโพลิเมอร์ที่ผลิตจากธรรมชาตินำมาผ่านการฉายรังสี เพื่อปรับคุณสมบัติให้ไม่ละลายน้ำ แต่บวมน้ำได้ดี สามารถดูดซึมน้ำได้ปริมาณประมาณ 200 เท่า เมื่อเทียบกับน้ำหนักแห้ง โดยนำมาใช้ผสมดินเพื่อปรับปรุงคุณสมบัติในการอุ้มน้ำในแปลงปลูกพืชที่มีพื้นที่แห้งแล้ง หรือใช้ผสมกับดินเพื่อปลูกพืชผักในครัวเรือน ซึ่งสามารถช่วยลดความถี่ในการรดน้ำต้นไม้ลงได้ ทั้งยังไม่มีปัญหาเรื่องมลภาวะในดิน เพราะย่อยสลายไปได้ภายใน 16 เดือน และสามารถทดแทนการนำเข้าพอลิเมอร์จากต่างประเทศ ซึ่งสังเคราะห์มาจากสารเคมีที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย

 


     ด้าน รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี ได้จัดทำฐานข้อมูลที่แสดงการดำเนินงานแผนงาน/โครงการ/กิจกรรมในพื้นที่จังหวัด ในการดำเนินการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปพัฒนาจังหวัด ซึ่งสามารถแสดงผลข้อมูลในเชิงภูมิศาสตร์ (Geographical) ผ่านภาพถ่ายดาวเทียมของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ซึ่งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสามารถเข้าไปกรอกข้อมูลแบบ Real time ทั้งเพิ่มเติมข้อมูลและกรอกผลการดำเนินงานได้บน Website : http://sti-areabased-most.gistda.or.th/GISTDA-MOST/maps  ปัจจุบันดำเนินการในพื้นที่จังหวัดประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 จำนวน 878 โครงการ งบประมาณ 942.5 ล้านบาท สำหรับการดำเนินงานในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ มีจำนวน 251 โครงการ งบประมาณ 270.5 ล้านบาท
 
     ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) นำเทคโนโลยีระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา หรือTHEOS-2 ซึ่งเป็นระบบการบริหารจัดเชิงพื้นที่ตั้งแต่ระดับประเทศ ระดับจังหวัด และระดับท้องถิ่น ครอบคลุมด้านการเกษตร ในการกำหนดพื้นที่เหมาะสมในการเพาะปลูก วางผลิตและแปรรูป ตลอดจนติดตามการเพาะปลูก คาดการณ์ผลผลิตพืชเศรษฐกิจในและต่างประเทศ ด้านภัยพิบัติ ในการติดตาม วิเคราะห์ และป้องกันพื้นที่ประสบภัยทั้งด้านอุทกภัย ภัยแล้ง ไฟป่า และมลพิษต่างๆ ด้านความมั่นคง ในการติดตามพื้นที่บริเวณชายแดน ติดตามพื้นที่เพาะปลูกยาเสพติด เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการพื้นที่ยุทธศาสตร์ของประเทศ ด้านทรัพยากรธรรมชาติ บริหารจัดการพื้นที่ป่าไม้ ทรัพยากรทางทะเล ทรัพยากรน้ำ ด้านผังเมือง ในการวางผังเมือง การเก็บภาษีการใช้ที่ดินสิ่งปลูกสร้าง บริหารจัดการสาธารณูปโภค และโครงสร้างพื้นที่ที่จำเป็น นอกจากนี้ ระบบสืบค้นและบริการภูมิสารสนเทศกลางของประเทศ ซึ่งเป็นระบบที่มีการบูรณาการแผนที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากหลายกระทรวงเข้าไว้ด้วยกัน ให้เป็นศูนย์กลางของภูมิสารสนเทศของประเทศ ลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ เพื่อกำกับ ติดตามและวางแผนการทำงานในอนาคต และพร้อมที่จะนำไปพัฒนาต่อยอดในงานด้านต่างๆ ได้
 
 
 
     รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม กล่าวว่า สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลหอดูดาวแห่งชาติ ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร ใหญ่และทันสมัยที่สุดในอาเซียน ซึ่งตั้งอยู่บริเวณอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์  จ.เชียงใหม่ จึงได้เข้าร่วมจัดนิทรรศการในครั้งนี้ด้วย โดยนำเสนอภาพรวมของโครงสร้างพื้นฐานทางดาราศาสตร์ของประเทศสำหรับการวิจัยและพัฒนาและการเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์เพื่ออนาคต หนึ่งในนั้น คือ หอดูดาวแห่งชาติ หรือ หอดูดาวเฉลิม   พระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ณ จ.เชียงใหม่ นอกจากนี้ยังมีหอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชน อีก 5 แห่ง ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา ฉะเชิงเทรา สงขลา พิษณุโลก และขอนแก่น แห่งแรกเปิดให้บริการแล้วเมื่อปลายปี 2557 ที่ผ่านมา คือ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา และแห่งที่สองก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ และคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2560 คือ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา รวมถึง เครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ทางไกลอัตโนมัติของ สดร. ที่ตั้งอยู่ ณ ชิลี จีน ออสเตรเลีย และเม็กซิโก เชื่อมต่อท้องฟ้ารอบโลกให้คนไทยศึกษาเรียนรู้ได้ตลอด 24 ชม. และท้ายสุดกับการเปิดตัวอุทยานดาราศาสตร์ (Astro Park) ณ จังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์รวมศิลปวิทยาการและนวัตกรรมดาราศาสตร์ของอาเซียน ขยายเครือข่ายเชื่อมต่อกับนานาประเทศทั่วโลก โดยเราคาดหวังว่าหากอุทยานดาราศาสตร์ ก่อสร้างแล้วเสร็จ เชียงใหม่จะเป็นเมืองหลวงดาราศาสตร์ของไทย และมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางดาราศาสตร์ของชาติและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732  โทรสาร 0 2333 3834
e-mail :     อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน
Facebook : sciencethailand
 
 
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป