ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวในงานเสวนาวิชาการในหัวข้อ "เมอร์ส:โคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ภัยใกล้ตัว ที่เราควรรู้" โดยระบุว่า ปัจจุบันสถานการณ์ด้านสาธารณสุขมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยเฉพาะอันตรายจากโรคระบาดที่คร่าชีวิตผู้คนมากมาย ทั้งนี้เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับโรคระบาดอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ร่วมมือกับ กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการต่างประเทศ วางมาตรการตรวจสอบระบบคัดกรองผู้ป่วยทั้งระบบ เริ่มตั้งแต่การให้ความรู้ วิธีการหลีกเลี่ยงป้องกัน การสังเกตอาการ การรักษา การเฝ้าระวังคัดกรองผู้ป่วยที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และการวางมาตรการทางสายการบิน โดยจะมีทีมแพทย์คอยดูแลในพื้นที่ ทั้งยังได้มีการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาจัดการระบบสารสนเทศด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ สนับสนุนห้องปฏิบัติการวิจัยและการวินิจฉัยโรคอุบัติใหม่จากทีมนักวิจัยและทีมแพทย์ เพื่อรองรับโรคติดต่อต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคตโดยเฉพาะความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก การพัฒนาโมเดลทางคณิตศาสตร์เพื่อใช้ในการวิเคราะห์การระบาดของโรค รวมถึงการลงทุนด้านบุคลากรการวิจัยที่กำลังดำเนินการอยู่ซึ่งนับเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าอย่างมาก
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
ศ.นพ.ประเสริฐเอื้อวรากุล ประธานคลัสเตอร์สุขภาพและการแพทย์ สวทช. กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลางในประเทศไทยจนถึงขณะนี้ พบผู้ป่วยติดเชื้อจำนวน 1 ราย ผู้สัมผัสโรคจำนวน 156 ราย และสามารถควบคุมได้นั่นหมายความว่าการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขของประเทศไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่สิ่งที่ยังเป็นปัญหาสำคัญคือแหล่งแพร่เชื้อจากสัตว์จากตะวันออกกลาง ซึ่งยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนว่าเราจะกำจัดเชื้อไปจากแหล่งแพร่เชื้อเหล่านั้นได้ หน่วยงานที่ควบคุมโรคจึงมีมาตรการที่เข้มงวด และต้องมีการวางแผนในระยะยาวเพื่อเฝ้าระวังโรคดังกล่าวต่อไป
![]() |
![]() |
ด้าน นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยากรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า หน่วยงานการแพทย์ ได้เฝ้าระวังและติดตามการแพร่ระบาดของโรคอย่างเข้มงวดซึ่งจากข้อมูลที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก พบจำนวนผู้ป่วยยืนยันโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง จากรายงานผู้ป่วยทั้งหมด 26 ประเทศ เป็นผู้ป่วยยืนยัน จำนวน 1,339 ราย เสียชีวิตแล้ว 476 ราย ในขณะที่ประเทศเกาหลีใต้มีจำนวนผู้ป่วยสูงเป็นลำดับที่ 2 รองจากประเทศซาอุดิอาระเบียที่พบผู้ป่วยยืนยัน จำนวน 180 ราย หาย 74 ราย เสียชีวิต 29 ราย กำลังรักษา 77 รายและมีการเฝ้าระวังอีก 2,642 ราย จากจำนวนรวม 14,500 ราย โดยมีโรงพยาบาลไม่น้อยกว่า 13 แห่งเป็นสถานที่แพร่โรค และประเทศไทยยังต้องเฝ้าระวังอีกนานเพราะการแพร่ระบาดของเชื้อในวงกว้างที่โรงพยาบาลเป็นจุดเสี่ยงสำคัญเนื่องจากมีผู้ป่วยติดเชื้อมากกว่าในชุมชน และการติดเชื้อที่มาจากสัตว์จะมีความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตมากกว่าการติดจากคนสู่คน
ข่าวโดย: กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
อีเมลล์:
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน