การนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ไปพัฒนาภาคเกษตรและชุมชนให้เกิดความยั่งยืนและพอเพียง เป็นหนึ่งในเป้าประสงค์เพื่อสนับสนุนการสร้างเสริมขีดความสามารถของท้องถิ่นชุมชน
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับโจทย์จากจังหวัดลำปางโดยต้องการ วทน.ช่วยส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมเข้มแข็ง ด้านการเกษตรปลอดภัย พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs และส่งเสริมกลุ่ม OTOP ทั้งนี้ ศักยภาพและความโดดเด่นของจังหวัดลำปาง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เซรามิกส์ ผลิตภัณฑ์ข้าวแต๋น และการปลูกสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย ณ ปัจจุบัน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เข้ามามีบทบาทช่วยเหลือกลุ่มสหกรณ์ผู้ปลูกสับปะรด ต.บ้านเสด็จ และผู้ประกอบการข้าวแต๋นอำพัน ต.บ้านเป้า ในเขตอำเภอเมือง จ.ลำปาง
ข้าวแต๋นอำพัน ผลิตและจำหน่ายข้าวแต๋นรสชาติต่างๆ ทั้งปลีกและส่งขายภายในและต่างจังหวัด ปัญหาที่พบ ในกระบวนการทอดข้าวแต๋นจะมีเศษข้าวแต๋นร่วงไม่ด้าใช้ประโยชน์เป็นจำนวนมาก ผู้ประกอบการจึงต้องการนำเศษข้าวแต๋นเหลือทิ้งดังกล่าวมาสร้างมูลค่าเพิ่ม วว.เข้ามาให้ความช่วยเหลือโดยปรับปรุงพัฒนากระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าของเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิต เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ คือ ข้าวแต๋นบาร์ลำไยเคลือบช็อคโกแลต พร้อมพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อการค้าปลีก (Longan Chocolate Rice Bar)
สับปะรดจังหวัดลำปาง ปัญหาที่พบส่วนใหญ่ด้านคุณภาพเนื้อสับปะรดไม่ได้คุณภาพ ไม่มีตลาดกลางรับซื้อทำให้ต้นทุนการขนส่งสูง และยังใช้สายพันธุ์เดิมๆ ความช่วยเหลือของ วว.ปรับปรุงสายพันธุ์ใหม่ โดยคัดเลือกพันธุ์ที่มีคุณภาพเพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่มีลักษณะตรงตามมาตรฐาน ปรับปรุงคุณภาพโดยใช้เทคโนโลยีธาตุอาหารพืช และพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผลสับปะรดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ได้แก่ น้ำส้มสายชูเพื่อสุขภาพ แกนสับปะรดแช่อิ่มอบแห้ง น้ำพริกสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย
นอกจากนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสารเทศ (สทอภ.) ให้ความร่วมมือจังหวัดลำปาง โดยจัดทำระบบการจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning) ในตำบลบ้านเสด็จ เพื่อวิเคราะห์ความเหมาะสมตลอดจนการพยากรณ์สภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการปลูกสับปะรดของพื้นที่
ข้อมูลข่าวโดย : เทียรทอง ใจสำราญ
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี