กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวสารหน่วยงาน ประเด็นไทยผลักดันการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาในภูมิภาคอาเซียน

ประเด็นไทยผลักดันการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาในภูมิภาคอาเซียน

พิมพ์ PDF


          กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นเจ้าภาพการประชุมความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในอาเซียน ซึ่ง คณะกรรมการอาเซียนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ASEAN Committee on Science and Technology: COST)  ได้มีการจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2521 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศอาเซียนในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และยกระดับความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศสมาชิกอาเซียน  โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นหน่วยประสานงานหลักของประเทศไทยในกรอบ ASEAN COST

          การประชุม  ASEAN  COST กำหนดจัดประชุมปีละ 2 ครั้ง เพื่อติดตามความร่วมมือในด้านต่าง ๆ การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการอาเซียน รวมทั้งการบริหารกองทุนวิทยาศาสตร์อาเซียน โดยประเทศสมาชิกหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม และมีประเทศสมาชิก 10 ประเทศเข้าร่วม ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม  กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม        

          การประชุม ASEAN COST ได้จัดมาแล้ว 68 ครั้ง 

                   -การประชุม ครั้งที่ 67  จัดที่ประเทศสิงคโปร์ ในเดือนเมษายน ๒๕๕๗ 

                   -การประชุม ครั้งที่ 68  จัดที่ประเทศอินโดนีเซีย ในเดือนสิงหาคม ๒๕๕๗

          ประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีวิทยาศาสตร์อาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (Informal ASEAN Ministerial Meeting on Science and Technology: IAMMST) ครั้งที่ 6 และการประชุม ASEAN COST ครั้งที่ 60 เมื่อเดือนธันวาคม 2553 ณ จังหวัดกระบี่  ซึ่งในการประชุมครั้งนั้น รัฐมนตรีอาเซียนได้เห็นชอบข้อริเริ่มกระบี่ (Krabi Initiative) ซึ่งเป็นกรอบแนวทางในการจัดทำแผนปฏิบัติการอาเซียนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ปี 2558-2563 (ASEAN Plan of Action on Science, Technology and Innovation : APASTI  2015-2020) และเห็นชอบข้อริเริ่มความร่วมมือที่ประเทศไทยเสนอใน 3 เรื่อง ได้แก่ความร่วมมือด้านมาตรวิทยา เทคโนโลยีอวกาศ เทคโนโลยีแสงซินโครตรอน

 

การประชุม ASEAN COST ครั้งที่ 69

          กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม  ASEAN COST ครั้งที่ 69    ระหว่างวันที่ 21-30 พฤษภาคม 2558 ณ โรงแรม  Mövenpick Resort & Spa Karon Beach Phuket จังหวัดภูเก็ต เพื่อผลักดันการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาในภูมิภาคอาเซียน โดยมีกำหนดการดังนี้

                   วันที่ 21-24 พฤษภาคม 2558  - การประชุม Side Events

                   วันที่ 25-26 พฤษภาคม 2558  - การประชุม Sub-Committees

                   วันที่ 27 พฤษภาคม 2558        - การประชุม ABASF/ABAPAST

                   วันที่ 28-29 พฤษภาคม 2558   - การประชุม ASEAN COST

          ประเด็นที่จะหารือในการประชุม ASEAN COST ครั้งที่ 69 มี ดังนี้

                   -สถานะกองทุนวิทยาศาสตร์อาเซียน

                   -การจัดทำ ASEAN Plan of Action on Science, Technology and Innovation (APASTI) 2015-2020

                   -สถานะความร่วมมือของคณะอนุกรรมการอาเซียนใน 9 สาขา ได้แก่

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร  อุตุนิยมวิทยาและธรณีฟิสิกส์  ไมโครอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศ วัสดุศาสตร์และเทคโนโลยี เทคโนโลยีชีวภาพ การวิจัยพลังงานอย่างยั่งยืน วิทยาศาสตร์ทางทะเล การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเทคโนโลยีอวกาศและการประยุกต์ใช้ 

                   -สถานะความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจา

                   -การเตรียมการจัดประชุมรัฐมนตรีวิทยาศาสตร์อาเซียน (ASEAN Ministerial Meeting on Science and Technology: AMMST) ครั้งที่ 16  ณ สปป.ลาว         

 

ประเด็นที่ไทยจะผลักดัน

          1. การจัดทำแผนปฏิบัติการอาเซียนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ฉบับปี 2558-2563 (ASEAN Plan of Action on Science, Technology and Innovation 2015-2020 - APASTI)   ประเทศไทยในฐานะประธาน Advisory Body of ASEAN Plan of Action on Science and Technology (ABAPAST)  จะเป็นประธานการประชุม ABAPAST เพื่อพิจารณาการจัดทำ  ASEAN Plan of Action on Science, Technology and Innovation  (APASTI) 2015-2020  ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของ COST เป็น COSTI   เน้นความร่วมมือในด้านนวัตกรรมเพิ่มขึ้น  การมีส่วนร่วมของภาคเอกชน การบริหารงบประมาณ   

 

          2. การเคลื่อนย้ายกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี   (ASEAN Talent Mobility – ATM) (สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ)   

             เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ในอาเซียน    เพื่อพัฒนากลไกในการเข้าถึงบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ในประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศคู่เจรจาในสาขาที่ขาดแคลน และสร้างโอกาสสำหรับหน่วยงานวิจัยในอาเซียนและประเทศคู่เจรจา

 

          3. ความร่วมมือด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ (สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) )   

          เพื่อสร้างความร่วมมือด้านวิจัย และ พัฒนา เพื่อเกิดระบบข้อมูลในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำร่วมกันในระดับภูมิภาค  ส่งผลให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจทั้งระดับชุมชน และ ระดับประเทศ   ซึ่งจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการบริหารจัดการน้ำ นำไปสู่การป้องกันภัยพิบัติในระดับอาเซียน

 

          4. ความร่วมมือด้านมาตรวิทยา

                    สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ในฐานะผู้ประสานงานไทยในคณะ Expert Group on Metrology (EGM) จะจัดประชุม Expert Group on Metrology (EGM) ครั้งที่ 3 เพื่อหารือเรื่องสำคัญ ได้แก่

                   1) พิจารณา Policy Recommendation เกี่ยวกับความร่วมมือด้านมาตรวิทยาของอาเซียน เพื่อโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สามารถส่งผลกระทบเชิงบวกต่อการเปิดและพัฒนา AEC ซึ่งได้แก่การสร้างอาเซียนให้เป็น Single Market และ Single Production Base ที่มั่นคงและสามารถดึงดูดการลงทุนได้

                   2) พิจารณาแผนงานการเปรียบเทียบผลการวัดระหว่างสถาบันมาตรวิทยาของประเทศ   สมาชิกอาเซียน (ASEAN Comparison)  แผนงานการถ่ายทอดความสามารถสอบกลับได้ทางมาตรวิทยาในอาเซียน (ASEAN Metrological Traceability Chain)  และแผนงานการพัฒนาศักยภาพของนักมาตรวิทยาของสถาบันมาตรวิทยาของประเทศสมาชิกอาเซียน  ซึ่งแผนงานเหล่านี้สถาบันมาตรวิทยาของประเทศสมาชิกอาเซียนได้แบ่งกันไปรวบรวมข้อมูลและจัดทำ

                   ทั้งนี้ เพื่อต้องการให้มีการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากมาตรวิทยาเพื่อให้โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพ (Quality Infrastructure: QI) ของอาเซียนสมบูรณ์  และต้องการให้มีการจัดทำ roadmap ของการพัฒนามาตรวิทยาระดับอาเซียน รวมทั้งการพัฒนากรอบที่จะมีมาตรฐานการวัดอ้างอิงร่วมของอาเซียน  เพื่อประโยชน์การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการส่งออกอาหารและสินค้าเกษตร

          5. ความร่วมมือด้านการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน (สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) )

              เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการใช้ประโยชน์จากแสงซินโครตรอนให้กับประเทศสมาชิกอาเซียน   เนื่องจากเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญด้าน วทน.ของอาเซียน และเป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรม  การแพทย์ และการเกษตร   

 

          6. ความร่วมมือด้านการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศ

           สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.)  เสนอจัดตั้ง ASEAN Regional Training Center for Space Technology and Applications โดยประเทศไทยยินดีสนับสนุนการใช้พื้นที่และทรัพยากร ณ อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ซึ่ง สทอภ. มีความพร้อมอยู่แล้ว ให้เป็นศูนย์กลางแห่งการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีอวกาศและการประยุกต์ใช้ของอาเซียน

           นอกจากนี้จะร่วมกับตัวแทนประเทศเวียดนามในการนำเสนอผลการดำเนินงานโครงการความร่วมมือระบบดาวเทียมเวียดนาม-ไทย ปีที่ ๒ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นโครงการนำร่องสำหรับความร่วมมือระบบดาวเทียมเสมือนอาเซียน (ASEAN Virtual Constellation) ที่อาจมีขึ้นในอนาคต (ระบบดาวเทียมเสมือนนี้ หมายถึงการสร้างระบบที่ประกอบด้วยดาวเทียมต่างชนิดกัน หรือจากระบบที่แตกต่างกัน เพื่อเพิ่มความถี่ของการถ่ายภาพ เพิ่มพื้นที่ของการถ่ายภาพเพื่อให้สามารถนำข้อมูลมาใช้งานได้ทันเวลา และมีประสิทธิภาพมากขึ้น)

 

          7. ความร่วมมือด้านดาราศาสตร์ 

            สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เสนอ Proposal for the recognition of Southeast Asia Astronomy Network at ASEAN COST

 

          8. ด้านการรับรอง/มาตรฐาน

          กรมวิทยาศาสตร์บริการ เป็นหน่วยรับรองความสามารถบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตามมาตรฐานสากล ISO/IEC 17024 แห่งแรกของไทย โดยสาขาแรกที่เปิดให้การรับรองคือ “การควบคุมและจัดการสารเคมีในห้องปฏิบัติการ” และเล็งเห็นความสำคัญของการเคลื่อนย้ายบุคลากรคุณภาพในภาคเศรษฐกิจของอาเซียน จึงได้ริเริ่มการสร้างความร่วมมือด้านการรับรองความสามารถบุคลากร จะเสนอ Proposal on ASEAN Certification for Persons on Science and Technology ต่อที่ประชุม ASEAN COST ครั้งที่ 69 ผ่าน Sub-Committee on Infrastructure and Resource Development-SCIRD ซึ่งจะมีการจัดตั้งคณะทำงานการรับรองบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำหรับการจัดทำขอบข่ายสมรรถนะสาขาต่างๆ สำหรับการจัดทำ “ข้อตกลงยอมรับร่วมอาเซียน” ต่อไป 

 

          9. ความร่วมมือด้านพลังงาน   

                   -การสร้างเครือข่ายในภูมิภาคอาเซียนเพื่อการสร้างความตระหนักในผลกระทบของอุบัติเหตุที่เกิดในโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ในภูมิภาคอาเซียน

                     ตามที่มีอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นที่โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะไดอิจิ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือนมีนาคม 2554 และไม่เพียงก่อให้เกิดผลกระทบเพียงแค่ในประเทศที่เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าฯ แต่ยังสามารถส่งผลกระทบทั้งทางด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้ในระดับภูมิภาค กอปรกับที่ประเทศเวียดนามได้ลงนามในสัญญาก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์รวม 4 โรงกับประเทศรัสเซีย และประเทศญี่ปุ่น เป็นที่เรียบร้อยแล้ว สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ในฐานะสถาบันวิจัยทางด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ จึงเล็งเห็นความสำคัญของการสร้างเครือข่ายในภูมิภาคอาเซียนเพื่อสร้างความตระหนักในผลกระทบของอุบัติเหตุที่เกิดในโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ โดยเครือข่ายนี้จะรวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์เข้าด้วยกัน เพื่อแบ่งปันข้อมูลและองค์ความรู้ที่มีอยู่ และร่วมมือกันทำการประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นในโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ดังกล่าว หรือโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ที่จะเกิดขึ้นในภูมิภาคในอนาคต และระดมสมองเพื่อหาวิธีป้องกัน และรับมืออย่างทันท่วงทีหากเกิดอุบัติเหตุดังกล่าว เพื่อความปลอดภัยของประชาชน และเพื่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศสมาชิกอาเซียน ทั้งนี้ ประเทศไทยจะเสนอข้อเสนอ “การสร้างเครือข่ายในภูมิภาคอาเซียนเพื่อการสร้างความตระหนักในผลกระทบของอุบัติเหตุที่เกิดในโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ในภูมิภาคอาเซียน” และเป็นผู้นำในการผลักดันให้มีการจัดตั้งคณะทำงาน ในSubcommittee on Sustainable Energy Research (SCSCER) รวมทั้ง จะเสนอแผนการจะจัดการประชุมครั้งแรกในการประชุม ASEAN-COST ครั้งที่ 70

 

                 -การจัดตั้ง ASEAN Network on Biomass Open Research (ANBOR)

                   วิกฤติพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกนำไปสู่ปัญหาความมั่นคงทางพลังงานและสิ่งแวดล้อมซึ่งส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของภูมิภาคอาเซียนที่ส่วนใหญ่เป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน แต่ความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ทำให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพสูงด้านการผลิตชีวมวลที่สามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานในทุกรูปแบบทั้ง เชื้อเพลิง ความร้อน และไฟฟ้า

                   เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางพลังงานและการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนของภูมิภาค การสร้างความร่วมมือในการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมด้านชีวมวล พลังงานชีวภาพ และวัสดุชีวภาพ จากผู้เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่มูลค่าที่ประกอบด้วย ๔ กลุ่ม คือ กลุ่มนโยบาย กลุ่มสนับสนุนทุน กลุ่มวิจัยพัฒนา และกลุ่มอุตสาหกรรม/ธุรกิจ จึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วน  สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย จึงได้บรรจุเป็นกิจกรรมใน ASEAN-MOST Action Plan (2015-2020) และเป็นประเด็นนำเสนอให้มีการจัดตั้ง ASEAN Network on Biomass Open Research (ANBOR) ในที่ประชุม ASEAN Sub-Committee on Sustainable Energy Research (SCSER)  ของ ASEAN COST ครั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ ANBOR เป็นเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการอย่างครบวงจรในการสร้างความเข้มแข็งทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้าน ชีวมวล พลังงานชีวภาพ และวัสดุชีวภาพ เพื่อนำไปสู่การสร้างความมั่นคงทางพลังงานและการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนของภูมิภาคอาเซียน   

                   กิจกรรมที่ประเทศไทยจะเริ่มดำเนินการในเบื้องต้น คือ การจัดประชุมเพื่อพัฒนาแนวทางการประเมินศักยภาพชีวมวลของแต่ละประเทศเพื่อให้เห็นภาพรวมของทั้งภูมิภาค และการจัดอบรมเทคโนโลยีการผลิตไบโอดีเซลคุณภาพสูงจากพืชที่ไม่ใช่อาหาร

 

มุมมองของ National COST-Chair  ประเทศไทย

          ในการประชุมครั้งนี้   มีประเด็นที่ประเทศไทยจะผลักดันหลาย ๆ ด้าน อาทิ   การเคลื่อนย้ายกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในอาเซียนเพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาในภาคเอกชน  (ASEAN Talent Mobility – ATM)   การจัดการทรัพยากรน้ำ     มาตรวิทยา    ดาราศาสตร์   การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน  และเทคโนโลยีอวกาศ     การจัดประชุมในครั้งนี้  จึงนับเป็นโอกาสดีในการผลักดันให้ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในเวทีอาเซียน และผลักดันกิจกรรม/โครงการที่ไทยเป็นผู้ริเริ่ม ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน  นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชนในภูมิภาคอาเซียน เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในปลายปี ๒๕๕๘ นี้

 

 

 
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
» กระทรวงวิทย์ จัดประชุม ASEAN COST ประสบความสำเร็จ ประเทศสมาชิกตอบรับ
» กระทรวงวิทย์ จัดประชุม ASEAN COST ประสบความสำเร็จ ประเทศสมาชิกตอบรับข้อเสนอของไทย
» รมว.วท. จัดงานเลี้ยงต้อนรับ ผู้นำประเทศด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในภูมิภาคอาเซียน
» ไทยเดินหน้าร่วมมืออาเซียน ตั้งคณะทำงานพัฒนาข้อมูลน้ำ เตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและป้องกันภัยพิบัติ
» สดร. จัดเวิร์คช็อปเสริมแกร่งเครือข่ายดาราศาสตร์อาเซียน หวังผลักดันดาราศาสตร์เข้าที่ประชุม ASEAN COST
» สซ. ร่วมเป็นเจ้าภาพจัด side meeting ในการประชุม ASEAN COST ครั้งที่ 69 สร้างเครือข่ายวิจัยและแบ่งปันการใช้แสงซินโครตรอน ในภูมิภาคอาเซียน
» Clipping ข่าว วท. ประจำวันที่ 21 พฤษภาคม 2558
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป