กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวสารหน่วยงาน รมว.วท. ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ พร้อมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในอาเซียน

รมว.วท. ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ พร้อมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในอาเซียน

พิมพ์ PDF

     

       (วันที่ 18 พฤษภาคม 2558 จามจุรีสแควร์) ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในการเตรียมความพร้อมเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมคณะกรรมการอาเซียนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 69 (The 69th ASEAN Committee on Science and Technology Meeting: ASEAN COST) ที่กำลังจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-30 พฤษภาคม 2558 ณ โรงแรม Mövenpick Resort & Spa Karon Beach Phuket จังหวัดภูเก็ต

  ดร.พิเชฐ กล่าวถึงที่มาของการประชุม ASEAN COST ว่า เริ่มมีการประชุมครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2521 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศอาเซียนในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และยกระดับความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศสมาชิกอาเซียน โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นหน่วยประสานงานหลักของประเทศไทย 
 ประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีวิทยาศาสตร์อาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (Informal ASEAN Ministerial Meeting on Science and Technology: IAMMST) ครั้งที่ 6 และการประชุม ASEAN COST ครั้งที่ 60 เมื่อเดือนธันวาคม 2553 ณ จังหวัดกระบี่ ซึ่งในการประชุมครั้งนั้น รัฐมนตรีอาเซียนได้เห็นชอบข้อริเริ่มกระบี่ (Krabi Initiative) ซึ่งเป็นความคิดริเริ่มที่เกิดจากฝ่ายไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการ นโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) โดยมีผู้เกี่ยวข้อง 3 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ที่เป็นผู้บริหารนโยบายวิทยาศาสตร์ ผู้ที่เป็นผู้บริหารทางด้านสังคมและผู้รับผิดชอบทางด้านเศรษฐกิจ โดยสาระสำคัญได้แก่ แนวทางความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เพื่อรองรับการก่อตั้งประชาคมอาเซียนในปี 2558 และจะนำมาเป็นแผนปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของอาเซียนปีพ.ศ.2559-2563 (ASEAN Plan of Action on Science, Technology and Innovation : APASTI 2015-2020)
  ทั้งนี้ ในที่ประชุมยังเห็นพ้องกับข้อเสนอแนะรายสาขา 8 ด้าน (thematic track) ของข้อคิดริเริ่มกระบี่ เพื่อขับเคลื่อน วทน. ยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวอาเซียน ได้แก่              
1. นวัตกรรมอาเซียนสู่ตลาดโลก (ASEAN Innovation for Global Market) 
2. สังคมดิจิทัล สื่อใหม่และเครือข่ายสังคม (Digital Economy, New Media and Social Networking) 
3. เทคโนโลยีสีเขียว (Green Technology)  
4. ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) 
5. ความมั่นคงทางพลังงาน (Energy Security)   
6. การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (Water Management) 
7. ความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจ (Biodiversity for Health and Wealth) 
8. วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Science and Innovation for Life)
 
 
สำหรับการประชุม ASEAN COST ครั้งที่ 69 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ โดยมีประเด็นที่จะหารือในการประชุม ดังนี้
- สถานะกองทุนวิทยาศาสตร์อาเซียน
- การจัดทำ ASEAN Plan of Action on Science, Technology and Innovation (APASTI) 2015-2020
- สถานะความร่วมมือของคณะอนุกรรมการอาเซียนใน 9 สาขา ได้แก่ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร, อุตุนิยมวิทยาและธรณีฟิสิกส์, ไมโครอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศ, วัสดุศาสตร์และเทคโนโลยี, เทคโนโลยีชีวภาพ, การวิจัยพลังงานอย่างยั่งยืน, วิทยาศาสตร์ทางทะเล, การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเทคโนโลยีอวกาศและการประยุกต์ใช้  
- สถานะความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจา ที่เคยการสนับสนุนเงินทุนวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับประเทศอาเซียน อาทิ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย อเมริกา เป็นต้น
- การเตรียมการจัดประชุมรัฐมนตรีวิทยาศาสตร์อาเซียน (ASEAN Ministerial Meeting on Science and Technology: AMMST) ครั้งที่ ๑๖ ในปลายปี 2558 ณ สปป.ลาว         

ประเด็นที่ประเทศไทยจะผลักดันเข้าสู่ที่ประชุมในครั้งนี้ ได้แก่
1. การจัดทำแผนปฏิบัติการอาเซียนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ฉบับปี 2558-2563 (ASEAN Plan of Action on Science, Technology and Innovation 2015-2020 - APASTI) ประเทศไทยในฐานะประธาน Advisory Body of ASEAN Plan of Action on Science and Technology (ABAPAST) จะเป็นประธานการประชุม ABAPAST เพื่อพิจารณาการจัดทำ ASEAN Plan of Action on Science, Technology and Innovation (APASTI) 2015-2020 ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของ COST เป็น COSTI เน้นความร่วมมือในด้านนวัตกรรมเพิ่มขึ้น การมีส่วนร่วมของภาคเอกชน และการบริหารงบประมาณ   
2. การเคลื่อนย้ายกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี   (ASEAN Talent Mobility – ATM) 
   (สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ) เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ในอาเซียน เพื่อพัฒนากลไกในการเข้าถึงบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ในประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศคู่เจรจาในสาขาที่ขาดแคลน และสร้างโอกาสสำหรับหน่วยงานวิจัยในอาเซียนและประเทศคู่เจรจา
3. ความร่วมมือด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ (สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) เพื่อสร้างความร่วมมือด้านวิจัย และพัฒนา เพื่อเกิดระบบข้อมูลในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำร่วมกันในระดับภูมิภาค ส่งผลให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจทั้งระดับชุมชน และระดับประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการบริหารจัดการน้ำ นำไปสู่การป้องกันภัยพิบัติในระดับอาเซียน
4. ความร่วมมือด้านมาตรวิทยา
สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ในฐานะผู้ประสานงานไทยในคณะ Expert Group on Metrology (EGM) จะจัดประชุม Expert Group on Metrology (EGM) ครั้งที่ 3 เพื่อหารือเรื่องสำคัญ ได้แก่ 
1) พิจารณา Policy Recommendation เกี่ยวกับความร่วมมือด้านมาตรวิทยาของอาเซียน เพื่อโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สามารถส่งผลกระทบเชิงบวกต่อการเปิดและพัฒนา AEC ซึ่งได้แก่การสร้างอาเซียนให้เป็น Single Market และ Single Production Base ที่มั่นคงและสามารถดึงดูดการลงทุนได้ 
2) พิจารณาแผนงานการเปรียบเทียบผลการวัดระหว่างสถาบันมาตรวิทยาของประเทศ   สมาชิกอาเซียน (ASEAN Comparison) แผนงานการถ่ายทอดความสามารถสอบกลับได้ทางมาตรวิทยาในอาเซียน (ASEAN Metrological Traceability Chain) และแผนงานการพัฒนาศักยภาพของนักมาตรวิทยาของสถาบันมาตรวิทยาของประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งแผนงานเหล่านี้สถาบันมาตรวิทยาของประเทศสมาชิกอาเซียนได้แบ่งกันไปรวบรวมข้อมูลและจัดทำ 
ทั้งนี้ เพื่อต้องการให้มีการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากมาตรวิทยาเพื่อให้โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพ (Quality Infrastructure: QI) ของอาเซียนสมบูรณ์ และต้องการให้มีการจัดทำ roadmap ของการพัฒนามาตรวิทยาระดับอาเซียน รวมทั้งการพัฒนากรอบที่จะมีมาตรฐานการวัดอ้างอิงร่วมของอาเซียน  เพื่อประโยชน์การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการส่งออกอาหารและสินค้าเกษตร
5. ความร่วมมือด้านการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน (สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน) (องค์การมหาชน) เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการใช้ประโยชน์จากแสงซินโครตรอนให้กับประเทศสมาชิกอาเซียน   เนื่องจากเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญด้าน วทน.ของอาเซียน และเป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรม การแพทย์ และการเกษตร   
6. ความร่วมมือด้านการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.) เสนอจัดตั้ง ASEAN Regional Training Center for Space Technology and Applications โดยประเทศไทยยินดีสนับสนุนการใช้พื้นที่และทรัพยากร ณ อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ซึ่ง สทอภ. มีความพร้อมอยู่แล้ว ให้เป็นศูนย์กลางแห่งการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีอวกาศและการประยุกต์ใช้ของอาเซียน
นอกจากนี้จะร่วมกับตัวแทนประเทศเวียดนามในการนำเสนอผลการดำเนินงานโครงการความร่วมมือระบบดาวเทียมเวียดนาม-ไทย ปีที่ ๒ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นโครงการนำร่องสำหรับความร่วมมือระบบดาวเทียมเสมือนอาเซียน (ASEAN Virtual Constellation) ที่อาจมีขึ้นในอนาคต (ระบบดาวเทียมเสมือนนี้ หมายถึงการสร้างระบบที่ประกอบด้วยดาวเทียมต่างชนิดกัน หรือจากระบบที่แตกต่างกัน เพื่อเพิ่มความถี่ของการถ่ายภาพ เพิ่มพื้นที่ของการถ่ายภาพเพื่อให้สามารถนำข้อมูลมาใช้งานได้ทันเวลา และมีประสิทธิภาพมากขึ้น) 
7. ความร่วมมือด้านดาราศาสตร์  สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เสนอ Proposal for the recognition of Southeast Asia Astronomy Network at ASEAN COST
8.ด้านการรับรอง/มาตรฐาน กรมวิทยาศาสตร์บริการ เป็นหน่วยรับรองความสามารถบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตามมาตรฐานสากล ISO/IEC 17024 แห่งแรกของไทย โดยสาขาแรกที่เปิดให้การรับรองคือ “การควบคุมและจัดการสารเคมีในห้องปฏิบัติการ” และเล็งเห็นความสำคัญของการเคลื่อนย้ายบุคลากรคุณภาพในภาคเศรษฐกิจของอาเซียน จึงได้ริเริ่มการสร้างความร่วมมือด้านการรับรองความสามารถบุคลากร จะเสนอ Proposal on ASEAN Certification for Persons on Science and Technology ต่อที่ประชุม ASEAN COST ครั้งที่ 69 ผ่าน Sub-Committee on Infrastructure and Resource Development-SCIRD ซึ่งจะมีการจัดตั้งคณะทำงานการรับรองบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำหรับการจัดทำขอบข่ายสมรรถนะสาขาต่างๆ สำหรับการจัดทำ “ข้อตกลงยอมรับร่วมอาเซียน” ต่อไป  
9. ความร่วมมือด้านพลังงาน   
- การสร้างเครือข่ายในภูมิภาคอาเซียนเพื่อการสร้างความตระหนักในผลกระทบของอุบัติเหตุที่เกิดในโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ในภูมิภาคอาเซียน ตามที่มีอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นที่โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะไดอิจิ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือนมีนาคม 2554 และไม่เพียงก่อให้เกิดผลกระทบเพียงแค่ในประเทศที่เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าฯ แต่ยังสามารถส่งผลกระทบทั้งทางด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้ในระดับภูมิภาค กอปรกับที่ประเทศเวียดนามได้ลงนามในสัญญาก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์รวม 4 โรงกับประเทศรัสเซีย และประเทศญี่ปุ่น เป็นที่เรียบร้อยแล้ว สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ในฐานะสถาบันวิจัยทางด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ จึงเล็งเห็นความสำคัญของการสร้างเครือข่ายในภูมิภาคอาเซียนเพื่อสร้างความตระหนักในผลกระทบของอุบัติเหตุที่เกิดในโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ โดยเครือข่ายนี้จะรวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์เข้าด้วยกัน เพื่อแบ่งปันข้อมูลและองค์ความรู้ที่มีอยู่ และร่วมมือกันทำการประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นในโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ดังกล่าว หรือโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ที่จะเกิดขึ้นในภูมิภาคในอนาคต และระดมสมองเพื่อหาวิธีป้องกัน และรับมืออย่างทันท่วงทีหากเกิดอุบัติเหตุดังกล่าว เพื่อความปลอดภัยของประชาชน และเพื่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศสมาชิกอาเซียน ทั้งนี้ ประเทศไทยจะเสนอข้อเสนอ “การสร้างเครือข่ายในภูมิภาคอาเซียนเพื่อการสร้างความตระหนักในผลกระทบของอุบัติเหตุที่เกิดในโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ในภูมิภาคอาเซียน” และเป็นผู้นำในการผลักดันให้มีการจัดตั้งคณะทำงาน ในSubcommittee on Sustainable Energy Research (SCSCER) รวมทั้ง จะเสนอแผนการจะจัดการประชุมครั้งแรกในการประชุม ASEAN-COST ครั้งที่ 70
      - การจัดตั้ง ASEAN Network on Biomass Open Research (ANBOR) วิกฤติพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกนำไปสู่ปัญหาความมั่นคงทางพลังงานและสิ่งแวดล้อมซึ่งส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของภูมิภาคอาเซียนที่ส่วนใหญ่เป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน แต่ความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ทำให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพสูงด้านการผลิตชีวมวลที่สามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานในทุกรูปแบบทั้ง เชื้อเพลิง ความร้อน และไฟฟ้า เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางพลังงานและการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนของภูมิภาค การสร้างความร่วมมือในการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมด้านชีวมวล พลังงานชีวภาพ และวัสดุชีวภาพ จากผู้เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่มูลค่าที่ประกอบด้วย ๔ กลุ่ม คือ กลุ่มนโยบาย กลุ่มสนับสนุนทุน กลุ่มวิจัยพัฒนา และกลุ่มอุตสาหกรรม/ธุรกิจ จึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วน  สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย จึงได้บรรจุเป็นกิจกรรมใน ASEAN-MOST Action Plan (2015-2020) และเป็นประเด็นนำเสนอให้มีการจัดตั้ง ASEAN Network on Biomass Open Research (ANBOR) ในที่ประชุม ASEAN Sub-Committee on Sustainable Energy Research (SCSER)  ของ ASEAN COST ครั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ ANBOR เป็นเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการอย่างครบวงจรในการสร้างความเข้มแข็งทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้าน ชีวมวล พลังงานชีวภาพ และวัสดุชีวภาพ เพื่อนำไปสู่การสร้างความมั่นคงทางพลังงานและการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนของภูมิภาคอาเซียน โดยกิจกรรมที่ประเทศไทยจะเริ่มดำเนินการในเบื้องต้น คือ การจัดประชุมเพื่อพัฒนาแนวทางการประเมินศักยภาพชีวมวลของแต่ละประเทศเพื่อให้เห็นภาพรวมของทั้งภูมิภาค และการจัดอบรมเทคโนโลยีการผลิตไบโอดีเซลคุณภาพสูงจากพืชที่ไม่ใช่อาหาร
 
 
 รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แสดงความคิดเห็นในฐานะของ National COST-Chair ประเทศไทย ว่า ในการประชุมครั้งนี้  มีประเด็นที่ประเทศไทยจะผลักดันหลายๆ ด้าน อาทิ การเคลื่อนย้ายกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในอาเซียนเพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาในภาคเอกชน (ASEAN Talent Mobility – ATM) การจัดการทรัพยากรน้ำ มาตรวิทยา ดาราศาสตร์ การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน และเทคโนโลยีอวกาศ การจัดประชุมในครั้งนี้ จึงนับเป็นโอกาสดีในการผลักดันให้ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในเวทีอาเซียน และผลักดันกิจกรรม/โครงการที่ไทยเป็นผู้ริเริ่ม ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชนในภูมิภาคอาเซียน เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในปลายปี 2558 นี้
 
 

 

 

 

 

 
 

 
ข้อมูลโดย : สำนักความร่วมมือระหว่างประเทศและวิเทศสัมพันธ์ สป.วท.  โทร. 02 333 3901

ข่าวและภาพ : นางสาวพจนพร แสงสว่าง

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์  สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โทร. 02 333 3727-3732  โทรสาร 02 333 3834  E-Mail : อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน  facebook : sciencethailand

 

 

 

 
 
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
» ผนึกกำลังสร้างเมืองนวัตกรรมอาหาร Thai Quote
» สวทช. ก.วิทย์ ร่วมกับ STS Forum และ JETRO จัดงานสัมมนาระดับภูมิภาค “ASEAN – Japan Workshop in Thailand: Innovation, Science, and Technology for Sustainable Development”
» เมื่อไทย กำลังเดินหน้า ยุค อุตฯ 4.0 ฟัง “พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์”(Thai Quote)
» รมว.วท. รายงานความสำเร็จผ่านเฟซบุกส่วนตัว เผยรัสเซียลงทุนในไทยเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน
» มหกรรมวิทย์ฯ 58 โชว์ “ห้องรมแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์” ยืดอายุลำไยสดได้ 20 วัน ไม่ทิ้งสารตกค้าง เพิ่มมูลค่าส่งออก
» ก.วิทย์ฯ จับมือ โตโยต้าจัดกิจกรรม “โครงการจักรยานเพื่ออากาศสะอาด สู่เมืองสีเขียว” รอบนิคมเกตเวย์
» ดร.พิเชฐพร้อมคณะเข้าเยี่ยมชมโรงเรียนดรุณสิกขาลัย โรงเรียนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป