![]() |
โรงแรมรามาการ์เด้น 19 มีนาคม/พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ ดร.พิชัย สนแจ้ง ผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี ร่วมเป็นสักขีพยานและแสดงความยินดี ในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรื่อง การพัฒนาจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ระหว่าง กระทรวงมหาดไทย กับ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยมีนายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และรศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นผู้ลงนาม โดยความร่วมมือในเรื่องดังกล่าว สืบเนื่องจาก มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557 เห็นชอบให้ขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ระดับจังหวัด ที่สอดคล้องกับสภาพปัญหา ชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมของประชาชนในพื้นที่ในแต่ละจังหวัด อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมกันนี้ยังได้มีการจัดนิทรรศการโดยนำผลงานเด่นของหน่วยงานต่าง ๆ ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มานำเสนอ รวมทั้งเปิดเวทีโดยให้ผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ และผู้แทนจากภาคเกษตรกร บอกเล่าถึงความสำเร็จจากการนำวทน.ลงไปช่วยในแต่ละพื้นที่
ดร.พิชัย กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลได้น้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมากำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เน้นการเข้าใจ การเข้าถึงและการพัฒนาภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 โดยปฏิรูปประเทศบนพื้นฐานของปัญหาและความต้องการของประชาชน ตลอดจนให้ความสำคัญต่อการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัย และพัฒนา การสร้างนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าให้กับวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ในชุมชน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ เกษตรกรรม สุขภาพ พลังงานและความมั่นคง โดยใช้กลไกของรองผู้ว่าราชการจังหวัดที่ทำหน้าที่ผู้บริหารงานวิทยาศาสตร์จังหวัดระดับสูง (Provincial Chief Science Officer : PCSO) ขับเคลื่อนการดำเนินการร่วมกับ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เพื่อผลักดันงานด้าน วทน. ให้เห็นผลเป็นรูปธรรม และสอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่
![]() |
พลเอก อนุพงษ์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการเรื่องการบริหารงานด้าน วทน. ในพื้นที่จังหวัดให้เป็นรูปธรรมและสอดคล้องกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ เช่น ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งภัยแล้ง ภัยหนาว และน้ำท่วม ปัญหาสิ่งแวดล้อม อาทิ การอนุรักษ์ป่าชายเลน การจัดการขยะ และปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก และผลิตภัณฑ์ชุมชน ในการแก้ปัญหาเหล่านี้บุคลากรของกระทรวงมหาดไทยจำเป็นต้องได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและแม่นยำเพื่อใช้ในการตัดสินใจในสถานการณ์ต่างๆได้อย่างเหมาะสม ใช้จุดแข็งของกระทรวงมหาดไทยที่มีความพร้อมด้านบุคลากรที่กระจายอยู่ทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ สามารถบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการได้ เน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งภาคเอกชนและหน่วยงานไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
ด้าน ดร.พิเชฐ กล่าวว่า หนึ่งในแผนปฏิรูปของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ คือการใช้ประโยชน์จาก วทน. เพื่อสังคมและชุมชน ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวจะยึดหลักการดำเนินงานที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันโดยกระทรวงมหาดไทย ได้มอบหมายรองผู้ว่าราชการจังหวัดที่รับผิดชอบงานยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด เป็นผู้บริหารวิทยาศาสตร์จังหวัดระดับสูง และกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มอบหมายที่ปรึกษาด้าน วทน. พัฒนาจังหวัดและนำเสนอข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ตลอดจนแนวทางการพัฒนาจังหวัดด้วย วทน. ต่อ PCSO และหน่วยงานในจังหวัด โดยแต่งตั้งที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ประจำจังหวัด หรือ PSA (Provincial Science Advisor) โดยมอบหมายหน่วยงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และเครือข่ายในพื้นที่สนับสนุนงานด้าน วทน. ของจังหวัดโดยเฉพาะศูนย์ประสานงานกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ประจำภูมิภาคทั้ง 4 ภาค ที่เป็นหน่วยงานหลักในการประสานงาน ซึ่งจะทำให้การดำเนินงานเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายมีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ต้องสร้างเครือข่ายของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ทำให้ประชาชนได้ตระหนักถึง วทน. และนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการสร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้บริหารจัดการตนเองด้วยความรู้ได้ อันนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามแนวทางของท่านนายกรัฐมนตรี
นายวิบูลย์ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย มีความยินดีที่จะร่วมมือกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการบูรณาการการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดร่วมกัน ซึ่งนับเป็นความสำเร็จและความก้าวหน้าอีกขั้นหนึ่ง ของการดำเนินงานตามกรอบความร่วมมือในบันทึกข้อตกลง ในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ลงไปพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด โดยสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินการของกระทรวงมหาดไทย ที่มีบทบาทหน้าที่ในการบูรณาการด้านการพัฒนา และแก้ไขปัญหาในเชิงพื้นที่ในส่วนภูมิภาค และการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ให้มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนการทำให้ประชาชนมีความสุข มีความมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืนในอนาคต
![]() |
รศ.ดร.วีระพงษ์ กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีบทบาทในการขับเคลื่อนงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ลงสู่พื้นที่จังหวัด ชุมชนและท้องถิ่น โดยนำความรู้ด้าน วทน. เผยแพร่ลงสู่พื้นที่และสร้างความตระหนักผ่านกลไกลการขับเคลื่อนงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทยซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วน ดังนี้
![]() |
|
![]() |
![]() |