กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวสารหน่วยงาน สวทช. ส่งมอบงานวิจัยมุ่งเป้าระบบราง เครื่อง Train Driving Simulator ให้ ร.ฟ.ท.

สวทช. ส่งมอบงานวิจัยมุ่งเป้าระบบราง เครื่อง Train Driving Simulator ให้ ร.ฟ.ท.

พิมพ์ PDF

     วันนี้ (6 มีนาคม 2558) เวลา 09.00 น. ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดการการส่งมอบงานวิจัยมุ่งเป้าระบบราง ”เครื่อง Driving  Simulator" ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ กล่าวบรรยายพิเศษในหัวข้อ "วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการสนับสนุนการพัฒนาระบบราง" ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวรายงาน  พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวบรรยายพิเศษเรื่อง “นโยบายในการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมเพื่อผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ระบบราง” ณ ลานชั้น3 สถานนีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิ้งค์ มักกะสัน

      รองนายกฯ กล่าวว่า  ระบบขนส่งทางอากาศของประเทศไทย เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่การพัฒนาระบบขนส่งทางรางในปัจจุบันเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ยังล้าหลังและยังต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศสูง ตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐาน เช่น การออกแบบ การก่อสร้างรถจักรและล้อเลื่อน ระบบไฟฟ้า การเดินรถ การบำรุงรักษา และเทคโนโลยี เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมาประเทศไม่ได้สั่งสมความรู้เรื่องเทคโนโลยีระบบรางไว้อย่างพอเพียง อีกทั้งการผลิตชิ้นส่วนรถไฟในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะส่วนที่ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในการผลิต ประเทศไทยยังไม่มีขีดความสามารถที่จะรองรับการพัฒนาได้ การพัฒนาระบบรางโดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง จำเป็นต้องพึ่งพาความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและการผลิตในภาคอุตสาหกรรม และความปลอดภัย ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญในการพัฒนาระบบขนส่งทางราง รวมไปถึงรถไฟที่ใช้เพื่อการขนส่งระหว่างเมือง รถไฟความเร็วสูง รถไฟใต้ดิน รถไฟฟ้า เป็นต้น

ในปี 2558 นี้ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อเป็นการรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาซียนดังกล่าว เราควรมุ่งเน้นการพัฒนาการขนส่งระบบราง เพื่อยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศให้มีความก้าวหน้า เข้มแข็ง ก้าวให้ทันกับประเทศที่พัฒนาแล้ว มีการลงทุนเพื่อสร้างองค์ความรู้เรื่องเทคโนโลยีระบบราง ในด้านต่างๆ

ตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐานไปจนถึงระบบเทคโนโลยีขั้นสูง เพราะการพัฒนาด้านการขนส่งระบบรางจะเป็นการลดต้นทุนการขนส่งและรองรับการเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจชายแดน และประเทศในกลุ่มอาเซียนเองยังสนับสนุนการขนส่งมวลชน อาทิ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่และเส้นทางสายใหม่ โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการรถไฟฟ้าชายเมืองในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคตทางด้านการขนส่ง พร้อมกับสร้างโอกาสให้แก่ภาคเอกชนในการลงทุนรวมทั้งเป็นการเร่งปรับโครงสร้างการบริหารจัดการระบบรางของประเทศให้ใประสิทธิภาพในระยะยาว แก้ไขปัญหาทางด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ที่ยังขาดความผสมผสานและความต่อเนื่องเชื่อมโยงเครือข่ายและการบริหารจัดการขนส่งผู้โดยสาร สินค้าและบริการที่รวดเร็ว เชื่อมโยงชนบท พื้นที่เมือง และระหว่างประเทศ กระจายความเจริญจากกรุงเทพฯ ออกไปสู่เมืองที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ในมิติต่างๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว เพิ่มความต่อเนื่องในการเดินทางให้สูงขึ้น  ทำให้ประชาชนสามารถเดินทางไปกลับได้สะดวกรวดเร็วขึ้น ลดสัดส่วนผุ้เดินทางโดยรถยนต์ส่วนบุคคล ช่วยเพิ่มสัดส่วนผู้เดินทางและการขนส่งสินค้าด้วยการขนส่งระบบรางมากขึ้น ลดการสูญเสียการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อลดการใช้พลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งประชาชนจะได้รับประโยชน์โดยตรง

​     

     ดร.พิเชฐ กล่าวว่า ชิ้นส่วนอุปกรณ์และระบบต่างๆ ที่นำมาประกอบรวมเป็นรถไฟให้เราได้ใช้บริการไม่ว่าจะเป็นตัวรถ ราง สถานี ระบบจ่ายไฟฟ้า ระบบอาณัติสัญญาณ และระบบควบคุมการเดินรถ ล้วนแล้วแต่เกิดจากความคิดริเริ่มของนักวิจัยในการศึกษาวิจัยพัฒนาคิดค้นสิ่งประดิษฐ์

ใหม่ๆหรือปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพสิ่งที่มีอยู่เดิมให้ดียิ่งขึ้นและนำส่งผลสัมฤทธิ์เหล่านี้สู่ประชาชนผู้ใช้บริการผ่านกระบวนการผลิตของ

อุตสาหกรรม ซึ่งก็คือแนวทางการดำเนินงานที่ทาง วช. คอบช. และ สวทช. ที่ได้ร่วมกันผลักดันให้เกิดวงจรการทำงานร่วมกันในการพัฒนาระบบขนส่งทางรางของประเทศไทยภายใต้ชื่อ งานวิจัยมุ่งเป้าระบบราง” โดยเริ่มจากการค้นหาและพัฒนาโจทย์วิจัย การปรับแต่งวัตถุประสงค์เป้าหมายและการดำเนินงานของโครงการ รวมไปถึงการติดตามและประเมินผลงานวิจัย โดยเป็นการทำงานร่วมกันของคณะนักวิจัย ผู้บริหารจัดการทุนวิจัย และผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยซึ่งกรณีของ ร.ฟ.ท. ในวันนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนและทำให้เกิดผลสำเร็จของรูปแบบการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับแผนวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ จนเป็นที่มาของการจัดส่งมอบผลงานวิจัยในงาน งานวิจัยระบบรางมุ่งเป้าเพื่อการพัฒนาระบบขนส่งทางรางของประเทศ ครั้งที่ ๑ ในวันนี้ และผมหวังว่าจะเกิดงานในลักษณะนี้เป็นครั้งที่ ๒ ในอนาคตอันใกล้เพื่อทยอยส่งมอบและเผยแพร่งานวิจัยซึ่งจะเป็นเวทีในการนำเสนอผลงานวิจัยอันมีค่าแก่สาธารณชนต่อไป

​   นอกจากนี้การพัฒนาระบบขนส่งทางรางอย่างยั่งยืนโดยใช้พื้นฐานของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จักต้องพิจารณาองค์ประกอบที่หลากหลาย เนื่องจากระบบรางเป็นที่รวมของสรรพวิชา การพัฒนาระบบราง โดยยึดหลักการพึ่งตนเองนั้น จะเกิดขึ้นภายใต้แนวทางในการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหลายแขนงอย่างต่อเนื่อง

 

​       ดร.พิเชฐ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า งานวิจัยใช้ได้จริง จากหิ้งสู่ห้างโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หนุนการพัฒนา นำนวัตกรรมเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ รวมทั้ง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดย เครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) รวมถึงการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งร่วมเป็นหน่วยงานร่วมให้ข้อมูลเพื่อความสำเร็จของงานวิจัยดังกล่าวที่เกิดขึ้นในวันนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดงานในวันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาอย่างยั่งยืนของระบบขนส่งทางรางไทยซึ่งจะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยต่อไปในอนาคต

     ​พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า ช่วงปลายเดือน กรกฎาคม พ.ศ.2557 ที่ผ่านมา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้อนุมัติเดินหน้ายุทธศาสตร์ลงทุน โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมทั้งระบบ ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2565 ซึ่งกรอบการดำเนินงานนั้นมุ่งเน้นเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ 4 ด้าน ได้แก่ 1. การสร้างรากฐานความมั่นคงทางสังคม 2. การสร้างมาตรฐานความมั่นคงทางเศรษฐกิจ 3. การสร้างโอกาสสำหรับการใช้ประโยชน์สูงสุดจากการเป็นประชาคมอาเซียน และ 4. การเสริมสร้างความมั่นคง ความปลอดภัยในการเดินทางและการขนส่ง ซึ่ง คสช. ได้ให้ความสำคัญในการขยายโครงข่ายรถไฟทั่วประเทศ โดยจะใช้งบประมาณกว่า 2 ล้านล้านบาท ในระยะเวลา 8 ปี

    

​        

       ​อย่างไรก็ดี ดังเป็นที่รับทราบกันว่าเงินลงทุนด้านระบบรางมากกว่าครึ่งจะใช้จ่ายออกนอกระบบเศรษฐกิจของประเทศในการจัดหาวัสดุอุปกรณ์และค่าจ้างผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งหมายความว่าประเทศจะเสียโอกาสในการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนไทยคิดเป็นเงินมากกว่า 1 ล้านล้านบาท แทนที่จะใช้โอกาสซึ่งประเทศจะลงทุนขนาดใหญ่ในการยกระดับรายได้ต่อหัวของประชากรให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง (Middle income trap) ซึ่งเราตกหล่มหยุดอยู่กับที่มานานกว่าสิบปีแล้ว ​สาเหตุที่เราไม่สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมขึ้นมารองรับการลงทุนด้านระบบรางได้ก็เนื่องจากนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างที่ปิดกั้นโอกาสการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคอุตสาหกรรมของไทยในอดีตและความไม่เข้มแข็งในการเข้าแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมเองซึ่งกระทรวงคมนาคมเล็งเห็นปัญหาดังกล่าวและมีนโยบายในการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมในประเทศเพื่อผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ระบบราง คือ การส่งเสริมโอกาส เพิ่มศักยภาพและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการภายในประเทศสามารถมีส่วนร่วมตามนโยบายของรัฐบาล การสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนไทยในการพัฒนาระบบขนส่งทางรถไฟ โครงข่ายรถไฟฟ้า การปรับปรุงพัฒนาโครงข่ายขนส่งมวลชนที่มีอยู่ ให้ทันสมัยครอบคลุมพื้นที่บริการเพิ่มขึ้นและสอดคล้องกับการขยายตัวของเมืองและการใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมทั้งให้ความสําคัญกับการพัฒนาความเชื่อมโยงด้านการขนส่งและระบบโลจิสติกส์กับประเทศเพื่อนบ้านภายใต้กรอบความร่วมมือในอนุภูมิภาคในภูมิภาคอาเซียนด้วย

​    การพัฒนาระบบขนส่งทางรางไทยอย่างยั่งยืนจะต้องพิจารณาส่งเสริมมาตรการในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องในหลายเรื่อง อาทิ กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นธรรม สนับสนุนชิ้นส่วนระบบรางที่ผลิตได้ในประเทศไทย เปิดโอกาสให้อุตสาหกรรมไทยได้แจ้งเกิด ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง การบริหารการเดินรถและการซ่อมบำรุง โดยสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับขีดความสามารถการผลิตของอุตสาหกรรมไทย​

​      

 

​ 

     ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยฝ่ายบริหารจัดการคลัสเตอร์และโปรแกรมวิจัย และโครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาเทคโนโลยีระบบขนส่งทางรางแห่งชาติ ได้รับการสนับสนุนเงินงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดย เครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) มอบหมายให้บริหารงานแผนงานวิจัยมุ่งเป้าตอบสนองต่อความต้องการในการพัฒนาประเทศด้านการคมนาคมระบบราง ซึ่งในปี ๒๕๕๖ มีงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุน จำนวนทั้งสิ้น ๓ แผนงาน และ ๓ โครงการเดี่ยว

​    บัดนี้ คณะผู้วิจัยได้ดำเนินการงานวิจัยบางแผนเสร็จสิ้นแล้ว สวทช. จึงเห็นควรจัดการสัมมนาทางวิชาการ งานวิจัยระบบรางมุ่งเป้าเพื่อการพัฒนาระบบขนส่งทางรางของประเทศ ครั้งที่ 1 เพื่อนำเสนอ ผลงานวิจัยให้เป็นที่รับทราบของสาธารณชนและส่งมอบผลงานวิจัยให้กับหน่วยงานผู้รับประโยชน์ นำผลงานวิจัยไปใช้ ซึ่งเมื่อวาน ณ สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์ แห่งนี้ คณะผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นำเสนอรายงานผลการวิจัยภายใต้แผนงาน ความต้องการและความคาดหวังของผู้ใช้บริการในระบบการคมนาคมขนส่งทางราง ศึกษากรณีการรถไฟแห่งประเทศไทย” ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัย และในการนำเสนอผลงานวิจัย ก็ได้จัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการของพนักงานการรถไฟฯและบรรดาตัวแทนผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (Stakeholders) ได้รับทราบผลการวิจัยและร่วมกันจัดทำแผนเพื่อนำผลการวิจัยไปใช้ในการปรับปรุงคุณภาพการให้บริการ

​      

 
 

      ในวันนี้ คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้นำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง การพัฒนาระบบการจำลองการขับรถไฟและชุดทดสอบการทำงานของหัวรถจักร Alstom” ซึ่งงานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเพื่อจัดทำเครื่องขับรถไฟจำลองหรือเครื่อง TRAIN DRIVING SIMULATOR เพื่อทดแทนเครื่องเดิมที่ศูนย์ฝึกอบรมของการรถไฟฯ ที่ไม่สามารถใช้งานได้สมบูรณ์แล้ว ทั้งนี้งานวิจัยประกอบด้วยการเขียน Software ขึ้นใหม่ทั้งหมด ซึ่งประกอบด้วยเส้นทางรถไฟ ขั้นตอน วิธีการขับ และกระบวนการต่างๆ ของการขับรถไฟ รวมถึงการจำลองเหตุการณ์ต่างๆที่อาจเกิดขึ้นได้จริงในการเดินรถไฟ และ การจัดทำ Hardware เครื่อง TRAIN DRIVING SIMULATOR โดยมีอุปกรณ์ควบคุมการขับรถจักร Alstom เสมือนอยู่ในห้องขับจริงเพื่อใช้ในการฝึกหัดขับรถจักรของพนักงานขับรถจักรเพื่อพัฒนาให้มีทักษะและความชำนาญในการขับรถจักรที่จะสามารถแก้ไขสถานการณ์ต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นได้จริง รวมถึงสร้างความตระหนักให้เห็นถึงความสำคัญของพฤติกรรมการมีวินัย จริยธรรม และการเคารพข้อบังคับการเดินรถไฟได้อย่างถูกวิธีและปลอดภัย ทั้งนี้เพื่อลดอุบัติเหตุหรือความเสี่ยงต่างๆที่อาจเกิดขึ้นได้ในการเดินขบวนรถไฟ

​   

 

​ที่มาข้อมูล : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

ข่าวโดย : นางสาวชลธิชา แสงเทียนสุวรรณ

ภาพและวีดีโอ : นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์, นางสาวนีรนุช ตามศักดิ์

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์  สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โทร. 02 333 3727-3732, โทรสาร 02 333 3834  E-Mail :  อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน , facebook : sciencethailand

 

 

 
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
» เปิดประสบการณ์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในโลกมืด กับ “ค่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเห็น” ครั้งที่ 9
» ก.วิทย์ จับมือ ก.คลัง เปิดช่องทางใหม่ให้เอกชนรับรองโครงการวิจัยด้วยตนเอง เพื่อใช้สิทธิยกเว้นภาษี 300% ได้สะดวก รวดเร็ว และหนุนการทำวิจัยเพิ่มมากขึ้น
» ก.วิทย์ โดย ซอฟต์แวร์พาร์ค สวทช. จับมือ สสว. จัดเวทีนำเสนอนวัตกรรมและแผนธุรกิจสำหรับหาเงินทุนหรือผู้ร่วมทุน พร้อมสร้างเครือข่ายสตาร์ทอัพไอซีทีไทยในระดับนานาชาติ
» ก.วิทย์ สวทช. ร่วมมือกับเอไอที สนับสนุนบุคลากรวิจัยให้บริการและให้คำปรึกษาทางวิชาการ
» สำนักงาน กสทช. ร่วมกับ สวทช. เผยผลสำรวจมูลค่าตลาดสื่อสารปี 59 ตลาดยังสดใส โต 11.5% ผลพวงจาก 4G และดิจิทัลอีโคโนมี
» กรมการข้าว ร่วมกับ สวทช. เปิดหมู่บ้านส่งเสริมเมล็ดพันธุ์ข้าว ต.ชัยบุรี อ.เมือง จ.พัทลุง
» สวทช. ก.วิทย์ - สสส. และภาคีเครือข่าย หนุนเวที “นวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม” ปลุกพลังคนรุ่นใหม่ ใช้เทคโนโลยี แก้ปัญหาสังคม
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป