![]() |
(วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวในรายการ คืนความสุขให้คนในชาติ ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยโดยใจความสำคัญตอนหนึ่ง ซึ่งนายกฯ ได้เน้นย้ำและให้ความสำคัญอย่างมาก นั่นคือ การวางรากฐานประเทศลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา ทั้งนี้ ขอนำคำแถลงของนายกรัฐมนตรี บางช่วงบางตอน ซึ่งเกี่ยวโยงกับบทบาทภารกิจหลักของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาเผยแพร่ ดังนี้
เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมและรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง และผู้แทนจากหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชนได้เดินทางไปจังหวัดนครราชสีมา เพื่อเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว และได้พบปะกับพี่น้องประชาชนชาวนครราชสีมา ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด และสินค้า OTOP ณ สหกรณ์การเกษตรพิมาย จำกัด อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ผมขอขอบคุณพี่น้องประชาชนและเจ้าหน้าที่ทุกท่านที่ได้ให้การต้อนรับผมและคณะอย่างอบอุ่นและเป็นกันเอง
สำหรับวัตถุประสงค์หลักของการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ก็เพื่อติดตามความคืบหน้าและประเมินผลการดำเนินงานของรัฐบาลในเรื่องต่าง ๆ รวมทั้งรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะจากพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการเกษตร หรือปัญหาปากท้องทั่วไป ทำให้รัฐบาลจะได้รับทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่าง ๆ มากมาย โดยข้อมูลทั้งหมดนั้น รัฐบาลจะนำมาพิจารณา ดำเนินการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ในการปรับปรุงมาตรการต่าง ๆ ที่จะช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรในโอกาสต่อไป”
การวางรากฐานให้กับประเทศของเรา จำเป็นต้องมีการพัฒนา และก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วด้วยความมั่นคงและยั่งยืน โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ภาคประชาชนจะมีความเข้มแข็งก็ต้องได้รับการดูแลและสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชน การดำเนินการต่าง ๆ นั้น รัฐบาลได้มอบหมายไปแล้ว ล้วนมุ่งเป้าหมายไปสู่วิทัศน์ที่รัฐบาลได้กำหนดไว้แล้วทั้งสิ้น คือการที่จะทำให้ประเทศไทยและพี่น้องชาวไทยทุกคนมีความมั่งคง มั่งคั่งอย่างยั่งยืน
การลงทุนในการวิจัยและพัฒนา มีความจำเป็นอย่างยิ่งเป็นสิ่งสำคัญ ในการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศในการแข่งขัน แม้ว่าปัจจุบันจะมีอยู่หลายหน่วยงานที่เป็นแหล่งศึกษาวิจัยและพัฒนา เช่น สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หรือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) รวมถึงองค์กรวิจัยอิสระ เช่น สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) หรือ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร แต่วันนี้เราต้องการให้มีการบูรณาการร่วมกัน ทั้งในส่วนของแผนงาน ในส่วนของวัตถุประสงค์ที่ร่วมกัน และนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ โดยมีการบริหารในเรื่องกองทุนต่าง ๆ ให้เหมาะสม ทั้งของภาครัฐและเอกชน
![]() |
วันนี้เรายังขาดการลงทุนและการพัฒนาในด้านนี้อีกหลายด้าน ที่จะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับประเทศไทย ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าและบริการ ดังนั้น ภาครัฐจะเร่งผลักดันให้เกิดการวิจัยและพัฒนาเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาวิจัยที่ร่วมกันกับภาคเอกชนที่จะร่วมมือกัน ในการสร้างนวัตกรรมที่เราต้องการ เพื่อจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ต่างๆ สามารถทำการแข่งขันได้ ในตลาดในอนาคต ส่งเสริมต่อยอดในการสร้างกลุ่มคลัสเตอร์ ผูกห่วงโซ่ เพิ่มการลงทุนในประเทศ ในธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ให้ได้ปัจจุบันรัฐบาลได้มีมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพิ่มจาก 200% เป็น 300% เพื่อจะส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม ลดต้นทุน รวมทั้งสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ
การส่งเสริมการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนานั้น เป็นสิ่งสำคัญ รัฐบาลได้มีเป้าหมายที่จะเพิ่มการลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศโดยรวมให้ได้ 1% ของ GDP และ เพิ่มสัดส่วนการวิจัยและพัฒนาของเอกชนเป็น 70% ต่อ 30% ให้ได้ ขณะนี้ภาพรวมของการลงทุนวิจัยภาคเอกชน ได้เพิ่มมากขึ้นถึงกว่า 2 หมื่นล้านบาทในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามยังไม่เพียงพอกับสภาพการแข่งขันทางธุรกิจที่เข้มข้น ดังนั้น เมื่อเรามีมาตรการยกเว้นภาษีเพิ่มเติมนั้น ก็อาจจะช่วยเป็นแรงจูงใจให้กับภาคเอกชน ได้เพิ่มการลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้นตามลำดับ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่จะนำไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืน เพราะว่าถ้าหากเราสามารถศึกษาวิจัยพัฒนาสินค้าได้ เราก็จะใช้วัตถุดิบทางการเกษตร มีการรับรองคุณภาพ เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับพืชผลทางการเกษตรของเรา ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาในเรื่องราคาที่ตกต่ำได้ด้วย
ในเรื่องนี้อยากจะฝากให้สถาบันการศึกษาทุกส่วน ทุกระดับที่มีส่วนสำคัญ มีสถาบันวิจัย หรือมีเรื่องที่วิจัยอยู่แล้วในขณะนี้ ในสถานศึกษาทั่วทุกภูมิภาค ได้มีการร่วมมือกับชุมชนท้องถิ่น ภาคเอกชนในพื้นที่ช่วยกันวิจัย และพัฒนาสินค้าท้องถิ่นด้วย ในส่วนของภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม ทั้งนี้เพื่อจะรองรับกับความต้องการของผู้บริโภค ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จะช่วยให้เศรษฐกิจในภูมิภาคเจริญเติบโตได้อย่างยั่งยืน
แหล่งที่มา: สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์
คัดลอกและเผยแพร่โดย: กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี