กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวสารหน่วยงาน กระทรวงวิทย์ฯ ถกสถาบันดาราศาสตร์เกาหลีเตรียมร่วมมือตั้งเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุครั้งแรกในไทย

กระทรวงวิทย์ฯ ถกสถาบันดาราศาสตร์เกาหลีเตรียมร่วมมือตั้งเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุครั้งแรกในไทย

พิมพ์ PDF

เชื่อมเครือข่ายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

 

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำผู้บริหารสถาบันดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์อวกาศเกาหลี เข้าพบ ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเตรียมร่วมมือตั้งเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุในไทย หวังเชื่อมเครือข่ายกับเอเชียตะวันออกเพื่อร่วมสังเกตการณ์กับเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุทั่วโลก
เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา ในโอกาสเดินทางเข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) ที่จังหวัดเชียงใหม่ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วยรองศาสตราจารย์บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการ สดร. และ ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการ สดร. และนักวิจัย สดร. มีโอกาสต้อนรับและหารือกับผู้บริหาร สถาบันดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์อวกาศเกาหลี (Korean Astronomy and Space Science : KASI) นำโดย ดร. อินวู ฮาน ผู้อำนวยการ และ ดร. ยัง โชล มีน ผู้เขี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์วิทยุ ในประเด็นความร่วมมือจัดตั้งเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุในประเทศไทย เพื่อเข้าร่วมกับเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุของสาธารณรัฐเกาหลี (Korean VLBI Network: KVN) และเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งภาคพื้นเอเชียตะวันออก (East Asia VLBI Network)
ดร. พิเชฐ กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ พยายามที่จะประชาสัมพันธ์เพื่อให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นหน่ออ่อนไปสู่นักวิทยาศาสตร์ในอนาคต ในส่วนของ สดร. เองก็ดำเนินการวิจัยและพัฒนาด้านดาราศาสตร์มาอย่างต่อเนื่อง มีเครือข่ายความร่วมมือและสนับสนุนด้านดาราศาสตร์ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงได้ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านดาราศาสตร์เพื่อเผยแพร่ความรู้ สร้างความตระหนักทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่สังคม ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดาราศาสตร์ตลอดจนการพัฒนากำลังคนทางด้านดาราศาสตร์อย่างเป็นรูปธรรม ความร่วมมือทางด้านดาราศาสตร์วิทยุกับสาธารณรัฐเกาหลี ที่จะมีขึ้นเร็ว ๆ นี้ จึงมีความสำคัญมาก เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในที่ตั้งที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน หากแล้วเสร็จจะสามารถเชื่อมโยงกับเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุทั้งในแภบภูมิภาคเอเชียตะวันออก และทวีปออสเตรเลีย กลายเป็นเครือข่ายที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
ด้าน รศ. บุญรักษา กล่าวว่า ไทยกับสาธารณรัฐเกาหลี มีความร่วมมือทางด้านดาราศาสตร์มากว่า 7 ปีแล้ว โดย สดร. ได้ลงนามความร่วมมือด้านดาราศาสตร์ กับ KASI มาตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2550 หลังจากนั้นได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานของทั้ง 2 องค์กร มีกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่องหลายโครงการ ทั้งการวิจัยร่วมกัน
จัดสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้ รวมถึงการให้ทุนนักศึกษาไทยไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ที่ KASI และการศึกษาดูงานด้านดาราศาสตร์ที่เกาหลีของเยาวชนไทยอีกด้วย
รศ. บุญรักษา กล่าวเพิ่มเติมว่า สดร. มีแผนยุทธศาสตร์ที่จะพัฒนาทางด้านดาราศาสตร์วิทยุ โดยจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลักทางด้านดาราศาสตร์วิทยุ ได้แก่ กล้องโทรทรรศน์วิทยุ ซึ่งทำหน้าที่รับคลื่นวิทยุที่แผ่ออกมาจากวัตถุท้องฟ้าชนิดต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ทำให้ได้ข้อมูลที่สำคัญสนับสนุนข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์ของ สดร. ด้วย “การพัฒนาทางด้านดาราศาสตร์วิทยุในประเทศไทยมีความสำคัญมาก เนื่องจากประเทศที่พัฒนาด้านดาราศาสตร์จนมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก เช่น สหรัฐอเมริกา เกาหลี จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ฯลฯ มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ทางด้านดาราศาสตร์วิทยุเป็นจำนวนมาก และใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุเหล่านั้นร่วมกัน เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ เท่ากับพื้นที่ของหลาย ๆ ประเทศรวมกัน ทำให้เกิดศักยภาพสูงสุดในการศึกษาวัตถุท้องฟ้าในช่วงคลื่นวิทยุ” ผสดร. กล่าว
 
 
กล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ซึ่งตั้งอยู่ ณ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ใช้สังเกตการณ์ในช่วงคลื่นแสง โดยเป็นกล้องโทรทรรศน์ระดับมาตรฐานโลก สามารถใช้ประโยชน์ในการศึกษาและวิจัยทางด้านดาราศาสตร์ นอกจากนี้ยังนำมาใช้การสร้างความตระหนัก สนับสนุนการศึกษาและวิจัยอย่างกว้างขวาง แก่ประชาชน นักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ทั่วประเทศไทยแต่การสังเกตการณ์ช่วงคลื่นแสงเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ที่อยู่ในช่วงที่ตาของมนุษย์เราสามารถมองเห็นได้เท่านั้น  ดาวและวัตถุท้องฟ้าต่าง ๆ ในเอกภพ ยังแผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าช่วงอื่น ๆ ออกมาด้วย ได้แก่ คลื่นวิทยุ คลื่นไมโครเวฟ คลื่นอินฟราเรด  ซึ่งมีพลังงานต่ำกว่าแสง และรังสีอัลตราไวโอเลต รังสีเอ็กซ์ รังสีแกมมา  ซึ่งมีพลังงานสูงกว่าแสงตามลำดับ นับว่าเป็นโชคดีที่ชั้นบรรยากาศโลก ป้องกันมิให้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าพลังงานสูงดังกล่าวซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตแผ่มาสู่พื้นโลกได้   ส่วนคลื่นวิทยุและคลื่นไมโครเวฟ นั้นสามารถทะลุผ่านชั้นบรรยากาศโลกเข้ามาได้ โดยไม่ถูกเมฆในชั้นบรรยากาศบดบัง เหมือนกับในช่วงคลื่นแสง  นอกจากนี้เรายังสามารถสังเกตคลื่นวิทยุได้ ทั้งในช่วงเวลากลางวันและกลางคืน โดยไม่ถูกรบกวนจากแสงของดวงอาทิตย์  ดังนั้นคลื่นวิทยุจึงมีประโยชน์ต่อนักดาราศาสตร์อย่างกว้างขวาง โดยสามารถศึกษาถึงวัตถุอื่น ๆ มากมายที่ไม่สามารถสังเกตได้ในช่วงคลื่นแสง แต่เป็นองค์ความรู้ที่สำคัญอย่างยิ่งทางดาราศาสตร์ 

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์  สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
โทร. 053-225569 ต่อ 210, 081-8854353 โทรสาร 053-225524
Call Center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร.1313
E-mail: อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน
www.narit.or.th; www.facebook.com/NARITpage
twitter: @N_Earth

เผยแพร่ข่าวโดย : นางสาวนีรนุช ตามศักดิ์
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732  โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน
Facebook : sciencethailand
 
 
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป