กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวสารหน่วยงาน รมว.วท. ลงพื้นที่ตำบลน้ำอ้อม ยโสธร ติดตามโครงการพัฒนานักประกอบการวิสาหกิจชุมชนข้าวอินทรีย์

รมว.วท. ลงพื้นที่ตำบลน้ำอ้อม ยโสธร ติดตามโครงการพัฒนานักประกอบการวิสาหกิจชุมชนข้าวอินทรีย์

พิมพ์ PDF

         

         

          วันที่ 27 ธันวาคม 2557 ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วย นางสาวเสาวณี มุสิแดง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และ ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เดินทางลงพื้นที่ อ.ค้อวัง จ.ยโสธร เพื่อตรวจเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินงานของเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืนน้ำอ้อม ที่ได้นำความรู้และความเข้าใจในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อจัดการแปลงนาให้ได้มาตรฐานตามข้อกำหนดของเกษตรอินทรีย์ โดยจัดทำโครงการพัฒนานักประกอบการวิสาหกิจชุมชนข้าวอินทรีย์ขึ้น เพื่อสนับสนุนและให้ความรู้แก่เกษตรกรผ่านการฝึกอบรม เช่น การจัดการแปลงนา การเก็บข้อมูลเพื่อขอรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของเกษตรกร การอบรมผู้ตรวจสอบแปลงนา (Inspector) ซึ่งนอกจากจะเป็นการยกระดับประสิทธิภาพการผลิตข้าวอินทรีย์แล้ว ยังเป็นการเพิ่มจำนวนเกษตรกรที่ผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ทั้งในระดับประเทศไทยและระดับสากล ตลอดจนเป็นการสร้างเครือข่ายการตลาดทางธุรกิจให้กับเกษตรกร

 


    ส่วนเรื่องความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืนน้ำอ้อม ได้รับการสนับสนุนจากทีมนักวิจัย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. ซึ่งได้พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการเกษตรแบบพกพา (Thailand Agriculture Mobile Information System) หรือ TAMIS ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับเจ้าหน้าที่ในการตรวจรับรองตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โดยนำคอมพิวเตอร์พกพา (Tablet) มาใช้แทนฟอร์มกระดาษแบบเดิม ระบบที่พัฒนาขึ้นนี้จะเข้ามาช่วยเจ้าหน้าที่ตั้งแต่การลงทะเบียนเกษตรกรด้วยบัตรประชาชนแบบ smart card พร้อมทั้งยังสามารถเก็บพิกัด GPS ของแปลงเพาะปลูกได้ จนถึงขั้นตอนการตรวจประเมินข้าวอินทรีย์ การรายงานผลแบบเรียลไทม์ ซึ่งจะลดกระบวนการทางด้านงานเอกสารและการประมวลผลด้วยมือลง ทำให้ได้ข้อมูลที่มีคุณภาพ ถูกต้อง และแม่นยำ ในเวลารวดเร็ว ทั้งนี้เจ้าหน้าที่และผู้ตรวจประเมินสามารถบันทึกข้อมูลพร้อมทั้งประมวลผลหน้าแปลงนา และส่งผลลัพธ์จากการประมวลผลอัตโนมัติเข้ามายังศูนย์กลางข้อมูลแบบทันที ซึ่งจะทำให้เกษตรกรได้รับใบรับรองการตรวจประเมินได้รวดเร็วขึ้น และไม่เสียโอกาสในการขายสินค้า จากเครื่องมือ TAMIS นี้ในอนาคตคาดหวังว่าเครื่องมือดังกล่าวจะเป็นฐานข้อมูลในการกำหนดมาตรฐานการตรวจรับรองข้าวเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทย ซึ่งจะสามารถช่วยเกษตรกรลดต้นการตรวจรับรองมาตรฐานจากต่างชาติ และลดภาวะการกีดกันทางการค้าการส่งออกข้าวได้

 


         ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผอ.สวทช.  กล่าวว่า การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ทั้งในประเทศและระดับสากลนั้น ที่ผ่านมา การดำเนินงานนั้นต้องเก็บข้อมูลวิธีการทำนาของเกษตรกรเป็นรายบุคคล ซึ่งถือเป็นงานที่สำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากทางเจ้าหน้าที่จะต้องมีการตรวจและประเมินผลจากเอกสารเหล่านี้ เพื่อให้การรับรองแก่เกษตรกร แต่ในปัจจุบันการเก็บข้อมูลต่างๆ นั้นยังใช้เป็นระบบเอกสาร ซึ่งค่อนข้างยุ่งยากและเป็นข้อจำกัดในการสำรวจและเก็บข้อมูลของเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบแปลงนา ซึ่งเอกสารเหล่านี้นอกจากจะต้องระบุข้อมูลของชาวนาแล้ว ยังต้องระบุสภาพแวดล้อมรอบแปลงนา และร่างขอบเขตพื้นที่อย่างคร่าวๆ เพื่อหาพิกัดว่าสภาพแวดล้อมดังกล่าวมีความเหมาะสมต่อการทำเกษตรอินทรีย์หรือไม่ ส่งผลให้เสียเวลาและอาจก่อให้เกิดความคาดเคลื่อนขณะปฏิบัติงาน

 


        นายประวัติ ถีถะแก้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร กล่าวเพิ่มเติมว่า เดิมที จ. ยโสธร มีการปลูกข้าวอินทรีย์กันอยู่อย่างกว้างขวาง แต่ยังไม่มีการประยุกต์ใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการทำการเกษตร ส่งผลให้เกษตรกรมีต้นทุนในการผลิตสูง และต้องขอบคุณกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยเฉพาะหน่วยงานไบโอเทค/สวทช. ได้เข้ามาสนับสนุนปัจจัยและส่งเสริมการนำเอาองค์ความรู้เหล่านี้มาประยุกต์ใช้ให้ถูกต้อง และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่กลุ่มเกษตรกร อาทิเช่น การสนับสนุนให้มีการเพิ่มอินทรียวัตถุลงในแปลงนาด้วยปลูกปุ๋ยพืชสดจำพวกถั่วพร้าและปอเทืองอินทรียวัตถุเหล่านี้นอกจากจะสนับสนุนกิจกรรมของจุลินทรีย์ในดินแล้ว ยังช่วยในการรักษาและปรับปรุงโครงสร้างของดินให้มีสภาพเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตอีกด้วย


           ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.วท. กล่าวทิ้งท้ายว่า ในฐานะของผู้ผลิตจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาสินค้าหลายอย่างเมื่อแปรรูปแล้ว ในกรณีของเกษตรอินทรีย์ การที่จะแปรูปข้าวอินทรีย์เพื่อที่จะขายในลักษณะของเวชภัณฑ์ยา หรือเครื่องสำอาง อาหารรูปแบบต่างๆ พร้อมกับการพยายามสร้างตำนานให้ตลาดโลกได้เข้าใจว่าของที่เราขายต้องมีตำนาน ของที่มีตำนานมักมีราคาดี เพราะเชื่อว่าเรามีประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นที่มาของผลิตภัณฑ์อันทรงคุณค่านี้ หลายประเทศถึงแม้จะไม่มีทรัพยากร ไม่มีตำนานก็พยายามสร้างจนเกิดมีตำนาน เพราะฉะนั้นเราเองมีตำนาน เราก็ใช้ประโยชน์จากตำนานเหล่านี้ได้ และในฐานะชุมชนตำบลน้ำอ้อมอยู่ในทุ่งกุลาร้องไห้ การพัฒนาระบบอินทรีย์น่าจะเป็นต้นแบบที่ดีที่ชุมชนอื่นๆ จังหวัดอื่นๆ ได้เรียนรู้และได้นำไปขยายผลต่อเป็นประโยชน์ระดับประเทศ
          สิ่งที่ทางรัฐบาลจะทำได้มากขึ้นคือ ความพยายามของแต่ละกระทรวงในการบูรณาการทำงานร่วมกัน เป็นมิติหนึ่งที่ทางรัฐบาลจะพยายามปรับปรุงทำให้มีความเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้น สิ่งหนึ่งที่จะขอฝากไว้ด้วยคือเรื่องกำลังคน ในภาคการเกษตรในอนาคตอันใกล้จะประสบกับปัญหากำลังคน เพราะลูกหลานเกษตรกรในวันนี้ไม่อยากเป็นเกษตรกร ทางออกทางหนึ่งคือ ต้องทำให้เขาเกิดแรงบันดาลใจอยากจะเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ หรือเกษตรกรในภาคการผลิตสมัยใหม่ ใช้เทคโนโลยี เช่น โครงการ TAMIS ก็เป็นเทคโนโลยีหนึ่งซึ่งทันสมัยมาก การเอาเทคโนโลยีชีวภาพมาช่วยชุมชน ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ก็จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะสร้างคิดความท้าทายให้กับเด็ก หากเขาจะได้เป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นพันธุ์พืชใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์ข้าวทนแล้ง พันธุ์ข้าวทนน้ำท่วม ความเปลี่ยนแปลงในสภาพอากาศทุกวันนี้ก็เป็นความท้าทายที่เราต้องเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย จะทำให้เรารักษามาตรฐานของเราได้ ไปจนถึงเรื่องบรรจุภัณฑ์และการขนส่งทั้งหลาย ในอนาคตเกษตรกรรมก็จะยืนพื้นเป็นฐานหลักที่สำคัญของสังคม แต่ในขณะเดียวกันความเปลี่ยนแปลงของสังคมในด้านอื่น ไม่ว่าจะเป็นรถไฟที่เชื่อมต่อจุดสำคัญ ไม่เพียงเฉพาะในประเทศไทยแต่ในภูมิภาคอาเซียนเลยไปจนถึงประเทศจีน ในขณะนี้เราควรมองนอกประเทศไทยและอาเซียน แล้วดูว่าตำแหน่งจุดยืนของยโสธรจะส่วนไหนของส่วนไหนของเส้นทาง ต่อไปการเดินทางไปค้าขายระหว่างกันในภูมิภาคจะเป็นเรื่องสะดวกรวดเร็ว ค่าใช้จ่ายลดลงจะชนะกันที่คุณภาพ ฉะนั้นคุณภาพในเกษตรอินทรีย์จึงเป็นเรื่องที่ต้องรักษาและพัฒนากันต่อไป
       ในนามของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีความยินดีที่ได้มาร่วมงานกับชุมชน และคงจะได้ทำงานร่วมกันต่อไป ทั้งในส่วนของต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เรามี 14 หน่วยงานในกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หน่วยงานบางหน่วย เช่น สวทช. และ วว. สามารถที่จะสนับสนุนเกษตรกรได้ในเรื่องสารอินทรีย์ทั้งหลาย ในเรื่องของพันธุ์พืช การใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและทันสมัยในการตรวจสอบแม้กระทั่ง DNA ของข้าวพันธุ์ต่างๆ ที่มีอยู่ ไปจนถึงการฝึกอบรม เรายังมีอีกหลายหน่วยงานที่มีความเชื่อมโยงกับภาคเอกชนในเรื่องต่างๆ ได้ และแม้กระทั่งในระยะยาวอนาคตของเกษตรกรในวันนี้ยังไม่ค่อยมั่นคงแข็งแรงเท่าไหร่ เพราะเกษตรกรมีอายุมาก ปัจจุบันอายุเกษตรกรไทยทั่วประเทศเฉลี่ยอยู่ที่ 55 ปี ฉะนั้นต้องทำให้เยาวชนมีความสนใจในเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งต้องทำวันนี้ การสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะทำให้พวกเขาหันกลับมาเรียนวิทยาศาสตร์มากขึ้น ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน อันนี้จะเห็นได้ว่ากระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ บูรณาการกับศึกษาธิการ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรฯ ยุคนี้เป็นยุคที่เราต้องเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนการทำงานจากการแยกส่วนเป็นการทำร่วมกันให้มากทั้งในระดับประเทศจนลงมาถึงระดับชุมชน

 


 

 

ติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร สวทช. อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน
ลัญจนา (089- 1285004) /  สรินยา ( 081988-6614 ) ชัชวาลย์ (083- 032 5145)  ไพรัตน์ (085-902-5541) 
โทร. 02 564 7000 ต่อ 1162, 71725, 71727, 71728
โทรสาร 02-564-7060
http://www.nstda.or.th
https://www.facebook.com/NSTDATHAILAND



ข่าวและภาพ : นางสาวพจนพร แสงสว่าง
วีดีโอ : นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์  สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทร. 02 333 3732  โทรสาร 02 333 3834  E-Mail : อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน

 
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป