![]() |
กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เร่งนำ วทน. ปรับกระบวนการปลูกข้าวอินทรีย์ยโสธร หารือร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด และกลุ่มเกษตรกร หวังสร้างมูลค่าการส่งออกและให้สอดคล้องยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดที่กำหนดให้เป็น เมืองแห่งวิถีอีสาน เกษตรอินทรีย์ก้าวไกลสู่สากล พร้อมแจกถุงยืดอายุผักให้กลุ่มเกษตรกรทดลองนำไปใช้กว่า 2 หมื่นใบ ผลงานวิจัยพัฒนาฟิล์มพลาสติกจาก สวทช.
วันที่ 27 ธันวาคม 2557 ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วยนางสาวเสาวณี มุสิแดง ผู้ช่วยรัฐมนตรี และนายทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เดินทางลงพื้นที่จังหวัดยโสธร เยี่ยมชมความสำเร็จกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอินทรีย์ อ.ป่าติ้ว และ อ.ค้อวัง พื้นที่นำร่องโครงการพัฒนานักประกอบการวิสาหกิจชุมชนข้าวอินทรีย์ ภายใต้การดำเนินงานของนักวิจัย สวทช. โดยมีนายประวัติ ถีถะแก้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร ให้การต้อนรับพร้อมร่วมหารือกับกลุ่มเกษตรกรเพื่อรับฟังโจทย์ปัญหา และแนวทางขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ให้มีความยั่งยืนยิ่งขึ้นเพื่อพัฒนาศักยภาพการเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ครบวงจร โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการจัดการแปลงนาให้ได้มาตรฐานตามข้อกำหนดของเกษตรอินทรีย์
![]() |
รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า โครงการ พัฒนานักประกอบการวิสาหกิจชุมชนข้าวอินทรีย์ เป็นโครงการสำคัญที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ทั้งในด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเกษตรกรด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมถึงส่งเสริมเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงการทำงานในลักษณะภาคีความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และเครือข่ายองค์กรชุมชน เพื่อเป้าหมายในการสร้างให้กลุ่มเกษตรอินทรีย์ จ.ยโสธร เป็นต้นแบบการปลูกข้าวอินทรีย์อย่างครบวงจร ทั้งนี้ ได้รับทราบว่าปัจจุบันมีเกษตรกรแกนนำที่ผลิตข้าวอินทรีย์ในพื้นที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 7 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มโครงการข้าวคุณธรรม อ.ป่าติ้ว กลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืนน้ำอ้อม อ.ค้อวัง กลุ่มชมรมรักษ์ธรรมชาติ อ.กุดชุม กลุ่มเกษตรธรรมชาติหนองยอ อ.กุดชุม กลุ่มเกษตรกรทำนาบากเรือ อ.มหาชนะชัย กลุ่มสหกรณ์เกษตรอินทรีย์เลิงนกทาและไทยเจริญ จำกัด อ.เลิงนกทา และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์วิถีภูไท อ.เลิงนกทา รวมเป็นเครือข่ายเกษตรกรข้าวอินทรีย์จำนวน 4,565 ราย คิดเป็นพื้นที่นากว่า 45,000 ไร่ ดังนั้น การเดินทางลงพื้นที่ในวันนี้นอกจากเยี่ยมชมความสำเร็จแล้ว กระทรวงวิทย์ฯ ต้องการรับโจทย์ในการที่จะช่วยพัฒนาชุมชนให้แข็งแกร่งเพิ่มขึ้นพร้อมกับนำกลุ่มชุมชนนำร่องไปพัฒนาในพื้นที่ชุมชนเกษตรกรจังหวัดอื่นๆ ในประเทศต่อไป เพื่อสนองนโยบายรัฐบาล ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีได้ย้ำในวันแถลงผลงานรัฐบาล 3 เดือนที่ผ่านมา ต้องการเห็นประเทศไทยมีความเข้มแข็งและพัฒนาโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นตัวนำ
![]() |
ด้านนายประวัติ ถีถะแก้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร กล่าวว่าเดิมที จ.ยโสธร มีการปลูกข้าวอินทรีย์กันอยู่อย่างกว้างขวาง แต่ยังไม่มีการประยุกต์ใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการทำการเกษตร ส่งผลให้เกษตรกรมีต้นทุนในการผลิตสูง และต้องขอบคุณกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยเฉพาะหน่วยงานไบโอเทค/สวทช. ได้เข้ามาสนับสนุนปัจจัยและส่งเสริมการนำเอาองค์ความรู้เหล่านี้มาประยุกต์ใช้ให้ถูกต้อง และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่กลุ่มเกษตรกร เช่น การสนับสนุนให้มีการเพิ่มอินทรียวัตถุลงในแปลงนาด้วยปลูกปุ๋ยพืชสด จำพวกถั่วพร้าและปอเทืองอินทรียวัตถุเหล่านี้นอกจากจะสนับสนุนกิจกรรมของจุลินทรีย์ในดินแล้ว ยังช่วยในการรักษาและปรับปรุงโครงสร้างของดินให้มีสภาพเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตอีกด้วย
ฝ่ายประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร สวทช.
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน
ติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ลัญจนา (089- 1285004) / สรินยา ( 081988-6614 ) ชัชวาลย์ (083- 032 5145) ไพรัตน์ (085-902-5541)
โทร. 02 564 7000 ต่อ 1162, 71725, 71727, 71728
โทรสาร 02-564-7060
http://www.nstda.or.th
https://www.facebook.com/NSTDATHAILAND
เผยแพร่ข่าวและถ่ายภาพ : นางสาวพจนพร แสงสว่าง
วีดีโอ : นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทร. 02 333 3732 โทรสาร 02 333 3834 E-mail :
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน