ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วย ดร.พานิช เหล่าศิริรัตน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ นางสาวเสาวณี มุสิแดง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ รศ.ดร.เชาวลิต ลิ้มมณีวิจิตร เลขารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และคณะ เดินทางต่อไปยังสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) องครักษ์ จ.นครนายก เพื่อเยี่ยมชมผลงานจากการใช้ประโยชน์จากรังสี อาทิ สบู่ไหมไทย ผงไหมซิริซิน ดินสอพองปลอดเชื้อ ไคโตซาน กับดักแมลงวันทอง พอลิเมอร์ดูดซับน้ำสูง อัญมณีฉายรังสี ฯลฯ อาคารอิเล็กตรอนบีม และโคบอลล์-60 ศูนย์ฉายรังสีอัญมณี อาคารผลิตเภสัชภัณฑ์รังสี ศูนย์ไอโซโทปรังสี และอาคารเพาะเลี้ยงแมลงวันผลไม้ หลังจากตรวจเยี่ยมศูนย์ฉายรังสี เทคโนธานี คลอง 5 ปทุมธานี เมื่อช่วงเช้าของวันนี้ (26 ธันวาคม 2557)
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า ในขณะนี้ที่เราต้องเร่งมือทำคือ การแก้ปัญหาการขาดโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ของประเทศ ที่ทาง สทน. เสนอมาทั้ง 3 เรื่อง ได้แก่
1. เครื่องเร่งอนุภาคอิเล็กตรอน สำหรับการเพิ่มศักยภาพการฉายรังสีผลไม้ และผลผลิตการเกษตร
2. เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย สำหรับวิจัย พัฒนา และบริการ และ
3. เครื่องไซโครตรอน สำหรับการผลิตสารไอโซโทปรังสี เภสัชรังสี
โดยเฉพาะเรื่องแรกที่ตรงต่อนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรีที่ให้รีบดำเนินการเพิ่มผลไม้ส่งออกจากไทยสู่ต่างประเทศ ทั้งนี้ได้เสนอให้ทาง สทน. เพิ่มโลโก้หน่วยงานลงในป้ายที่แสดงสินค้าผ่านการฉายรังสี เพื่อให้คนทั่วไปได้รู้จักและรู้ว่า สทน. ทำงานอะไร
อาคารอิเล็กตรอนบีม และโคบอลล์-60 ศูนย์ฉายรังสีอัญมณี ตัวเครื่องฉายรังสีแกมมา ใช้ต้นกำเนิดรังสีโคบอลต์-60 จำนวนทั้งหมด 6 แท่ง ซึ่งแต่ละแท่งมีความแรงประมาณ 12,000 คูรี ความแรงรังสีรวมทั้งหมด 70,500 คูรี ปัจจจุบันความแรงรังสีลดลงเหลือ 49,374 คูรี ผลิตโดยบริษัท Paul Stephens Consultancy Ltd. ประเทศอังกฤษ ปริมาณรังสีที่วัดได้ปัจจุบันที่ตำแหน่ง Center ได้เท่ากับ 12 kGy/hr ตำแหน่งอื่นๆ ลดลงตามระยะทางที่ห่างจากต้นกำเนิดรังสี แท่งของต้นกำเนิดรังสีจัดเก็บแบบแห้ง ในที่กำบังรังสีซึ่งทำจากตะกั่วหนาขณะที่ไม่ได้ใช้งาน ในขณะใช้งานแท่งต้นกำเนิดรังสีจะถูกดันด้วยลมออกจากตัวกำบังรังสี เพื่อให้รังสีแผ่ออกมา ประโยชน์ของเครื่องฉายรังสีแกมมาโดยไอโซโทปรังสีโคบอลต์ 60 สามารถนำมาใช้ในการฉายรังสีอัญมณีเพื่อเปลี่ยนสีหรือใช้ในการปรับปรุงวัสดุอื่นๆ สำหรับงานบริการหรืองานวิจัย โดยภายในห้องฉายรังสีแกมมา สามารถฉายรังสีได้ทุกบริเวณ ในกรณีฉายรังสีอัญมณีหรือฉายงานวิจัย ที่ต้องการปริมาณรังสีสูงและใช้เวลาฉายไม่นาน จะฉายบริเวณใกล้ต้นกำเนิดรังสี โคบอลต์-60 (บริเวณ center) และสามารถหมุนได้ขณะฉายรังสี เพื่อให้ได้รับปริมาณความสม่ำเสมอ รังสีแกรมมาจากไอโซโทปโคบอลต์-60 เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า การฉายอัญมณีด้วยรังสีแกรมมา ไม่ก่อให้เกิดไอโซโทปรังสีใดๆ ภายในเนื้ออัญมณี
 |
 |
อาคารผลิตเภสัชภัณฑ์รังสี ศูนย์ไอโซโทปรังสี ได้ดำเนินงานด้านการผลิตและให้บริการสารไอโซโทปรังสี เภสัชภัณฑ์รังสีหรือสารเภสัชรังสี และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง สำหรับงานด้านการแพทย์ เกษตรกรรม และงานวิจัยมาเป็นเวลากว่าสี่สิบปี ศูนย์ไอโซโทปรังสีมีผลิตภัณฑ์ที่ให้บริการไม่ต่ำกว่า 18 ชนิด ส่วนใหญ่เป็นการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ มีโรงพยาบาลและหน่วยงานที่ขอรับบริการทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่น้อยกว่า 25 แห่งทุกภาคทั่วประเทศ มีเป้าหมายหลักเพื่อเป็นบริการของภาครัฐให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะผู้ป่วยให้ได้รับการบำบัดรักษาและ/หรือการตรวจวินิจฉัยด้วยสารไอโซโทปอย่างทั่วถึง ช่วยลดการขาดดุลการค้าและการสูญเสียเงินตราให้กับต่างประเทศเนื่องจากสารไอโซโทปที่ผลิตขึ้นเองในประเทศจะมีราคาถูกกว่าที่สั่งซื้อจากต่างประเทศ ช่วยเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์งานผลิตไอโซโทปให้แก่นักวิทยาศาสตร์ในประเทศ สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยให้ได้ใช้สารไอโซโทปได้ทันท่วงที เนื่องจากสารไอโซโทปมีค่าครึ่งชีวิตสั้น การผลิตได้เองสามารถยืดหยุ่นปริมาณความต้องการได้ นอกจากการบริการจะมุ่งเน้นทางการแพทย์เป็นส่วนใหญ่แล้ว ยังมีการผลิตสารไอโซโทปที่ใช้ในกิจการอื่น ๆ อีกบ้าง เช่น ทางด้านการเกษตร การศึกษาวิจัย และการอุตสาหกรรม เป็นต้น สารไอโซโทปที่ผลิตนั้นจะต้องผ่านการควบคุมคุณภาพโดยอ้างอิงตามมาตรฐานสากลของทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกา (European Pharmacopoeia และ United State Pharmacopoeia)
.jpg) |
 |
อาคารเพาะเลี้ยงแมลงวันผลไม้ แมลงวันผลไม้หรือแมลงวันทองเป็นแมลงศัตรูที่สำคัญของผลไม้เกือบทุกชนิดในประเทศไทย ผลไม้ที่มีเปลือกบางหรืออ่อนนุ่มจะถูกทำลายได้ง่าย เช่น ฝรั่ง ชมพู่ มะม่วง พุทรา กระท้อน มะเฟือง น้อยหน่า ละมุด และพืชต่างๆ ประมาณ 150 ชนิด ล้วนเป็นพืชอาศัยของแมลงวันผลไม้ทั้งสิ้น เนื่องจากสามารถขยายพันธุ์ในพืชอาศัยต่างๆ ได้เกือบตลอดทั้งปี จึงมีการระบาดอย่างต่อเนื่องและเป็นปัญหาในการควบคุมและกำจัด ทั้งนี้ เทคนิคการใช้แมลงที่เป็นหมัน เป็นการใช้แมลงชนิดเดียวกันควบคุมแมลงชนิดเดียวกันเพื่อไม่ให้มีจำนวนประชากรของแมลงชนิดนั้นๆ มากจนเป็นอันตรายต่อผลิตผลการเกษตร ขั้นตอนของเทคนิคการใช้แมลงที่เป็นหมันประกอบด้วยการเลี้ยงแมลงในห้องทดลองเป็นจำนวนมาก การทำหมันแมลงที่เลี้ยงด้วยการฉายรังสี การปล่อยแมลงที่ทำหมันออกไปผสมพันธุ์กับแมลงที่มีอยู่ในธรรมชาติ ผลของการผสมพันธุ์จากแมลงที่เป็นหมัน ทำให้ตัวเมียวางไข่ที่ไม่สามารถฟักออกเป็นตัวหนอน (ไม่มีลูก) จะต้องปล่อยแมลงที่เป็นหมันให้มากกว่าแมลงที่มีอยู่ในธรรมชาติ เพื่อลดโอกาสแมลงที่มีอยู่ในธรรมชาติจะได้ผสมพันธุ์กันเอง ทำให้ประชากรแมลงในธรรมชาติลดลง เมื่อปล่อยแมลงที่เป็นหมันจำนวนมากติดต่อกันอย่างต่อเนื่องจะทำให้ประสบความสำเร็จในการลดประชากรแมลงในธรรมชาติอย่างรวดเร็ว และเพื่อให้ได้ผลดียิ่งขึ้น จึงได้ผสมผสานวิธีการอื่นๆ ผนวกเข้ามาด้วย ได้แก่ การใช้ตัวห้ำ ตัวเบียน (parasites and predators)การใช้กับดักพืชอาศัย (trap crop)การใช้พืชต้านทาน (host plant resistance) การยับยั้งการผสมพันธุ์ของแมลง (mating inhibitors)
.jpg) |
.jpg) |
เขียนข่าว : นางสาวศิริลักษณ์ สิกขะบูรณะ
ถ่ายภาพ : นางสุนิสา ภาคเพียร นาวงษ์
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 02 333 3727-3732