กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวสารหน่วยงาน รมว.วท. ตรวจความคืบหน้า “โครงการคืนความสุขให้เธอ...เยาวชน” ที่ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ

รมว.วท. ตรวจความคืบหน้า “โครงการคืนความสุขให้เธอ...เยาวชน” ที่ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ

พิมพ์ PDF

                 วันที่ 10 ธันวาคม 2557 ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้าตรวจเยี่ยมความคืบหน้า “โครงการคืนความสุขให้เธอ...เยาวชน” ที่กำลังจะจัดขึ้นในวันที่ 17-26 ธันวาคม 2557ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ) โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ
การจัดกิจกรรม “โครงการคืนความสุขให้เธอ...เยาวชน” จะแบ่งออกเป็น 2 กิจกรรม คือ

          1. นิทรรศการ “ดาราศาสตร์ บันดาลใจ” จัดแสดง 6 เดือน เริ่ม 17 ธันวาคม 2557 เป็นต้นไป เป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียน เรียนรู้ด้วยความสุข สนุกสนาน ผ่านสื่อ Interactive ที่สร้างความตื่นเต้น สอดคล้องกับหลักการสะเต็มศึกษา (STEM Education) ที่เป็นแนวทางการศึกษาที่ได้บูรณาการความรู้ระหว่างศาสตร์วิชาต่างๆ ได้แก่ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ความรู้ทางด้านเทคโนโลยี ความรู้ทางด้านวิศวกรรม ความรู้ด้านคณิตศาสตร์ และความรู้เกี่ยวประวัติศาสตร์ของดาราศาสตร์ไทย รวมเข้าด้วยกัน ดำเนินงานโดย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
                    ไฮไลท์ของนิทรรศการที่น่าสนใจ ได้แก่
                            1) พระอัจฉริยภาพของพระมหากษัตริย์ไทยกับพัฒนาการด้านวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์
                            2) โลกและเอกภพในมุมมองดาราศาสตร์
                                    - FREE FALL“สภาวะไร้น้ำหนัก” ลื่นไถลลงจาก Slider ยักษ์สูงกว่า 7 เมตร ไปไกลกว่า 15 เมตร
                                    - SPACE BALLเครื่องเล่นจำลองสภาวะไร้น้ำหนัก จำลองสภาวะไร้น้ำหนักลอยเคว้งอยู่ในอวกาศ
                                    - HALF DOME PROJECTION โดมครึ่งวงกลมฉายภาพการโคจรของหมู่ดาวต่างๆในเอกภพ
                                    - และภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ อวกาศ ดวงดาว ที่หาชมได้ยาก
                           3) คณิตศาสตร์กับการคำนวณทางดาราศาสตร์
                               Hands-on Learningกับความรู้ทางคณิตศาสตรที่เป็นรากฐานการศึกษาดาราศาสตร์
                          4) นิทรรศการการบิน (วิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยีการบิน)
                          5) Science Idol เส้นทางสู่นักวิทย์
                          6) ห้องฉายภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ ขนาด 200 ที่นั่ง
  
          2. กิจกรรม “สนุกวิทย์ สนุกคิด” เริ่ม 17 – 26 ธันวาคม 2557 ทางศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (ท้องฟ้าจำลอง) จะเปิดให้เยาวชนและประชาชนที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรม โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย จำนวน 10 วัน ภายในกิจกรรมจะประกอบด้วย กิจกรรม Outdoor ด้านหน้าอาคาร 2 ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ การเปิดสถานีการทดลอง เกมส์ ทางวิทยาศาสตร์ให้เด็กไทยได้เรียนรู้ และสัมผัสอย่างใกล้ชิดเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ในทุกๆ ด้าน ทั้งชีววิทยา เคมี ฟิสิกส์ ดาราศาสตร์ ความรู้พื้นฐาน รวมถึงคณิตศาสตร์ผ่านเครื่องเล่นเสริมสร้างทางปัญญา ที่จะช่วยฝึกสมอง ต่อยอดความคิดจินตนาการ และฝึกฝนทักษะผ่านการทดลองจริง จัดโดยหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
          การจัดโครงการ “คืนความสุขให้เธอ...เยาวชน” จะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 17 ธันวาคม 2557 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานในการเปิดงาน

          สำหรับประวัติความเป็นมาของท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ เริ่มขึ้นใน ปี พ.ศ. 2505 คณะรัฐมนตรี ซึ่งมี ม.ล. ปิ่น มาลากุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น ได้อนุมัติให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการสร้างท้องฟ้าจำลองกรุงเทพและหอดู ดาว ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญและมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษาวิชาภูมิศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และดาราศาสตร์ ตลอดจน เป็นแหล่งที่เยาวชนสามารถไปชุมนุมหาความรู้ได้ง่าย เยาวชนจะได้เรียนจากของจำลองเหมือนของจริงทำให้เข้าใจได้ลึกซึ้งและรวดเร็ว กว่าการสอนด้วยปากเปล่า ทั้งก่อให้เกิดความรู้ ความคิด ความมีเหตุผลและความเพลิดเพลินด้วย กระทรวงศึกษาธิการได้มอบให้กองอุปกรณ์การศึกษา กรมวิชาการเป็นเจ้าของในการก่อสร้างและดำเนินการต่อไป

          คณะรัฐบาลได้อนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2504 โดยมีห้างบีกริม แอนโก กรุงเทพ จำกัด และตัวแทน บริษัท คาร์ลไซซ์ ในสหพันธรัฐเยอรมันเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างพร้อมติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ จนเรียบร้อย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดอาคารท้องฟ้าจำลองกรุงเทพและทอดพระเนตร การแสดงทางท้องฟ้า วันที่ 18 สิงหาคม 2507 หลังจากนั้นท้องฟ้าจำลองกรุงเทพเปิดแสดงให้บริการแก่ประชาชนตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2507 เป็นต้นมา
          เครื่องฉายดาวที่ใช้อยู่ในท้องฟ้าจำลองคือ "เครื่องฉายดาวไซซ์ส รุ่นที่ 4" ซึ่งประกอบด้วยระบบเครื่องกล ระบบไฟฟ้า ระบบแสงที่ประณีตซับซ้อน สามารถแสดงดวงดาวในท้องฟ้า ของประเทศใด ๆ ตามวัน เวลา ที่ต้องการ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และในอนาคต สามารถฉายดาวฤกษ์ได้ 9,000 ดวง ฉายดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดาวเคราะห์ 5 ดวง เคลื่อนผ่านกลุ่มดาวต่าง ๆ ได้ชัดเจน รวมถึงภาพกลุ่มดาว ทางช้างเผือก กระจุกดาว ดาวหาง ดาวตก เมฆ แสงรุ่งอรุณ แสงสนธยา อีกทั้งยังสามารถแสดงการเกิดสุริยุปราคา จันทรุปราคา เส้นศูนย์สูตร เส้นสุริยวิถี เส้นเมอริเดียน ระบบสุริยะ โลกหมุนรอบตัวเองได้อีกด้วย (ข้อมูลจาก http://bkkplanetarium.blogspot.com/p/blog-page.html)

 


ข่าวโดย : นางสาวพจนพร แสงสว่าง
ภาพข่าวโดย : นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์, นางสุนิสา ภาคเพียร นาวงษ์
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์  สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

 

 
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป