กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวสารหน่วยงาน “ตูน บอดี้สแลม” เยือนกระทรวงวิทย์ฯ ร่วมไขปริศนาฟ้าผ่า ในเวทีคุยกัน...ฉันท์วิทย์

“ตูน บอดี้สแลม” เยือนกระทรวงวิทย์ฯ ร่วมไขปริศนาฟ้าผ่า ในเวทีคุยกัน...ฉันท์วิทย์

พิมพ์ PDF

 

   วันนี้ (25 พฤศจิกายน 2557) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยกลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดเวทีเสวนาคุยกัน...ฉันท์วิทย์ “ไขปริศนา..ฟ้าผ่า ตูน บอดี้สแลม…รอดปาฏิหาริย์” พร้อมดึงร็อกเกอร์หนุ่มขาเดฟมาดเซอร์ ร่วมพูดคุยหลังถูกฟ้าผ่าขณะเตรียมงานคอนเสิร์ต ที่ จ.สุพรรณบุรี เมื่อช่วงเย็นวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งในโอกาสนี้ได้รับเกียรติจาก นายอลงกรณ์ เหล่างาม ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดงาน ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ ผู้เชี่ยวชาญวิจัย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ นายอาทิวราห์ คงมาลัย (ตูน บอดี้สแลม) ร่วมสนทนา ณ อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

    นายอลงกรณ์ เหล่างาม ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมกับทีมประชาสัมพันธ์สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ จัดเวทีเสวนาคุยกัน...ฉันวิทย์ โดยมีคุณอาทิวราห์ คงมาลัย (หรือคุณตูน บอดี้สแลม) มาร่วมพูดคุยถึงประสบการณ์ที่เคยเจออุบัติเหตุถูกฟ้าผ่า แต่ที่น่าประหลาดใจ คือ คุณตูนไม่ได้รับอันตรายจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ซึ่งเวทีเสวนาคุยกัน...ฉันวิทย์ วันนี้จะอธิบายด้วยทฤษฎีและหลักการทางวิทยาศาสตร์  โดย ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นอกจากนี้ ผู้ร่วมฟังเสวนา และสื่อมวลชนจะได้มีโอกาสทำความรู้จักกับการเกิดฟ้าผ่า อันตรายจากฟ้าผ่ารวมถึงวิธีป้องกันตนเองเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุดังกล่าวได้อย่างถูกวิธียิ่งขึ้น

      ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ ผู้เชี่ยวชาญวิจัย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้อธิบายถึงปรากฏการณ์ฟ้าผ่าว่า ฟ้าผ่าเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่จากการปลดปล่อยประจุไฟฟ้าในอากาศ ฟ้าผ่าที่เกี่ยวข้องกับคนส่วนใหญ่เป็นการปลดปล่อยประจุออกจากเมฆฝนฟ้าคะนองหรือที่นักอุตุนิยมวิทยาเรียกว่า “เมฆคิวมูโลนิมบัส” หรือ เมฆฝนฟ้าคะนองซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนเมฆขนาดใหญ่มหึมา บริเวณฐานเมฆสูงจากพื้นราว 2 กิโลเมตร ส่วนยอดเมฆอาจสูงได้ถึง 20 กิโลเมตรภายในก้อนเมฆมีการไหลเวียนของกระแสอากาศอย่างรวดเร็วและรุนแรง ทำให้หยดน้ำและก้อนน้ำแข็งในเมฆเสียดสีกันจนเกิดประจุไฟฟ้า
     
 
      ทั้งนี้ ทุกๆ บริเวณใต้เงาเมฆฝนฟ้าคะนองมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดฟ้าผ่าได้หมด ไม่ว่าที่สูง ที่ต่ำ กลางแจ้ง เพียงแต่จุดเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดฟ้าผ่าได้มากที่สุด คือ ที่โล่งแจ้ง เช่น สระน้ำ ชายหาด สนามกอล์ฟ  ฯลฯ และจุดที่สูงในบริเวณนั้นๆ  เช่น ต้นไม้  อาคารสูง  เนื่องจากประจุไฟฟ้ามีโอกาสวิ่งมาเจอกันได้เร็วที่สุด  ส่วนวัตถุที่เป็นตัวทำให้ฟ้าผ่าใส่มนุษย์ได้มากที่สุด คือ วัตถุที่อยู่สูงเหนือจากศีรษะมนุษย์ขึ้นไป โดยเฉพาะสิ่งของที่มีปลายแหลม เช่น ร่มที่ด้านปลายบนสุดเป็นเหล็กแหลม เป็นต้น นอกจากฟ้าผ่าจากก้อนเมฆลงสู่พื้นจะเป็นอันตรายต่อคนมากที่สุดแล้ว ฟ้าผ่าจากยอดเมฆลงสู่พื้น ยังถือเป็นภัยจากฟ้าผ่าอีกรูปแบบหนึ่งที่มีอันตรายต่อคนได้ แต่ประชาชนกลับยังไม่ค่อยรู้จักนัก ส่วนกรณีของโลหะและโทรศัพท์มือถือ ไม่นับว่าเป็นสื่อล่อฟ้าได้แน่นอน เพราะโทรศัพท์เวลาใช้งานจะอยู่ต่ำกว่าตัวคน ที่สำคัญพลังงานของสัญญาณโทรศัพท์มือถือไม่สามารถทำให้อากาศแตกตัวเป็นน้ำได้ แต่ก็ไม่สมควรใช้โทรศัพท์มือถือในสภาวะที่เกิดฝนฟ้าคะนองเพราะหากน้ำเข้าโทรศัพท์ก็มีโอกาสทำให้แบตเตอรี่เกิดการลัดวงจรได้
     วิธีการสังเกตการเกิดฟ้าผ่าจากยอดเมฆลงสู่พื้นมีกฎจำง่ายๆ ที่เรียกว่า กฎ 30/30 เป็นข้อปฏิบัติที่ทหารใช้กัน โดยเลข 30 ตัวแรกมีหน่วยเป็นวินาที ซึ่งหมายถึง หากเห็นฟ้าแลบ แล้วได้ยินเสียงฟ้าร้องตามมาภายในเวลาไม่เกิน 30 วินาที แสดงว่า เมฆฝนฟ้าคะนองอยู่ใกล้มากเพียงพอที่ฟ้าผ่าจะทำอันตรายคุณได้ ให้หาที่หลบที่ปลอดภัยทันที ส่วนเลข 30 ตัวหลังมีหน่วยเป็นนาที ซึ่งหมายถึง หลังจากที่พายุฝนฟ้าคะนองหยุดลงแล้ว (นั่นคือ ฝนหยุด และไม่มีเสียงฟ้าร้อง) ซึ่งควรจะรออยู่ในที่หลบอีกอย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้มั่นใจว่า เมฆฝนฟ้าคะนองได้ผ่านไป หรือสลายตัวไปแล้ว 
      นายอาทิวราห์ คงมาลัย (ตูน บอดี้สแลม) เล่าถึงเหตุการที่เกิดกับตัวเองว่า เมื่อช่วงเย็นวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้ประสบเหตุการณ์ฟ้าผ่ากลางลานคอนเสิร์ต ขณะนั้นมีฝนตกปรอยๆ โดยตนเองกำลังยืนถือร่มอยู่กลางลานคอนเสริ์ต สักพักเกิดประกายไฟเหมือนโดนไฟฟ้าช็อตที่มือพร้อมเสียงคล้ายประทัด จึงทิ้งร่มและวิ่งกึ่งกระโดดขึ้นรถด้วยความตกใจ ทั้งนี้ ทีมงานที่เห็นเหตุการณ์เล่าว่าสังเกตเห็นประกายไฟเป็นเส้นเล็กๆ ลงไปที่ร่มในมือของคุณตูน แต่ก็แปลกใจว่าทำไมคุณตูนไม่ได้รับอันตราย จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความสงสัยแก่คุณตูนและทุกคนที่เห็นเหตุการณ์  จนเป็นที่มาในการเปิดประเด็นไขข้อสงสัยโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้รับเกียรติจากคุณอาทิวราห์ คงมาลัย (ตูน บอดี้สแลม) และ  ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ ผู้เชี่ยวชาญวิจัย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีห่งชาติ  มาร่วมเสวนาบนเวทีคุยกัน...ฉันท์วิทย์ ดังกล่าว
     ทั้งนี้ ดร.บัญชาฯ ได้อธิบายเพิ่มเติมถึงกรณีนี้ว่า ผลกระทบจากฝนฟ้าคะนองที่ส่งผลให้เกิดฟ้าผ่า ลักษณะการผ่าในกรณีของ ตูน นั้นเป็นเหมือนรากไม้ที่แตกแขนงเป็นกิ่งหลายๆ เส้น ซึ่งเส้นหลักนั้นมีกระแสสูงเป็นหมื่นแอมป์ ถ้าถูกผ่าโดยตรงๆ มนุษย์ทุกคนไม่สามารถรอดได้ แต่ในลักษณะของ ตูน อาจโดนสายฟ้าที่เป็นกิ่งแขนงของเส้นหลัก ซึ่งกระแสไฟฟ้าที่มีผลต่อกล้ามเนื้อ ในระดับเล็กๆ จึงส่งผลให้ ตูน ได้รับกระแสไฟฟ้าในปริมาณที่ส่งผลต่อกล้ามเนื้อแต่ไม่ได้สร้างความเสียหายจึงทำให้ ตูน ไม่ได้รับอันตรายใดๆ
     นอกจากนี้ จากการศึกษาพบว่าฟ้าผ่าในระยะไกลจากก้อนเมฆได้ถึง 40 กิโลเมตร หากฟ้าผ่าลงโครงสร้างอาคารที่ไม่มีระบบป้องกันฟ้าผ่าหรือเสาล่อฟ้า จะทำให้เกิดประกายไฟกระเด็นได้ไกลถึง 3 เมตร ในขณะที่สายฟ้าผ่าลงมาเป็นรากไม้อาจยาวได้ถึง 50 เมตร ดังนั้นโลหะหรือวัตถุเหนี่ยวนำไฟฟ้าที่มีขนาดเล็กกว่า จึงไม่สามารถล่อฟ้าผ่าได้

 
 

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่งานประชาสัมพันธ์สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) :                                    

 

คุณสรินยา (แน็ท) 081-988-6614 คุณชัชวาลย์ (ชัชกี้) 083-032-5145 หรือ 02-564-7000 ต่อ 71730, 71727

 

 

ข่าวโดย : นางสาวนีรนุช ตามศักดิ์ 

ภาพข่าวโดย : นางสุนิสา ภาคเพียร นาวงษ์ และ นางสาวพจนพร แสงสว่าง
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สป.วท.
 

 

 
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป