วันที่ 12 พฤศจิกายน 2557 เวลา 09.30 น. นางสาวเสาวณี มุสิแดง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการ GEOINFOTECH 2014 และนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยและความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ พร้อมด้วย ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.) กล่าวรายงานการประชุม รศ.ดร.สมเจตน์ ทิณพงษ์ ประธานกรรมการบริหาร สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.) ประธานกรรมการ ในคณะนวัตกรรมแห่งชาติ แสดงปาฐกถา ในห้อข้อ “การใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการภาครัฐ”คณะผู้บริหารหน่วยงานต่างๆ และแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมงาน ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ และลานอเนกประสงค์ อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ
![]() |
นางสาวเสาวณี มุสิแดง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ มีภารกิจ บทบาทหน้าที่สำคัญและโดดเด่น ในการให้บริการข้อมูลจากดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงต่างๆ เป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมพัฒนาและสนับสนุนการนำเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ แก่หน่วยงานและองค์กรต่างๆไปประยุกต์ใช้ในสาขาต่างๆ และนำไปต่อยอด ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ ได้เร่งรัดพัฒนากำลังคนในการใช้เทคโนโลยี เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากร สิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ สร้างความตระหนักให้รู้ ให้เข้าใจและรู้ประโยชน์เทคโนโลยีแก่บุคลากรทุกระดับ
นับตั้งแต่นี้เป็นต้นไป สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ จะมีบทบาทเพิ่มขึ้นในการสนับสนุนข้อมูล ต่อการพัฒนาประเทศให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศ ไปใช้กับการพัฒนาป้องกันและแก้ไขปัญหาของประเทศ โดยเฉพาะการนำไปใช้ประโยชน์กับชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและยั่งยืน
ปัจจุบัน สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ได้ปรับเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้รับบริการข้อมูลดาวเทียมจากสำรวจทรัพยากรดวงต่างๆของประเทศอื่นๆ เป็นผู้ให้บริการข้อมูลดาวเทียมจากการสำรวจทรัพยากรแก่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ จะต้องก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ในการพัฒนาขีดความสามารถให้มีความพร้อมในการบริการแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร ตลอดจนการบริการแบบ Total Solutions กล่าวคือ การวิเคราะห์ข้อมูลจากดาวเทียม พร้อมทั้งให้คำปรึกษา นอกจากนี้ยังมีการแสวงหาพันธมิตรทั้งในและนอกประเทศ เพื่อขยายศักยภาพการดำเนินงานของ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ให้มีความหลากหลายและแข็งแกร่งและมีเป้าหมายสูงสุดในการพัฒนาตนเองให้เป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาคอาเซียน ในด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศตลอดจน ขยายเครือข่ายด้านต่างๆ ไปสู่ภูมิภาคอาเซียน
การประชุมครั้งนี้ จะเป็นเวทีสร้างสรรค์ผลงาน นวัตกรรมใหม่ๆ และเปิดกว้างในการนำเสนอผลงานวิจัยและการนำผลงานวิจัยไปสู่ภาคปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวคิดระหว่างบุคคล ส่งผลให้ความสามารถที่มีอยู่ให้เพิ่มพูนมากขึ้นในเชิงลึกและยังเพิ่มมุมมองในเชิงกว้างอีกด้วย ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่า ทั่วโลกกำลังตื่นตัวกับการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ ส่งผลที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมของโลกในด้านต่างๆ ตามมา โดยเฉพาะ ภัยพิบัติด้านต่างๆที่หลายประเทศกำลังประสบปัญหาอยู่ ณ ขณะนี้ ในส่วนของประเทศไทยแนวทางและมาตรการต่างๆได้ถูกกำหนดขึ้นเพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว เช่น การรณรงค์และการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนทุกระดับ การสร้างความตระหนักและปลูกฝังจิตสำนึกและแรงจูงใจ ในการใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ที่เริ่มต้นตั้งแต่ระดับนักเรียน นักศึกษาและเยาวชน รวมถึงการใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ประโยชน์จากข้อมูลดาวเทียมไทยโชตและเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ มาใช้เพื่อวางแผนและสนับสนุนการตัดสินใจเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างถูกต้องรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ จึงเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้เราสามารถเข้าใจถึงปรากฏการณ์ต่างๆได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น ประกอบกับ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาส่งเสริม สนับสนุนและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตเพื่อนำไปสู่การสร้างรายได้ของประชาชน ซึ่งก็สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการจัดงานวันนี้
นางสาวเสาวณี ได้แสดงความชื่นชม สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ กรมแผนที่ทหาร และสมาคมวิชาชีพทั้ง 6 สมาคม ที่ได้ให้ความสำคัญและเล็งเห็นประโยชน์และคุณค่าในการนำเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ มาใช้ในการพัฒนาประเทศ รวมถึงการส่งเสริมและพัฒนาให้ไปสู่ระดับเยาวชน ประชาชนทั่วไป และยืนยันที่จะให้การสนับสนุนงานด้านนี้อย่างเต็มที่และต่อเนื่อง เพื่อนำพาประเทศไทยของเราให้ก้าวหน้าและมีบทบาทในเวทีโลกต่อไป
ดร.อานนท์ กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ร่วมกับ กรมแผนที่ทหาร, สมาคมสำรวจข้อมูลระยะไกลและสารสนเทศถูมิศาสตร์แห่งประเทศไทย, สมาคมแผนที่แห่งประเทศไทย, สมาคมธรณีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย,สมาคมการสำรวจและแผนที่, สมาคมภูมิศาสตร์แห่งประเทศไทย และสมาคมระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะไทย จัดงานประชุมการประชุมวิชาการ เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ประจำปี 2557 GEOINFOTECH 2014 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 - 14 พฤศจิกายน 2557 ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ และลานอเนกประสงค์ อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ โดยจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนได้เผยแพร่ การนำเสนอผลงานวิจัยของนักวิชาการ นักวิจัย นิสิต นักศึกษา นักเรียน การแสดงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ การแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งสะสมประสบการณ์ อันจะนำไปสู่การเพิ่มคุณภาพชีวิตสร้างรายได้และสร้างงานแก่ประชาชนทุกระดับ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน สำหรับปีนี้ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ได้เพิ่มความเข้มข้นของการจัดงานแบบบูรณาการตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงคุณภาพชีวิตระดับประชาชน เช่น ด้านวิชาการ โดยได้รับเกียรติจากจากท่าน รศ.ดร.สมเจตน์ ทิณพงษ์ ประธานกรรมการบริหาร สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ร่วมแสดงปาฐกถา อีกทั้ง เชิญผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ ที่ประสบความสำเร็จในการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับงานด้านนี้ คือ Google : GIS Portal และ GIS Application ตลอดจนหัวข้อประเด็นเกี่ยวกับทิศทาง การเชื่อมโยง การขับเคลื่อน ตระหนักถึงความสำคัญ ประโยชน์ต่อมวลมนุษย์ชาติ ในการนำเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เข้ามาช่วยมนการวางแผน บริหารจัดการด้านต่างๆ ทั้งในระดับประเทศและอาเซียน อาทิ เช่น ด้านสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐาน และทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม รวมถึงภัยพิบัติ เป็นต้น
![]() |
ทั้งนี้ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เป็นผู้สนับสนุนและให้คำปรึกษาแนะนำ พร้อมทั้งจะสนับสนุนส่งเสริมเยาวชนที่ฉายแวว ให้พัฒนาไปสู่สายอาชีพ เนื่องจาก GISTDA มีความพร้อมทุกด้านแบบครบวงจร ในการรองรับ สนับสนุน ผลิตการสร้างบุคลากรพร้อมใช้ด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศของประเทศ ที่ยังขาดแคลน ตลอดจน ยกระดับ การเรียนการสอน ในรูปแบบ STEM ต่อไป พิเศษสุดนอกจากผู้เข้าร่วมประชุมวิชาการฯ จะได้รับทราบข้อมูลความก้าวหน้าทางวิชาการแล้ว ยังได้จัดแสดงและขายสินค้า OTOP ระดับ 5 ดาว หลากหลายชนิด จำนวนกว่า 100 ร้านค้าในราคาถูก เพื่อคืนความสุขให้กับประชาชน อีกด้วย
เขียนข่าวโดย : นางสาวชลธิชา แสงเทียนสุวรรณ
ถ่ายภาพและวีดิโอ : นางสุนิสา ภาคเพียร นาวงษ์, นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์
เผยแพร่ข่าว : นางสาวนีรนุช ตามศักดิ์
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สป.วท. โทร. 02-3633-3831