วันที่ 11 พฤศจิกายน 2557 เวลา 15.00 น. ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วย รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นายอลงกรณ์ เหล่างาม ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้การต้อนรับ ดร.อะแลง โบเดท์ (Dr. Alain Beaudet) ประธานสถาบัน Canadian Institutes of Health Research (CIHR) และนางอะลานา ยูอิล (Ms. Alana Yuill) หัวหน้าสำนักงานของประธาน CIHR พร้อมคณะ ในโอกาสเข้าร่วมหารือ ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย-แคนนาดา ณ ห้องพระจอมเกล้า ชั้น 4 อาคาร สป.วท. ในข้อตกลงความร่วมมือต่างๆ ดังนี้
1. สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.) ดำเนินความร่วมมือด้านเทคโนโลยีอวกาศและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ทั้งในช่วงที่เกิดภาวะมหาอุทกภัยและความร่วมมือที่ทั้ง 2 ฝ่ายประสงจะมีความร่วมมือกันในอนาคต
2. สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.) รับสัญญาณ RADARSAT 1 จาก MDA เมื่อเดือนกรกฎาคม 2543 และในเดือนมีนาคม 2552 มีการตั้งสถานีรับสัญญาณ RADARSAT 2 โดยใช้สัญญาณจากทั้ง 2 ดาวเทียมจนถึงปัจจุบัน
3. สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องทางด้านการนำเข้าและส่งออก ต้นกำเนิดรังสีสะดวกมากยิ่งขึ้นและกำกับดูแลการนำเข้าและส่งออกต้นกำเนิดรังสีของหน่วยงานกำกับอยู่ในทิศทางและสอดคล้องถูกต้องตรงกัน โดยในปี 2553 – 2554 ประเทศไทยได้นำเข้าต้นกำเนิดรังสีเพื่อใช้ทางการแพทย์จากแคนนาดาจำนวน 6 รายการ และเพื่องานวิจัยของสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติจำนวน 1 รายการ
4. องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพ.) ได้จัดนิทรรศการหัวข้อ Magic of Insert ระหว่างวันที่ 8 มิถุนายน 2548 – 31 ธันวาคม 2548 โดยได้ลิขสิทธิ์จากแคนนาดา และการจัดแสดงนิทรรศการที่พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติ ระหว่างเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2549
5. องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพ.) ได้ดำเนินการแลกเปลี่ยนเจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญนิทรรศการวิทยาศาสตร์ กิจกรรม/หลักสูตรด้านการศึกษา งานวิจัย บทความ รายงาน และข้อมูลอ้างอิงที่เกี่ยวข้องกับด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและความหลากหลายทางชีวภาพโดย The Canadian Museum of Nature ได้ส่งบุคคลเข้าศึกษาดูงานด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์และความหลากหลายทางชีวภาพกับ อพ. ในเดือนธันวาคม 2553 – มกราคม 2554
6. สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) มีความร่วมมือเชิงเทคนิคและวิทยาศาสตร์ด้าน Synchrotron Science และการวิจัยพื้นฐานและการประยุกต์ใช้แสงซินโครตรอน
เขียนข่าวโดย : นางสาวนีรนุช ตามศักดิ์
ภาพข่าวโดย : นายรัฐพล หงสไกร
เผยแพร่โดย : นางสาวชลธิชา แสงเทียนสุวรรณ