กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวสารหน่วยงาน สถานีปลูกคิดปันสุขต้นแบบชุมชนฟื้นฟูดินเค็ม

สถานีปลูกคิดปันสุขต้นแบบชุมชนฟื้นฟูดินเค็ม

พิมพ์ PDF

     ชุมชนบ้านเตย ต.กระเบื้องใหญ่ อ.พิมาย จ.นครราช สีมา เป็นหนึ่งชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ประสบปัญหาพื้นที่ดินเค็ม เนื่องจากพื้นที่ของหมู่บ้านตั้งอยู่บนแอ่งเกลือโคราช ส่งผลให้ข้าวที่เป็นผลผลิตหลักของชุมชนมีผลผลิตน้อย เป็นปัญหาของหลาย ๆ ชุมชนในย่านนี้และยังได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมและภาวะแห้งแล้งสลับกัน เกษตรกรเป็นหนี้สิน ประชากรวัยทำงานต้องออกไปหารายได้ต่างถิ่น จึงมีเพียงผู้สูงอายุและเด็กในวัยเรียนเท่านั้นที่ยังต่อสู้กับปัญหาดินเค็มในพื้นที่

          จากปัญหาดังกล่าว ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (สวทช.), กรมพัฒนาที่ดิน และเอสซีจี จึงร่วมกันนำความรู้และวิธีการแก้ปัญหาดินเค็ม  ทั้งการปรับปรุงคุณภาพดิน การเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน การปลูกพืชเศรษฐกิจทนเค็ม พร้อมส่งเสริมอาชีพเพื่อสร้างรายได้เสริมให้เกษตรกร เพื่อให้คนในชุมชนสามารถพลิกฟื้นผืนดินที่เคยมีปัญหา ให้กลับมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตร ตามโครงการ "นวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อการฟื้นฟูพื้นที่ดินเค็ม"  และยังได้ร่วมมือกันจัดตั้ง "สถานีปลูกคิดปันสุข" เพื่อเป็นต้นแบบการส่งเสริมชุมชน ถอดบทเรียนฟื้นฟูดินเค็ม เน้นเปลี่ยนวิธีคิด สนับสนุนการพึ่งพาตนเอง พร้อมแบ่งปันความรู้เพื่อขยายผลชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน
          ดร.เฉลิมพล เกิดมณี หัวหน้าโครงการนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อการฟื้นฟูพื้นที่ดินเค็ม เล่าว่า โครงการนี้ทำให้เกษตรกรสามารถแก้ไขปัญหาดินเค็มได้ด้วยตนเอง แต่ความรู้การแก้ไขปัญหาดินเค็มไม่สามารถแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรได้ อย่างยั่งยืน จึงมุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนกระบวนการคิด ให้ทันสมัย สอดคล้องกับเหตุผลหลักการทางวิทยาศาสตร์และ ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกษตรกรได้เรียนรู้การทำเกษตรผสมผสาน สามารถสร้างรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
          โครงการ "นวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อการฟื้นฟูพื้นที่ดินเค็ม" ที่ได้ดำเนินโครงการมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 ยังส่งเสริมให้ชุมชนบ้านเตยแบ่งปันความรู้ที่ได้จากการแก้ปัญหาในพื้นที่สู่คนรอบข้าง จึงจัดตั้ง "สถานีปลูกคิดปันสุข" เพื่อขับเคลื่อนเกษตรกรในพื้นที่อื่นๆ ให้สามารถพัฒนาความคิดและพึ่งพาตนเองเพื่อความสุขที่ยั่งยืนต่อไป
          แม่เดือนเพ็ญ ทิศรักษ์ หัวหน้ากลุ่มปุ๋ยอินทรีย์บ้านเตย กล่าวว่า ปัจจุบันพื้นที่บ้านเตยแทบจะไม่มีพื้นที่ดินเค็ม จากเดิมที่มีปัญหามากทำนาได้ผลผลิตไม่ดี แต่เมื่อได้รับองค์ความรู้ทำให้สามารถแก้ปัญหาอย่างเป็นเหตุเป็นผล ทุ่งนาที่เคยแห้งก็กลับมาเขียวขจี ทำเกษตรได้อย่างคุ้มค่า มีรายได้ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ผลผลิตจากการปลูกข้าวดีขึ้น จากเดิม 300-350 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มเป็น 600-1,000 กิโลกรัมต่อไร่ และจากประสบการณ์ที่ผ่านมาทั้งหมด ยังเป็นจุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจให้เราพร้อมจะถ่ายทอดให้กับผู้สนใจมาเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาในพื้นที่ผ่านสถานีปลูกคิดปันสุขแห่งนี้
          ดร.เสนาะ อูนากูล ประธานคณะกรรมการกิจการสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เล่าว่าได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาชุมชนให้เติบโตอย่างยั่งยืน จึงได้ร่วมกันดำเนินโครงการนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อการฟื้นฟูพื้นที่ดินเค็มมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 เพื่อแก้ไขปัญหาดินเค็มให้สามารถเพาะปลูกให้ได้ผลผลิตที่ดี รวมทั้งส่งเสริมการคิดนอกกรอบ ทำให้เกิดความหลากหลายในการแก้ปัญหาดินเค็ม อีกทั้งชาวบ้านเตยยังสามารถเพิ่มผลผลิตการเกษตร แปรรูปผลิตผลการเกษตรและสร้างรายได้เพิ่ม เพื่อต่อยอดโครงการดังกล่าวจึงได้ร่วมกับชาวบ้านเตย จัดตั้งสถานีปลูกคิดปันสุขบ้านเตยขึ้นเป็นแห่งแรก เพื่อแบ่งปันและถ่ายทอดความรู้ไปยังชุมชนอื่น ๆ จนเกิดเป็นชุมชนเข้มแข็งที่สามารถพึ่งพาตนเองได้
          สถานีปลูกคิดปันสุข เป็นศูนย์รวมของชุมชนเข้มแข็งที่เปิดต้อนรับผู้สนใจเข้ามาศึกษาและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนรู้การพัฒนาชุมชน ให้สามารถแก้ไขปัญหาในท้องที่ได้และเติบโตอย่างเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ด้วยการ "ปลูกคิด" คือพัฒนากระบวนการคิดที่ทันสมัย เป็นเหตุเป็นผล คิดนอกกรอบ ใช้ปัญญาแก้ไขปัญหา เพื่อให้สามารถฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ได้ รู้เท่าทันสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พร้อมปันสุข ให้กับชุมชนอื่น ๆ และเมื่อชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมีความสุข ก็พร้อมที่จะแบ่งปันประสบการณ์ ทั้งด้านอุปสรรค การแก้ไขปัญหา และผลสำเร็จ ให้กับแต่ละชุมชนเพื่อความสุขอย่างยั่งยืนของชุมชน

ข้อมูลโดย :  ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (สวทช.) โทรศัพท์ 02-564-6700 
เผยแพร่ข้อมูลโดย : นางสาวนีรนุช  ตามศักดิ์  กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สป.วท.
 
 
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป