กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวสารหน่วยงาน พิธีลงนามบันทึกข้อตกลง โครงการความร่วมมือขับเคลื่อนนวัตกรรมสำหรับประเทศ (เพิ่มเติม) ปี 2557

พิธีลงนามบันทึกข้อตกลง โครงการความร่วมมือขับเคลื่อนนวัตกรรมสำหรับประเทศ (เพิ่มเติม) ปี 2557

พิมพ์ PDF

         วันนี้ (25 กรกฎาคม 2557) เวลา 10.00 น. รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ 6 องค์กรชั้นนำระดับประเทศ ประกอบไปด้วย นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย (TCC&BoT)  นายบุญทักษ์   หวังเจริญ ประธานสมาคมธนาคารไทย (TBA) ดร. วิมลกานต์  โกสุมาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) นางสุวิภา วรรณสาธพ นายกสมาคมหน่วยบ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์ไทย (Thai-BISPA) นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง “โครงการความร่วมมือขับเคลื่อนนวัตกรรมสำหรับประเทศ (เพิ่มเติม) ปี 2557” โดยมี ดร.อัจฉรา วงศ์แสงจันทร์ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ ผู้จัดการอุทยานวิทยาศาสตร์ไทย เป็นสักขีพยาน การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นการร่วมหนุนผู้ประกอบการพัฒนานวัตกรรมทั้งด้านสินค้าและบริการ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน เพื่อรับมือตลาดเออีซี พร้อมกับเตรียมจัดประกวดรางวัลนวัตกรรม “สุดยอดนวัตกรรม 7 Innovation Awards” ปีที่ 2 โดยส่งผลให้มีองค์กรชั้นนำของประเทศถึง 11 แห่งเข้าร่วมผลักดันโครงการความร่วมมือขับเคลื่อนนวัตกรรมสำหรับประเทศ 
     รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การลงนามข้อตกลง โครงการความร่วมมือขับเคลื่อนนวัตกรรมสำหรับประเทศ (เพิ่มเติม) ปี 2557 โดยองค์กรชั้นนำทั้ง 6 องค์กร คือ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สป.วท.), หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย (TCC&BoT), สมาคมธนาคารไทย (TBA), สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.), สมาคมหน่วยบ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์ไทย (Thai-BISPA) และบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะสนับสนุน ผลักดันนวัตกรรม และยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการของประเทศไทย สู่เชิงพาณิชย์อย่างแท้จริง และเป็นการบูรณาการที่ดีในการร่วมมือกันผลักดันเศรษฐกิจด้วยงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม จากงานวิจัยด้านต่างๆ โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ถือเป็นหน่วยงานกลางในการเชื่อมโยงธุรกิจจากการสนับสนุนงานวิจัย และถ่ายทอดความรู้ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงมหาวิทยาลัยถือเป็นทรัพยากรด้านบุคลากรที่สำคัญยิ่งในการผลักดันธุรกิจ SMEs ให้เกิดประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จ ในการเล็งเห็นถึงความสำคัญของจุดนี้จะช่วยเป็นแรงผลักดันในการสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการที่มีความสามารถเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย และถือเป็นการส่งเสริมให้คนไทยหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตด้วยฝีมือคนไทย ลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อความมีเสถียรภาพของเศรษฐกิจประเทศในระยะยาวและยั่งยืนต่อไป
      ขณะที่นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น ร้านอิ่มสะดวกของคนไทย เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีงานวิจัย องค์ความรู้ และสิ่งประดิษฐ์จำนวนมากที่มีศักยภาพ แต่ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ เนื่องจากขาดการขยายผลไปสู่ผลงานเชิงนวัตกรรมที่ต่อยอดในเชิงธุรกิจ “โครงการความร่วมมือขับเคลื่อนนวัตกรรมสำหรับประเทศ” จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนผลงานวิจัย โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ให้มีช่องทางการทดลองสินค้าใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาเป็นผลงานนวัตกรรมระดับประเทศ โดยโครงการฯนี้จัดต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 มีพันธมิตรเดิมคือ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่าการลงนาม “โครงการความร่วมมือขับเคลื่อนนวัตกรรมสำหรับประเทศ (เพิ่มเติม) ปี 2557” โดยความร่วมมือของพันธมิตรเพิ่มเติมอีก 5 องค์กรในปีนี้ รวมเป็น 11 องค์กรชั้นนำที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการธุรกิจระดับ SMEs มีโอกาสสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรม ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาด AEC ได้ดียิ่งขึ้น 
      นายอิสระ ว่องกุศลกิจ  ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย (TCC&BoT) กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า เป้าหมายสำคัญของการพัฒนาประเทศ คือการทำให้คนไทยมีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  โดยมีปัจจัยที่จะนำไปสู่ความสำเร็จคือการสร้างนวัตกรรม ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่ละภาคส่วน  ทั้งภาครัฐ  ภาคธุรกิจ และสถาบันการศึกษา โดยใช้องค์ความรู้สร้างนวัตกรรมและพัฒนาเทคโนโลยี  ในการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) และสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ให้กับสินค้า เพื่อนำพาประเทศไทยไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืน
         นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานสมาคมธนาคารไทย (TBA) เสริมว่า โครงการนี้จะช่วยขับเคลื่อนการสร้างนวัตกรรมให้เป็นที่รู้จักและเป็นแรงบันดาลใจของผู้ประกอบการในวงกว้าง ในขณะที่ปัจจุบันความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการมิได้ขึ้นอยู่กับความได้เปรียบของต้นทุนแรงงาน แต่นวัตกรรมจะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืน  สำหรับโครงการนี้สมาชิกของสมาคมธนาคารไทย ซึ่งประกอบด้วยธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ จะช่วยเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการที่มีการพัฒนานวัตกรรมด้วยการสนับสนุนด้านเงินทุนและองค์ความรู้ต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น
       ดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. เป็นหน่วยงานของรัฐ มีบทบาทในการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ของไทย ให้เติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ปัจจุบันทุกประเภทธุรกิจต่างหันมาให้ความสำคัญกับนวัตกรรมในการพัฒนาสินค้าและบริการ โดยเฉพาะการเตรียมพร้อมสำหรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่กำลังจะมาถึง การพัฒนาสินค้าให้มีความแตกต่างและเป็นที่ต้องการของตลาด โดยการใช้นวัตกรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่ม จะเป็นวิธีการสำคัญ ที่จะขับเคลื่อนธุรกิจผู้ประกอบการไทยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันทัดเทียมกับคู่แข่งระดับอาเซียน และระดับโลกต่อไป
       นางสุวิภา วรรณสาธพ นายกสมาคมหน่วยบ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์ไทย (Thai-BISPA) กล่าวทิ้งท้ายถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า สมาคมฯ มีเครือข่ายสมาชิกประกอบด้วยหน่วยบ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์ที่กระจายอยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ การที่สมาคม Thai-BISPA ได้ร่วมเป็นพันธมิตรในโครงการนี้ จะร่วมสร้างโอกาสการพัฒนาขีดความสามารถและองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมของผู้ประกอบการ เพื่อนำไปสู่การต่อยอดในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศพร้อมกับผลักดันให้เกิด role model ผู้สรรค์สร้างนวัตกรรมไทยให้เป็นแบบอย่างและสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้ประกอบการนวัตกรรมรุ่นใหม่ต่อไปในอนาคต
โครงการประกวดรางวัล “สุดยอดนวัตกรรม 7 Innovation Awards”  เป็นโครงการต่อยอดจากความร่วมมือโครงการความร่วมมือขับเคลื่อนนวัตกรรมสำหรับประเทศ เริ่มจัดครั้งแรกในปี 2556 โดยเปิดรับสมัครและคัดเลือกสินค้าและบริการนวัตกรรมด้านธุรกิจและด้านสังคม มาทดสอบกับกลุ่มลูกค้าในตลาดจริง จนสามารถพัฒนาสู่ธุรกิจเชิงพาณิชย์ รวมถึงเป็นการยกย่องเชิดชูนักวิจัยและผู้ประกอบการที่สร้างผลงานนวัตกรรมให้มีโอกาสเผยแพร่ผลงานระดับประเทศต่อไป โดยจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ในปีนี้ ชิงรางวัลรวมกว่า1,200,000 บาท สำหรับผู้ที่สนใจติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.7innovationawards.com/ 
 
ข่าวโดย : นางสาวนีรนุช  ตามศักดิ์
ภาพข่าวและวีดิโอโดย : นายรัฐพล หงสไกร และ นายไววิทย์ ยอดประสิทธ์
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : สำนักสื่อสารองค์กร บมจ. ซีพี ออลล์ 
ธนิกานต์ สงฤทธิ์ (เปิ้น) โทร. 02-677-1867 หรือ www.cpall.co.th

 

 

 
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
» 3 ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมสุดเจ๋ง คว้ารางวัล ‘นวัตกรรมธุรกิจระดับประเทศ’
» กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมทัพ 35 หน่วยงานรัฐ-เอกชน เดินหน้า “ประชารัฐร่วมใจยกระดับ โอทอป ด้วย วทน.”
» สทน. ลงนามความร่วมมือกับวินอะตอม เวียดนาม ร่วมวิจัยและสร้างมาตรการความปลอดภัยทางนิวเคลียร์
» ผู้แทนจากฟิลิปปินส์เข้าเยี่ยม รมว.วท. เตรียมร่าง 'ข้อตกลงฯ ด้านวิทยาศาสตร์ฯไทย-ฟิลิปปินส์' อีกครั้ง
» 3 หน่วยงานร่วมมือผุดเมืองสุขภาพที่ปราจีนบุรี ดูแลผู้สูงอายุแบบองค์รวม
» สวทช. ผนึกกำลัง กรมอุทยานแห่งชาติฯ ม.สงขลานครินทร์ และ จ.ตรังใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ฟื้นฟู ปกป้อง และจัดการทรัพยากรชายฝั่งทะเลหาดหยงหลำและเกาะมุก อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง
» กระทรวงวิทย์ สวทช. และ ออโต้เดสก์ ร่วมขยายอุตสาหกรรมเทคโนโลยีการผลิตดิจิทัลในประเทศไทย
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป