กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวสารหน่วยงาน ซินโครตรอน เปิดบ้าน จัดค่ายวิทย์ฯ ซินโครตรอนอาเซียน” ครั้งที่ 3 นักศึกษา AEC แห่ร่วมสัมผัสเทคโนโลยี

ซินโครตรอน เปิดบ้าน จัดค่ายวิทย์ฯ ซินโครตรอนอาเซียน” ครั้งที่ 3 นักศึกษา AEC แห่ร่วมสัมผัสเทคโนโลยี

พิมพ์ PDF

      

   
           ซินโครตรอนเปิดบ้าน จัดค่ายวิทยาศาสตร์อาเซียน ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 19 – 23 พฤษภาคม 2557 กิจกรรมนี้จัดขึ้นเพื่อสร้างเครือข่ายกับสถาบันอุดมศึกษาในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ผ่านความร่วมมือในการศึกษาวิจัยและพัฒนา อีกทั้งเพื่อให้นิสิต นักศึกษา เข้าใจถึงบทบาทของวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนต่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศ ซึ่งในปีนี้สถาบันฯ ได้รับการตอบรับการเข้าร่วมจากกลุ่มประเทศอาเซียนอย่างมาก โดยมีนักศึกษาอาเซียนเข้าร่วมกว่า 30 ท่าน ประกอบไปด้วย ประเทศเวียดนาม มาเลเซีย สิงค์โปร์ อินโดนีเซีย กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้นกว่า 90 ท่าน
           คำว่า “แสงซินโครตรอน” อาจเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับใครหลายๆ คน ทั้งยังเป็นสิ่งที่ชวนให้ค้นหาคำตอบว่า แสงซินโครตรอนคืออะไร ? มีประโยชน์อย่างไร ?  โดยนักวิทยาศาสตร์ได้ให้นิยามของ  แสงซินโครตรอนว่า “แสงซินโครตรอน” คือ “คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดหนึ่ง ซึ่งเหมือนกับแสงอาทิตย์หรือแสงจากหลอดไฟทั่วไป ที่ปลดปล่อยออกมาจากอิเล็กตรอนที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วใกล้ความเร็วแสงและถูกบังคับให้เลี้ยวโค้ง ภายใต้สนามแม่เหล็กในสภาวะสุญญากาศ” แสงซินโครตรอนที่ผลิตออกมานั้นจะมีความสว่างจ้ามากกว่าดวงอาทิตย์กว่า 1 ล้านเท่าและขนาดของลำแสงเล็กมากเทียบเท่าได้กับเส้นผมของเรา ด้วยความมหัศจรรย์ของแสงซินโครตรอนนี้เอง นักวิทยาศาสตร์จึงนำมาใช้ประโยชน์ในงานวิจัยต่างๆ อย่างหลากหลาย


           ห้องปฏิบัติการแสงสยาม สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ถือได้ว่าเป็นห้องปฏิบัติการแห่งชาติที่มีความทันสมัย แสดงถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแสงขั้นสูง และถือได้ว่าเป็นที่ตั้งของเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยแสงซินโครตรอนที่ผลิตได้จะมีช่วงพลังงานที่ครอบคลุม ตั้งแต่ย่านรังสีอินฟราเรดไปจนถึงรังสีเอกซ์ พร้อมให้บริการแก่นักวิจัยในด้านต่างๆ มากถึง 10 สถานีทดลอง    
           ค่ายวิทยาศาสตร์ซินโครตรอนอาเซียน ครั้งที่ 3 ( The 3rd ASEAN Synchrotron Science Camp) จัดขึ้นโดยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระหว่างวันที่ 19 – 23 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา ณ ห้องปฏิบัติการแสงสยาม  อาคารสิรินธรวิชโชทัย สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จ.นครราชสีมา ปีนี้ทางสถาบันฯ มีเป้าหมายขยายฐานการสร้างความร่วมมือด้านเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนไปสู่ประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียน เพื่อต้อนรับการเข้าสู่ AEC โดยมีประเทศที่เข้าร่วมกิจกรรม อาทิ เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงค์โปร์ ฟิลิปปินส์ และกัมพูชา เป็นต้น เพื่อได้มาสัมผัสกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนในห้องปฏิบัติการวิจัยที่ใหญ่ที่สุดภูมิภาคอาเซียน


           ตลอดระยะเวลาของการเข้าค่าย (5วัน) ไม่ได้ทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเบื่อแต่อย่างใด เพราะนอกจากการบรรยายและถ่ายทอดความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนแล้ว     ยังมีการบรรยายพิเศษจากนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียง อาทิ ดร.บุรินทร์ อัศวพิภพ อาจารย์จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.ดนยา ปโกฏิประภา เจ้าของรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2556  อีกทั้งยังมีกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ และการทัศนศึกษานอกสถานที่ ณ อุทยานประวัติศาสตร์ปราสาทหินพิมายอีกด้วย   
           นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมในส่วนของภาคปฏิบัติ โดยเป็นการแบ่งกลุ่มย่อยตามความสนใจ เพื่อเรียนรู้และฝึกทำปฏิบัติการจริงตามสถานีทดลองต่างๆ อาทิ X-ray Scattering, FTIR microspectroscopy, LEEM & PEEM, Magnet Technology, Protein Crystallography, X-ray Fluorescene และ X-ray Absorption Spectroscopy ในโอกาสนี้ได้ส่งเสริมให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเรียนรู้กระบวนการนำเสนอผลงานกลุ่มต่อที่ประชุมและทีมนักวิจัยพี่เลี้ยง ซึ่งตลอดระยะเวลาของค่ายครั้งนี้ ทั้งในส่วนของการบรรยายในภาคทฤษฎี การนำเสนอผลงาน การกระชับสัมพันธ์ผ่านกิจกรรมสันทนาการ ล้วนใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางในการสื่อสาร
           จากประสบการณ์ค่ายวิทยาศาสตร์ซินโครตรอนอาเซียนครั้งนี้ ตัวแทนนักศึกษาค่ายวิทย์ฯ จากกลุ่มประเทศอาเซียนจะได้นำความรู้ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูง ไปเผยแพร่ในประเทศของตัวเอง เพื่อเป็นการกระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจให้พัฒนาตนเองไปสู่การเป็นนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ก่อให้เกิดการสร้างเครือข่ายกับสถาบันอุดมศึกษาในกลุ่มในประเทศสมาชิกอาเซียนผ่านความร่วมมือในการศึกษาวิจัย และจะเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์แสงซินโครตรอนต่อไป


           ความรู้สึกจากผู้ร่วมค่ายวิทยาศาสตร์ ซินโครตรอนอาเซียน ครั้งที่ 3
           1.    Mr. Suos Vannak จาก  Institute of Technology of Cambodia ประเทศ กัมพูชา เผยว่า “เคยได้ยินแค่ว่าประเทศไทยมีเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน แต่ก็ไม่เคยรู้ว่าใช้ทำอะไร พอดีทางมหาวิทยาลัยได้รับหนังสือเชิญร่วมค่ายครั้งนี้ ผมจึงลองสมัครเข้ามา รู้สึกดีใจมากที่ได้รับเลือกให้เข้ามาร่วมค่าย ได้รับความรู้ด้านแสงซินโครตรอนมากมาย และจะนำความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดให้แก่เพื่อนๆที่กัมพูชาต่อไป”
           2.    Miss Fatmawati Nurcahyani จาก Polytechnic Institute of Nuclear Technology ประเทศอินโดนีเซีย เผยว่า “การได้มีโอกาสเข้าร่วมค่ายครั้งนี้ ทำให้ดิฉันได้รู้จักเพื่อนๆ ต่างชาติมากมาย ทุกคนน่ารักมาก และเมื่อกลับไปที่ประเทศจะแนะนำเพื่อนๆ ให้สมัครมาค่ายนี้ในปีหน้า เพราะนอกจากได้รับความรู้แล้ว ยังได้รับมิตรภาพดีๆ จากเพื่อนๆ ร่วมค่ายอีกด้วย”
           3.    Mr. Koh Fujiet จาก Institute of Molecular Cell Biology  ประเทศสิงค์โปร์ เผยว่า “แสงซินโครตอน ผมรู้จักมาก่อนที่จะเข้ามาร่วมค่ายแล้ว เพราะเคยใช้ที่ไต้หวัน และที่สมัครเข้าร่วมค่ายนี้เพราะทราบว่าที่ห้องปฏิบัติการแสงสยาม มีระบบลำเลียงแสง Protein Crystallography ซึ่งผมเคยทำทางด้านนี้มาแล้ว นอกจากนี้ค่ายนี้ทำให้ทราบว่า แสงซินโครตรอนใช้งานอย่างไร ระบบการทำงานเป็นอย่างไร ซึ่งค่ายนี้ที่มีประโยชน์กับนักศึกษาเป็นอย่างมาก”
           4.    Mr. Abdullah Abdul Samat จาก Universiti Teknologi MARA ประเทศมาเลเซีย เผยว่า “ทราบข่าวค่ายวิทยาศาสตร์ซินโครตรอนอาเซียนมาจากอาจารย์ที่ปรึกษา และลองยื่นใบสมัครเข้ามา รู้สึกประทับใจค่ายนี้มาก ได้รับความรู้เรื่องแสงซินโครตรอนมากมาย จากที่ไม่เคยรู้จักแสงซินโคร ตรอนมาก่อนเลย และคิดว่าอยากจะเข้ามาใช้บริการแสงซินโครตรอนสำหรับการทำงานวิจัยระดับปริญญาเอกของผมในอนาคต" 
           5.    Mr. Luigi A. Dahonog จาก University of the Philippines Los Banos ประเทศ ฟิลิปปินส์ เผยว่า “ผมได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ที่ปรึกษาเกี่ยวกับค่ายวิทยาศาสตร์นี้ การได้มาเข้าร่วมถือเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ได้เรียนรู้เทคนิคต่างๆ ของการประยุกต์ใช้แสงซินโครตรอนมากมาย และถ้ามีโอกาสอยากกลับมาที่ซินโครตรอนอีก”


ผู้ประสานงาน น.ส.กุลธิดา พิทยาภรณ์
เบอร์โทรศัพท์ 0-4421-7040 ต่อ 1251-2  โทรสาร 0-4421-7047
อีเมลล์: อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน , อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน


ผู้เผยแพร่ข่าว  : นายปราโมทย์  ป้องสุธาธาร  กลุ่มงานประชาสัมพันธ์

 

 
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป