กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวสารหน่วยงาน พิธีการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) และการเปิดตัวศูนย์อำนวยความสะดวก Talent Mobility

พิธีการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) และการเปิดตัวศูนย์อำนวยความสะดวก Talent Mobility

พิมพ์ PDF

 

     วันนี้ (26 มีนาคม 2557) เวลา 11.00 น. ดร.พีรพันธุ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เกียรติเป็นประธานในการเปิดงาน STI Talent Mobility Fair เพื่อขับเคลื่อนนักวิจัยจากภาครัฐสู่อุตสาหกรรมระดับชาติปิดช่องว่างความรู้ด้าน วทน. ณ โรงแรมสุโกศล ห้องกมลทิพย์ 2 และ 3


    ดร.พีรพันธุ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ในโอกาสที่ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ได้จัดให้มีการเปิดตัวศูนย์อำนวยความสะดวก Talent Mobility หรือ Talent Mobility Clearing House และจัดให้มีพิธีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยหลักในภูมิภาค 3 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์ นับเป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการขับเคลื่อนการส่งเสริมบุคลากรจากภาครัฐและสถาบันอุดมศึกษา เพื่อช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคการผลิตและบริการอย่างเป็นรูปธรรม
     นโยบายและภารกิจเร่งด่วนประการหนึ่งของรัฐบาลคือ การเร่งสร้างนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัย ครูวิทยาศาสตร์ ให้เพียงพอกับความต้องการของประเทศ เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศอย่างมั่นคง โดยนำพาประเทศเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจฐานความรู้ เนื่องจากสังคมไทยยังขาดแคลนนักวิจัยอยู่เป็นจำนวนมาก กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงตระหนักดีว่า ทรัพยากรมนุษย์ เป็นทุนทางสังคมที่สำคัญที่สุด จึงขับเคลื่อนโดยการพัฒนากำลังคนด้าน วทน. อย่างเข้มข้น อาทิ การดำเนินการจัดสรรทุนศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี-โท-เอก ในสาขาวิชาที่สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมที่รัฐบาลกำหนดให้เป็นสาขายุทธศาสตร์ถึง 1,500 ทุน
    ทั้งนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในการสนับสนุนการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนให้กับเด็กที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในรูปแบบห้องเรียนวิทยาศาสตร์ขึ้นในโรงเรียน 7 แห่ง ซึ่งเป็นเครือข่ายของมหาวิทยาลัยที่ร่วมโครงการทั้งสิ้น 6 แห่ง ตั้งแต่ปี 2551-2555 เป็นต้น


    ดร.พิเชษ ดุรงคเวโรจน์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า เนื่องจากปัจจุบันแวดวงธุรกิจสายงานการผลิตด้านอุตสาหกรรม ตลอดถึงสายงานด้านการบริการ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ ขนาดกลาง หรือแม้แต่ธุรกิจขนาดย่อม (SME) ต้องปรับตัวเองอย่างมากเพื่อให้อยู่รอด เนื่องจากค่าแรงของไทยสูงขึ้น บริษัทขนาดใหญ่ได้รับแรงกดดันจากการแข่งขันมากขึ้น ทำให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง โดยเน้นการทำกิจกรรมด้านองค์ความรู้ในหน่วยงานอย่างเข้มข้นมากขึ้น เพื่อการวิจัยและพัฒนาในการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพที่สูงขึ้น เน้นความแตกต่างของสินค้าและมีนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาสนับสนุนในการผลิต
   นอกจากนี้ ยังพบว่าการเชื่อมโยงระหว่างภาคอุดมศึกษาและหน่วยงานวิจัยของภาครัฐกับภาคอุตสาหกรรมนั้นยังมีความอ่อนแอ ส่งผลให้การทำวิจัยไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของสังคมในส่วนของภาคอุตสาหกรรมการผลิตและบริการได้ และปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ นิสิต นักศึกษาที่ได้รับทุนรัฐบาล ต้องมีภาระชดใช้ทุนหลังจบการศึกษา จึงไม่สามารถทำงานกับภาคอุตสาหกรรมได้ รัฐบาลจึงมีความจำเป็นในการออกมาตรการและนโยบายที่สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างเร่งด่วนเพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและเพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน  (Asean Economic Community) ในในปลายปี 2515  รวมถึงการเชื่อมโยงอย่างเป็นรูปธรรมระหว่างภาคอุดมศึกษาและภาคอุตสาหกรรม (UI links) นับเป็นการเตรียมความพร้อมของประเทศในด้านบุคลากรเพื่อรองรับการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของภาคการผลิต พร้อมกันนี้เพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อมในการดูดซับเทคโนโลยีจากบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่เข้ามาจัดตั้งหน่วยวิจัยและพัฒนาขึ้นในประเทศด้วย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) จึงได้จัดตั้งโครงการส่งเสริมบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการจัดการภาครัฐและสถาบันอุดมศึกษาไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันในภาคการผลิตและบริการ (Talent Mobility) ซึ่งในวันนี้ที่ (26 มีนาคม 2557) จะเปิดตัว โครงการ (Talent Mobility) และสัมมนาอย่างเป็นทางการขึ้น โดยในงานจะมีกิจกรรม Match – Making ขึ้น ซึ่งเป็นการจับคู่ระหว่างสถานประกอบการกับบุคลากรจากภาครัฐและสถาบันอุดมศึกษา ผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมงานฟรี ณ โรงแรมสุโกศล ห้องกมลทิพย์ 2 และ 3
     งานนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการยกระดับความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาในมิติใหม่ ที่จะขยายการใช้ประโยชน์จากบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เขียนข่าวโดย : นางสาวนีรนุช  ตามศักดิ์
ภาพข่าวโดย : นายรัฐพล หงสไกร
เผยแพร่ข่าวโดย : นางสาวชลธิชา แสงเทียนสุวรรณ
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สป.วท. 02-333-3732

 

 
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
» “กิติพงค์” ถอดรหัสประเทศไทย แนะนวัตกรรมแห่งอนาคตปูทางสู่ไทยแลนด์ 4.0
» กรมวิทยาศาสตร์บริการ ร่วมมือสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) พัฒนาและส่งเสริมการรับรองสมรรถนะของบุคคลสู่มาตรฐานสากล
» ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ พร้อมผู้บริหารฯ และข้าราชการ ร่วมพิธีลงนามถวายพระพร
» กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมทัพ 35 หน่วยงานรัฐ-เอกชน เดินหน้า “ประชารัฐร่วมใจยกระดับ โอทอป ด้วย วทน.”
» กระทรวงวิทย์ฯ แจงขีดความสามารถการแข่งขันไทยขึ้นอันดับ 28 สถิติการใช้เน็ตนำโด่งเล่นโซเชียลติดเกมส์ ห่วงแรงงานด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีขาดแคลน
» สทน. ลงนามความร่วมมือกับกรมวิชาการเกษตร ร่วมวิจัยพัฒนาแมลงวันผลไม้สายพันธุ์ใหม่ ใช้ลดปริมาณแมลงในพื้นที่เกษตรกรรม
» สทน. ลงนามความร่วมมือกับวินอะตอม เวียดนาม ร่วมวิจัยและสร้างมาตรการความปลอดภัยทางนิวเคลียร์
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป