กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวสารหน่วยงาน สินามิถล่มญี่ปุ่น ครบรอบ 3 ปี ปส. ยังเฝ้าระวังรังสีอย่างต่อเนื่อง

สินามิถล่มญี่ปุ่น ครบรอบ 3 ปี ปส. ยังเฝ้าระวังรังสีอย่างต่อเนื่อง

พิมพ์ PDF


             สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ  (ปส.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยังเฝ้าระวังการแพร่กระจายของสารรังสีในสิ่งแวดล้อม หลังผ่าน 3 ปี สึนามิถล่มประเทศญี่ปุ่น  โดยได้ทำการวัดรังสีในอาหารและสิ่งแวดล้อม  ผลปรากฏว่าระดับรังสีอยู่ในเกณฑ์ปกติ  ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถอ่านค่าปริมาณรังสีจากสถานีเฝ้าระวังภัยทางรังสีที่มีสถานีอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทยได้โดยผ่านเว็บไซต์ของสำนักงานฯ www.oaep.go.th
             นายสุพรรณ แสงทอง เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กล่าวว่า เป็นเวลา 3 ปีแล้ว นับตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2554 เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศญี่ปุ่น ส่งผลกระทบต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่นระเบิด และเหตุการณ์รั่วไหลของน้ำที่มีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี รั่วออกจากบริเวณถังเก็บภายในโรงไฟฟ้าฟูกูชิมา ไดอิชิ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2556  ส่งผลให้หลายประเทศต้องเพิ่มความระมัดระวังในการเฝ้าระวังรังสีในสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษ
              ปส. ได้ดำเนินการเฝ้าระวังรังสีในอาหารมาอย่างต่อเนื่องโดยร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจวัดการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีในอาหาร  เพื่อเป็นการย้ำความมั่นใจในการบริโภคอาหารนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ตัวอย่างอาหารนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่เหตุการณ์ปี 2554 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2557 จำนวน 988 ตัวอย่าง อาทิเช่น แป้งสาลี ปลาซาร์ดีน ชาเขียว ปลาแมคเคอเรว ปลาหมึก ไม่ปรากฏว่ามีการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีในอาหารเกินมาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข  เพื่อเป็นการเฝ้าระวังความปลอดภัยต่อไป ทาง อย. ยังคงส่งตัวอย่างอาหารมาวัดการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีอย่างต่อเนื่องจนกว่าเหตุการณ์รั่วไหลของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่ประเทศญี่ปุ่นจะเป็นปกติ
             นอกจากนี้ ปส. ได้วัดค่าปริมาณรังสีในสิ่งแวดล้อมจากสถานีเฝ้าระวังภัยทางรังสี ซึ่งติดตั้งกระจาย อยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย โดยผลปรากฏว่า ค่าปริมาณรังสีอยู่ในระดับปกติ อีกทั้งยังได้บูรณาการความร่วมมือกับกรมประมงและกรมควบคุมมลพิษ ดำเนินการสำรวจและเก็บตัวอย่างจากสิ่งแวดล้อมทางทะเล(ไทย) อาทิ น้ำทะเล และอาหารทะเล มาตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง พบว่า ค่าปริมาณรังสีอยู่ในระดับปกติ เช่นเดียวกัน
             นายสุพรรณ ฯ กล่าวต่อไปว่า ปส. มีมาตรการและดำเนินการเฝ้าระวังภัยจากรังสีเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ประชาชนไทยมาเป็นระยะเวลาหลายปีแล้ว รวมทั้งได้มีการพัฒนาระบบการเฝ้าระวังภัยฯ  อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน ปส. มีเครือข่ายสถานีเฝ้าระวังภัยทางรังสีในอากาศ จำนวน 12 สถานี ซึ่งติดตั้งครอบคลุมในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น อุบลราชธานี ปทุมธานี สงขลา กรุงเทพฯ ระนอง ตราด พะเยา ระยอง สกลนคร และกาญจนบุรี นอกจากนี้ ยังมีสถานีเฝ้าระวังภัยทางรังสีในน้ำ จำนวน 2 สถานี ได้แก่ ระยอง และภูเก็ต ซึ่งจะสนับสนุนให้การเฝ้าระวังภัยทางรังสีของประเทศไทยมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยในปี 2557 นี้ ปส. มีแผนขยายการติดตั้งสถานีเฝ้าระวังภัยฯ ทางอากาศเพิ่ม ใน 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย หนองคาย ภูเก็ต
             สถานีเฝ้าระวังภัยทางรังสีทั้งหมดนี้ จะทำหน้าที่ในการเฝ้าตรวจระดับรังสีแกมมาตลอด 24 ชั่วโมง และส่งข้อมูลที่เป็นปัจจุบันไปยังศูนย์เฝ้าระวังภัยทางรังสี ณ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ในทันที ซึ่งหากค่าระดับรังสีแกมมาที่ดำเนินการตรวจวัดมีค่าสูงผิดปกติ ก็จะมีการส่งสัญญาณเตือนมายังศูนย์เฝ้าระวังภัยทางรังสีแห่งชาติ โดยเจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบและประกาศมาตรการรองรับเพื่อให้ประชาชนและสิ่งแวดล้อมปลอดภัยจากอันตรายของรังสีต่อไป นอกจากนี้  เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลของสถานีเฝ้าระวังภัยทางรังสีนี้ได้ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้จัดให้มีการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวผ่านจอมอนิเตอร์ประชาสัมพันธ์ บริเวณหน้าสำนักงานฯ และบนเว็บไซต์ของสำนักงานฯ ที่ www.oaep.go.th ด้วย
             ทั้งนี้ ในอนาคตข้างหน้า ปส. จะเร่งผลักดันให้มีการติดตั้งเครือข่ายสถานีเฝ้าระวังภัยทางรังสีทั้งในอากาศ และในน้ำให้ครอบคลุมทั่วประเทศมากยิ่งขึ้น ขอให้ประชาชนในทุกภาคของประเทศไทย มั่นใจได้ว่า จะสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปลอดภัย โดยมีสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ  กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คอยเฝ้าระวังความปลอดภัยจากรังสีให้ท่านอยู่ตลอดเวลา นายสุพรรณ กล่าวในที่สุด
 

สถานีเฝ้าระวังภัยทางรังสีในอากาศ ณ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ บางเขน กรุงเทพฯ

 

สถานีเฝ้ารังวังภัยทางรังสี  

 


ภาพหัววัดรังสีใต้น้ำ  สถานีเฝ้าระวังภัยทางรังสีใต้น้ำ จ. ระยอง

 


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กลุ่มเฝ้าตรวจกัมมันตภาพรังสี สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ  โทร 0 2596 7600 ต่อ 1421
 

ผู้เผยแพร่ข่าว : นายปราโมทย์  ป้องสุธาธาร  กลุ่มงานประชาสัมพันธ์

 

 
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป