กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวสารหน่วยงาน การประชุมเชิงปฏิบัติการ การบูรณาการเพื่อนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สู่ภาคเหนือ

การประชุมเชิงปฏิบัติการ การบูรณาการเพื่อนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สู่ภาคเหนือ

พิมพ์ PDF

 

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การบูรณาการเพื่อนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สู่ภาคเหนือ” เพื่อหารือประเด็นความต้องการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของทางจังหวัด/กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน และบูรณาการการทำงานร่วมกันที่สอดคล้องและเหมาะสมกับความต้องการไปใช้ประโยชน์และพัฒนาพื้นที่ภาคเหนือตอนบน โดยมี ดร.พีรพันธุ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธาน ร่วมด้วย รศ.ดร. วีระพงศ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ หัวหน้าส่วนราชการและรองหัวหน้าส่วนราชการของจังหวัด และหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมประชุม ณ โรงแรมดิเอ็มเพรส จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556

 

 

     ดร.พีรพันธุ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการ “การบูรณาการเพื่อนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม สู่ภาคเหนือ” ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อหารือประเด็นความต้องการด้าน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ของทางจังหวัด/กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกัน ผ่านผู้บริหารวิทยาศาสตร์จังหวัดระดับสูง ตลอดจนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในแต่ล่ะจังหวัดและกลุ่มจังหวัดกลั่นกรองเป็นแผนงาน เป็นยุทธศาสตร์ของจังหวัด/กลุ่มจังหวัด ในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่สอดคล้องและเหมาะสมกับความต้องการไปใช้ประโยชน์และพัฒนาพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ซึ่งกระบวนการทำงานเชิงบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ร่วมกัน ระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับจังหวัด/กลุ่มจังหวัด อย่างเป็นทางการนั้น มีจุดเริ่มต้นจากบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับกระทรวงมหาดไทย เรื่อง“การพัฒนาจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ที่ทำร่วมกันไว้เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๒

 

     ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ กระทรวงมหาดไทยมีบทบาทในการมอบหมายให้รองผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ทำหน้าที่หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านบริหารจัดการ เป็นผู้บริหารวิทยาศาสตร์จังหวัดระดับสูง (Provincial Chief Science Officer: PCSO) การประสาน กำกับ ดูแลและติดตามงาน/แผนงานบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของแต่ล่ะจังหวัด และเชื่อมโยงหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อผลักดันนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ให้เกิดการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัด อย่างมีประสิทธิภาพ

 

     ในขณะที่บทบาทของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คือการมอบหมายสถาบันการศึกษาที่เป็นคลินิกเทคโนโลยีเครือข่ายในแต่ละจังหวัด ทำหน้าที่สนับสนุนงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ของจังหวัด การดำเนินกิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนและยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัด และการประสาน กำกับและติดตามแผนงานบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ผลักดันให้เกิดศูนย์ประสานงานกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำภูมิภาค หรือเรียกย่อๆ ว่า ศวภ. ขึ้น เพื่อทำหน้าที่เสมือนตัวแทนของกระทรวงฯ ในระดับภูมิภาค โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๔ และได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานประจำภูมิภาคขึ้นในระยะแรกนี้จำนวน ๔ ศูนย์ ได้แก่ ภูมิภาคภาคเหนือตอนบน (ศวภ.๑) ตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน (ศวภ.๒)ตั้งอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น ภาคใต้ (ศวภ.๓)ตั้งอยู่ที่จังหวัดสงขลา และภาคตะวันออก (ศวภ.๔) ตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี

     สำหรับ ศวภ.๑ นั้น ตั้งอยู่ชั้น ๔ อาคารวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี (อาคาร ๔๐ ปี) คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รับผิดชอบพื้นที่ครอบคลุม ๘ จังหวัดของภาคเหนือตอนบน ประกอบไปด้วยเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน พะเยา แพร่ น่าน แม่ฮ่องสอนและเชียงราย
การเกิดขึ้นของศูนย์ประสานงานกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำภูมิภาค และกิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติการ การบูรณาการ เพื่อนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สู่ภาคเหนือที่มีการดำเนินการในเช้านี้ ทราบจากการรายงานว่ามีหลายๆโครงการที่มีศักยภาพมีโอกาสที่หน่วยงานต่างๆของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะได้มาทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆในระดับจังหวัด จะทำให้การบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับจังหวัด/กลุ่มจังหวัด เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีความสะดวกและคล่องตัวมากขึ้น

     กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีความยินดีและพร้อมเป็นหน่วยงานสนับสนุน ในการทำงานร่วมกันกับท่านซึ่งเป็นเจ้าภาพในส่วนของจังหวัด/กลุ่มจังหวัด นำเอาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนไปใช้ประโยชน์ พัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัด ให้ประสบความสำเร็จตามแผนตามเป้าหมายที่วางไว้

     ด้าน รศ.ดร. วีระพงศ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า เนื่องจากท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีนโยบายในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ไปพัฒนาเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ สร้างรายได้คุณภาพชีวิตให้กับชุมชนในท้องถิ่น และนำความรู้สู่ประชาชน จึงจัดการประชุมเชิงปฎิบัติการบูรณาการ เพื่อนำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่ภาคเหนือนี้ขึ้นมาซึ่งเป็นการประชุมและกำหนดยุทธศาสตร์การบูรณาการ การทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เครือข่ายในพื้นที่ภาคเหนือและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัด ทั้ง 8 จังหวัดได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน น่าน พะเยา เชียงราย แพร่ ตลอดจนเป็นการประชาสัมพันธ์กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย

     จากการประชุมในช่วงเช้าของวันนี้ มีผู้เข้าร่วมการประชุมรวม 130 ราย สรุปประเด็นความต้องการวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม จากผู้แทนจังหวัดในกลุ่มต่างๆ โดยสังเขปดังนี้

1.    จังหวัดเชียงใหม่สนับสนุนโครงการ Food Valley เน้นอาหารปลอดภัย
2.    จังหวัดลำปางสนับสนุนนวัตกรรม อุตสาหกรรม เซรามิค เป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่ด้านพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานน้ำ พลังงานชีวมวลและการดูแลกลุ่ม OTOP
3.    จังหวัดเชียงรายสนับสนุนการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดี
4.    จังหวัดลำพูนสนับสนุนโครงการลำใย ด้านประสิทธิภาพภายใต้การผลิตและคุณภาพ
5.    จังหวัดแม่ฮ่องสอนสนับสนุนการแปรรูปเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร กาแฟถั่ว งา ขนแกะ
6.    จังหวัดน่านสนับสนุนการพัฒนาเครื่องเงิน
7.    จังหวัดแพร่สนับสนุนการแปรรูปเศษวัสดุที่เหลือจากไม้
8.    จังหวัดพะเยาสนับสนุนการแปรรูปเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร หอมแดง ลิ้นจี่ และวัสดุเหลือใช้จากข้าวโพด

     ซึ่งโจทย์ความต้องการจากการประชุมในครั้งนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะนำไปจับคู่กับกลไกที่มีของหน่วยงานในสังกัดประสานความร่วมมือมายังจังหวัดผ่านการทำงานของศวภ.1 และคลินิกเทคโนโลยีรวมทั้งพันธมิตรในพื้นที่ต่อไป

 

เขียนข่าว : นางสาวศิริลักษณ์ สิกขะบูรณะ

ถ่ายภาพ : นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์ และนายพิริยะ เผ่าพงษา

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร. 02 333 3700 ต่อ 3728 - 3732

 

 
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป