กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวสารหน่วยงาน กระทรวงวิทย์ฯ เร่งสร้างความตระหนักประชาชนกลุ่มเสี่ยงสู้ไข้เลือดออก

กระทรวงวิทย์ฯ เร่งสร้างความตระหนักประชาชนกลุ่มเสี่ยงสู้ไข้เลือดออก

พิมพ์ PDF

          ดร.พีระพันธุ์  พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มอบให้ที่ปรึกษาฯ นายอิศรา  โพธิศิริ ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จัดอบรม เรื่อง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการป้องกันไข้เลือดออก ให้กับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงโรคไข้เลือดออก ในเขตอำเภอเมือง และอำเภอทรายมูล จังหวัดยโสธร ให้ตระหนักและตื่นตัวในการป้องกันตนเองจากโรคไข้เลือดออก พร้อมทั้งนำมุ้งนาโน ผลงานวิจัยของสำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มอบให้กับผู้รับการอบรมเพื่อนำไปใช้ป้องกันโรคไข้เลือดออก โดยมี นายปิยวัฒน์  พันธ์สายเชื้อ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยโสธร ร่วมในพิธีเปิดฯ และ นายณัฐพากย์  นิธิยานันท์ ที่ปรึกษาเทคโนโลยี สวทช. เครือข่ายมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นวิทยากร มีประชาชนกลุ่มเสี่ยงเข้าร่วมอบรม 730 คน ณ ห้องประชุมโรงแรม เจ.พี.เอ็มเมอรัลด์ อ.เมือง จ.ยโสธร เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2556    


          นายอิศรา  โพธิศิริ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย ศูนย์ประสานงานกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำภูมิภาคในส่วนกลาง  ได้จัดอบรมให้ความรู้ พร้อมทั้งนำมุ้งนาโน  ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ  กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  มามอบให้กับชาวอำเภอเมือง และอำเภอทรายมูล จังหวัดยโสธร  ในวันนี้ จะช่วยให้ชาวอำเภอเมือง และอำเภอทรายมูล นำไปใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และให้เห็นว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นสิ่งใกล้ตัว จับต้องได้


          ด้าน นายณัฐพากย์  นิธิยานันท์  ที่ปรึกษาเทคโนโลยี สวทช. เครือข่ายมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า ไข้เลือดออกเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกๆ ปี และด้วยอัตราการเสียชีวิตจากไข้เลือดออกที่มียุงลายเป็นพาหะมีอัตราสูงขึ้น ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้  ในปีนี้มีผู้ป่วยไข้เลือดออกเกือบแสนคน และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 94 ราย ดังนั้น กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จึงได้คิดค้นผลิตภัณฑ์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายุงลาย โดยมี 2 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ มุ้งนาโน และแบคทีเรียกำจัดลูกน้ำยุงลาย เป็นการพัฒนาจากสารชีวภัณฑ์ โดยเลือกใช้แบคทีเรียที่เป็นศัตรูทางธรรมชาติของลูกน้ำ เมื่อนำไปเทใส่ในน้ำและยุงกินแบคทีเรียนี้เข้าไป แบคทีเรียจะสร้างโปรตีนที่เป็นพิษและทำลายกระเพาะของยุง ทำให้ยุงตายภายใน 24 ชั่วโมง ส่วนแบคทีเรียยังสามารถอยู่ในน้ำได้นานหลายสัปดาห์ ไม่เป็นพิษต่อสัตว์ คน และสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญคือสามารถทนแดดได้  สำหรับมุ้งนาโน มีคุณสมบัติไล่และฆ่ายุงคุณภาพสูง เป็นมุ้งที่เคลือบด้วยสารนาโนที่เลียนแบบสารสกัดธรรมชาติ เช่น ดอกดาวเรือง ดอกเก๊กฮวย โดยสารสังเคราะห์นี้จะซึมผ่านประสาทสัมผัสของยุง ทำให้ยุงช็อคภายใน 6 วินาที และตายในที่สุด แต่เมื่อยุงได้กลิ่นสารนาโนที่อยู่ในมุ้งยุงก็จะบินหนี สารที่เคลือบมีความปลอดภัยต่อมนุษย์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีอายุการใช้งานนาน สามารถซักทำความสะอาดได้มากกว่า 30 ครั้ง


          ทั้งนี้ ข้อมูลจาก สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี รายงานภาพรวมของสถานการณ์ไข้เลือดออกในประเทศไทยทั้งประเทศ ตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 9 ก.ค.56  มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสมรวม 67,889 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 105.95 ต่อแสนประชากร เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันปี 2555 ร้อยละ 218.9 หรือ 3.2 เท่า กลุ่มอายุที่พบว่าป่วยมากที่สุดคือ 15-24 ปี ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มนักเรียนเสียชีวิต 71 ราย และ กลุ่มอายุที่เสียชีวิตมากที่สุดอยู่ระหว่าง 15-24 ปี ส่วนจังหวัดที่ยังพบผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง คือ จังหวัดอุบลราชธานี นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และจังหวัดยโสธร  และจากข้อมูลของสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทย ปี 2556 จำนวนผู้ป่วย 115,840 ราย จำนวนผู้ป่วยตาย 107 ราย  อัตราป่วยต่อแสนประชากร 180.25 อัตราตายต่อแสนประชากร 0.17 อัตราป่วยตาย (ร้อยละ) 0.09 ณ วันที่ 3 กันยายน 2556
 

 



ผู้เขียนข่าว / ถ่ายภาพ : นายปราโมทย์  ป้องสุธาธาร  กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ
 

 
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป