กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวสารหน่วยงาน กระทรวงวิทย์ฯ นำผลงานวิจัยสู่ประชาชนสู้ไข้เลือดออก

กระทรวงวิทย์ฯ นำผลงานวิจัยสู่ประชาชนสู้ไข้เลือดออก

พิมพ์ PDF

        ดร.พีระพันธุ์  พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มอบให้ที่ปรึกษาฯ นายอิศรา  โพธิศิริ และนายนฤกุล  มนาปี  ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จัดอบรม เรื่อง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการป้องกันไข้เลือดออก ให้กับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงโรคไข้เลือดออก ในเขตอำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร ให้ตระหนักและตื่นตัวในการป้องกันตนเองจากโรคไข้เลือดออก พร้อมทั้งนำมุ้งนาโน และจุลินทรีย์กำจัดลูกน้ำยุงลาย ผลงานวิจัยของสำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มอบให้กับผู้รับการอบรมเพื่อนำไปใช้ป้องกันโรคไข้เลือดออก โดยมี นายพิจิตร  บุญทัน  นายอำเภอเลิงนกทา, นายสุชาติ  ไชยสัจ  สาธารณสุขอำเภอเลิงนกทา และ ดร.สัญชัย  เอกธวัชชัย นักวิจัย จาก สวทช. ร่วมในพิธีเปิดฯ มีประชาชนกลุ่มเสี่ยงเข้าร่วมอบรม 300 คน ณ ห้องประชุมอำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2556


        นายอิศรา  โพธิศิริ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย ศูนย์ประสานงานกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำภูมิภาคในส่วนกลาง  ได้จัดอบรมให้ความรู้ พร้อมทั้งนำมุ้งนาโน  ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ  กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  มามอบให้กับชาวอำเภอเลิงนกทา  ในวันนี้ จะช่วยให้ชาวเลิงนกทานำไปใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และให้เห็นว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นสิ่งใกล้ตัว จับต้องได้


        ดร.สัญชัย  เอกธวัชชัย  นักวิจัย จาก สวทช. กล่าวว่า จำนวนคนไข้ที่เป็นไข้เลือดออกในบ้านเราก็เป็นแสนแล้ว และเสียชีวิตไปหลายร้อยคนแล้ว ปีนี้การระบาดมีเพิ่มมากขึ้น จังหวัดใกล้เคียงก็มีการระบาด สมัยก่อนเราคิดว่าไข้เลือดออกเป็นเฉพาะเด็ก แต่ปัจจุบันเด็กโต หรือผู้ใหญ่ก็เป็นไข้เลือดออก ไข้เลือดออกเกิดจากเราถูกยุงลายกัด ซึ่งยุงลายหากินในช่วงกลางวัน โดยเฉพาะเด็กๆ ที่นอนกลางวันโดยไม่ได้กางมุ้ง แล้วถูกยุงกัด และเชื้อจะฝักตัวอยู่ในรางกายคนเราประมาณ 1 สัปดาห์ จะเริ่มมีไข้  ไข้เลือดออกไม่มียารักษาโดยตรง บางคนเป็นแล้วเสียชีวิต บางคนไม่เสียชีวิต ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของร่างกายคน เด็กๆ ความแข็งแรงน้อยกว่าผู้ใหญ่ก็มีโอกาสเป็นไข้เลือดออกมากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากไข้เลือดออกไม่มียารักษา ทางที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้ยุงกัด อาจจะใช้วิธีกางมุ้ง หรือสมัยก่อนก็จุดยากันยุงไล่ หรือแทนที่จะกำจัดยุงก็ไปกำจัดลูกน้ำเป็นการกำจัดยุงทางอ้อม จากตัวเลขคนเป็นไข้เลือดออกปีที่ผ่านมามีเพียง 2 หมื่นกว่าคน ปีนี้ 7 หมื่นคนแล้ว และอัตราการเสียชีวิตในปีนี้ก็สูงขึ้นด้วย ปีที่แล้ว 30 กว่าคน ปีนี้ 100 กว่าแล้ว คนที่เป็นไข้เลือดออกจะเริ่มจากมีไข้ และเป็นจ้ำๆ ตามตัว การรักษาก็จะรักษาตามอาการ
        งานวิจัยช่วยอะไรตรงนี้ได้ ที่ผ่านมารัฐมนตรี พีระพันธุ์ ก็ได้นำจุลินทรีย์ฆ่าลูกน้ำยุงลายไปแจก ครั้งนี้ก็มาแจกทางอำเภอเลิงนกทา เป็นจุลินทรีย์ที่สามารถฆ่าลูกน้ำยุงลายได้ โดยนำจุลินทรีย์ไปใส่แทนทรายอะเบท เป็นจุลินทรีย์ที่มีความปลอดภัยค่อนข้างสูง สามารถฆ่าลูกน้ำยุงให้ตายได้ภายใน 24 ชั่วโมง จะเป็นการลดปริมาณยุงลงได้ในระดับหนึ่ง และใช้มุ้งนาโน เป็นมุ้งที่เคลือบสารนาโนกำจัดยุง ถ้ายุงมาเกาะภายใน 6 วินาที ยุงก็จะตาย มุ้งนาโนนี้ผ่านการพิสูจน์จากหน่วยงานทางด้านสาธารณสุขและกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ แล้วว่าปลอดภัยสำหรับคนและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ นอกจากนี้ยังเคลือบสารที่ทำให้มุ้งคงทนอยู่ได้นานขั้นต่ำ 3 ปี  ประสิทธิภาพในการฆ่ายุง ถ้าซักไป 30 ครั้ง ก็ยังสามารถฆ่ายุงได้


        ด้าน นายสุชาติ  ไชยสัจ  สาธารณสุขอำเภอเลิงนกทา เปิดเผยว่า อำเภอเลิงนกทา มี 15,000 กว่าหลังคาเรือน 10 ตำบล  ประชากร 97,000 คน มีไข้เลือดออกระบาดมากอยู่ 3 ตำบล ได้แก่ ต.ศรีแก้ว ต.สามัคคี และ ต.หนองแซง ปัจจุบันทั่วประเทศมีผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก 7 หมื่นคนเศษ (ณ 25 สิงหาคม 2556) อำเภอเลิงนกทา 600 กว่าคน และในจังหวัดยโสธร พึ่งเสียชีวิตไป 1 คน ไข้เลือดออก เกิดจากยุงลายมากัด ซึ่งยุงลายหากินอยู่ภายในบ้านเรือนคน ยุงลายจะไข่ใส่ในน้ำสะอาดที่ขังอยู่นิ่งๆ โดยยุงลาย 1 ตัว สามารถไข่ได้ประมาณ 500 ฟอง และจะเป็นยุงลายตัวเมีย 250 ตัว ตัวผู้ 250 ตัว ตัวผู้จะหากินน้ำหวานดอกไม้ ตัวเมียกัดคนกินเลือดคนเอาเลือดไปฝักไข่ ภายใน 1 เดือนยุงจะเพิ่มจำนวนเป็น 5 ล้านตัว ถ้ามียุงมากก็จะทวีจำนวนมากขึ้นอย่างมหาศาล จากสถิติเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนสิงหาคม มีคนไข้ในอำเภอเลิงนกทา 176 คน ยังไม่มีผู้เสียชีวิต ทุกคนมีสิทธิ์เป็นไข้เลือดออกได้ เพราะเราไม่รู้ว่ายุงตัวไหนมีเชื้อ เมื่อมีไข้แนะนำให้ไปพบแพทย์ หากอยู่ไกลเกินกว่าจะไปพบแพทย์ให้ไปพบ อสม. ซึ่ง ดร.พีระพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ให้งบประมาณมาอบรม อสม. เชี่ยวชาญ ไปเมื่อ 2-3 เดือนก่อน ขอให้ประชาชนดูแลตัวเองอย่าให้ยุงกัด กางมุ้งนอนในตอนกลางวัน เพราะยุงลายกัดคนในเวลากลางวัน และไม่อยากให้เป็นไข้เลือดออก ต้องไม่ให้มีลูกน้ำ อย่าให้มียุง จะไม่มีไข้เลือดออก ยุงจะตายภายใน 30 วัน ทำความสะอาดบ้านเรือนอย่าให้มีน้ำขัง

 

 



ผู้เขียนข่าว / ถ่ายภาพ : นายปราโมทย์  ป้องสุธาธาร  กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ
 

 
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป